ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบการศึกษาไทย ยังมีอีกหลายความท้าทายรออยู่  (อ่าน 1133 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
ระบบการศึกษาไทยมีความท้าทายรออยู่อีกเยอะ ในเมื่อรัฐบาลไทยสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ แต่ผลประเมินที่ได้กลับสวนทาง เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการศึกษาหรือเปล่า? จำนวนนักเรียนที่ลดลงเพราะการเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์ แหล่งความรู้ที่มีคุณภาพกับหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคตจนถึงระบบคัดเลือกเข้าทำงานในองค์กรที่มักพิจารณาจากวุฒิการศึกษาหรือชื่อเสียงของสถาบันเรื่องเหล่านี้ทำให้ผู้เรียนส่วนใหญ่เกิดความกดดันและดิ้นรนมากขึ้นเพื่ออนาคตที่ดีกว่าจริงหรือไม่?

จะว่าไป ?การศึกษา? ก็คล้ายกับการปลูกต้นกล้ากว่าจะรอผลิดอกออกผลก็ต้องใช้เวลาบ่มเกือบ 20 ปี ระยะทางกว่าจะเห็นผลผลิตจำเป็นจะต้องผ่านการดูแลที่เหมาะสม ทั้งน้ำ ปุ๋ย และแสงแดด แต่ใช่ว่าต้นกล้าทุกต้นจะเป็นพันธุ์ดีเหมือนกันสะเมื่อไหร่ ดังนั้นผู้ปลูกจึงต้องดูแลใส่ใจและเฝ้ามองความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน มากไปกว่านั้น อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เข้ามามีผลกระทบก็คงต้องถูกเอามาพิจารณาด้วยเพราะ ?การปลูกต้นกล้า? อาจต่างจาก ?การปลูกคน? ตรงที่ไม่ได้แค่ต้องการแต่ความสวยงามให้ชื่นชมเท่านั้นแต่คนจำเป็นต้องมี ?คุณภาพ? และมีทักษะที่พร้อมมาก ๆ สำหรับการนำไปใช้ได้จริงหลักการจึงไม่ได้เฝ้าแต่ทะนุถนอมและให้น้ำให้ปุ๋ยตามสมควร แต่จำเป็นต้องสอนให้ต้นคนรู้จักวิธีการนำไปใช้ แก้ปัญหา และรู้ไว้ว่าการกระทำของตัวเองมีผลกระทบกับเรื่องรอบตัวเพียงใด

งบประมาณการศึกษาที่เพิ่มขึ้นแต่ผลการศึกษาไทยกลับสวนทาง
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของประเทศไทยอย่างมากเห็นได้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรสูงสุดในงบประมาณแผ่นดินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2542 -2563 ซึ่งยาวนานมามากว่า 10 ปี เท่านั้นยังไม่พอรัฐบาลยังมีความตั้งใจในการพัฒนาบุคลากรไทย ให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้นในด้านของ STEAM ที่เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการระหว่าง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์ แต่กลับกันในปีพ.ศ. 2561 ผลคะแนน PISA (Program for International Student Assesment) ของไทยนั้นไม่ติด 1 ใน 50 จาก 79 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมการประเมินโปรแกรมนี้

แล้วปัญหาของการศึกษาไทยอยู่ตรงจุดไหนกันแน่?
อ่านมาถึงจุดนี้คุณคงคิดแล้วว่าระบบการศึกษาไทยมีความท้าทายรออยู่อีกเยอะ ในเมื่อรัฐบาลไทยสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่แต่ผลประเมินที่ได้มานั้นกลับสวนทาง ปัญหานั้นเกิดจากความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาหรือเปล่า? แหล่งความรู้ที่มีคุณภาพกับจำนวนนักเรียนที่เริ่มลดลงเพราะการเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์ หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคต คุณภาพของผู้สอน จนถึงระบบการคัดเลือกเข้าทำงานในองค์กรที่มักจะพิจารณาจากวุฒิการศึกษา หรือชื่อเสียงของสถาบันที่จบการศึกษา เรื่องเหล่านี้ทำให้ผู้เรียนส่วนใหญ่เกิดความกดดัน และต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นเด็กที่อยู่ในกลุ่มด้อยโอกาส-พิการในปี พ.ศ. 2561 ยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 49 จากจำนวนนักเรียนทั่วประเทศ ปัจจุบันจึงทำให้รัฐบาลไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงสตาร์ทอัพด้านการศึกษา เพื่อผลักดันในการจัดตั้งเครือข่ายการศึกษาและเพิ่มแหล่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่มากขึ้น สร้างทางเลือกในการศึกษาให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งการเรียนรู้โฮมสคูล (Home school) การออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Personalized Learning) หรือการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality)

การเข้าถึงความรู้และแหล่งการเรียนรู้ของไทยน้อยไปหรือเปล่า?
แม้คนไทยใช้เวลาไปกับการอ่านมากขึ้นแต่ในปีพ.ศ. 2563 แต่สำนักสถิติแห่งชาติได้ระบุไว้ว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงความบันเทิงและการสื่อสารทางไกลเป็นหลักมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารหรือหาความรู้เพียง 31.6% และใช้เพื่อเรียนรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์เพียงร้อยละ 7.4 เท่านั้น นอกจากนี้แหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างห้องสมุดเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วไทยมีน้อยกว่าฟินแลนด์ที่มีความเท่าเทียมทางการศึกษามากที่สุดในโลกถึง 9 เท่า ส่วนพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้มากที่สุดในโลกจำนวน 35,144 แห่ง ซึ่งประเทศไทยยังมีน้อยกว่าถึง 23 เท่า

การพัฒนาอาชีพที่ไม่ตอบโจทย์ทักษะแห่งอนาคต
หันมาที่สถานการณ์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทยแม้ว่าคนไทยจะได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพให้กับทุกช่วงวัยแต่รูปแบบการพัฒนาฝีมือนั้นก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดแรงงานคุณภาพหรือการสนับสนุนที่ไม่ชัดเจนจนสามารถสร้างอาชีพจากองค์ความรู้ที่มีได้ แต่กลับมุ่งเน้นไปทางการเรียนรู้เชิงเทคนิคเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันเป็นหลักมากกว่า ซึ่งไม่ได้เป็นการส่งเสริมทักษะแห่งอนาคตอย่างแท้จริง นอกจากนี้ข้อมูลวิจัยสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่ากลุ่มแรงงานช่วงอายุต่ำกว่า 38 ปี มีประมาณร้อยละ 60 ที่ทำงานไม่ตรงสาขาที่จบมาและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ

ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาเกิดขึ้นได้ในทุกหย่อมหญ้า
แม้ภาคเอกชนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลักสูตร โครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่สามารถติดตามผลการเรียนรู้ได้ เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการขององค์กร แต่ส่วนมากการพัฒนาบุคลากรนั้นจะเกิดขึ้นแต่องค์กรขนาดใหญ่ ส่วนองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นยังมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ โครงสร้าง และยิ่งในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ยิ่งทำให้องค์กรเหล่านี้มีการลดต้นทุน ส่งผลให้แรงงานในประเทศไทยนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะขาดการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นแรงงานที่ขาดทักษะที่จำเป็นแห่งโลกอนาคต ซึ่งผลลัพธ์นี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทยเราในที่สุด

ผลักดันและร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย
ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะเป็นไปในทิศทางไหนพวกเราทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยเช่นกัน ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญเราควรที่จะช่วยกันผลักดันในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการศึกษา และเพิ่มแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้เปิดกว้างให้ประชากรในประเทศได้เข้าถึงทักษะแห่งอนาคตได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์และสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย


ขอขอบคุณข้อมูลจากโครงการวิจัยคาดการณ์อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ.2573 ?Futures and Beyond: Navigating Thailand toward 2030?  FutureTales LAB by MQDC และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA : National Innovation Agency, Thailand
Future of Learning - อนาคตของการเรียนรู้: http://online.anyflip.com/fuvvc/utuw/mobile/index.html

ที่มา : https://www.aksorn.com/thai-education