ผู้เขียน หัวข้อ: โควิด-19 กับการถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน  (อ่าน 1230 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
ในปี 2564 หลังเทศกาลสงกรานต์ที่สุดแสนจะเงียบเหงาของประเทศไทย ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ทวีความรุนแรงขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธ์ุอัลฟาและเดลต้า จนส่งผลให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มีเพิ่มขึ้นตามมติของ ศบค.ในช่วงเดือนสิงหาคมจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด นอกจากเลื่อนการเปิดเรียนแล้วยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศให้งดการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมในรูปแบบ Onsite โดยให้จัดการเรียนรู้ได้เฉพาะการศึกษาทางไกล คือ แบบ On Air , Online, On Demand หรือ On Hand (ผ่านทางไปรษณีย์) เท่านั้น  แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นจนพุ่งทะลุกว่า 20,000 คนต่อวัน ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายและดีขึ้นเมื่อใด โรงเรียนในเขตพื้นที่สีแดงเข้มจะสามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบ Onsite ได้ภายในภาคการศึกษาหน้าหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่านักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข็มจะไม่ได้ไปโรงเรียนตลอดภาคการศึกษาที่ 1/2564 อย่างแน่นอน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ หัวข้อ ?โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา?? ซึ่งมีประเด็นสำคัญว่า ที่ผ่านมาโควิดทำให้เรามีการปิดโรงเรียนแล้วสองรอบ คิดเป็นระยะเวลารวมประมาณ 90 วัน หรือร้อยละ 40 จากจำนวนวันเรียนที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 200 วันในหนึ่งปี  ซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดภาวะความถดถอยในการเรียนรู้ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่ง ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ยังเห็นเสริมด้วยว่า การปิดเรียนยังซ้ำเติมปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ที่มีอยู่เดิมของระบบการศึกษาไทย และทำให้เด็กนอกระบบมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นด้วย

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education และประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม (เครือข่าย TSQP) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ (Learning box) และกิจกรรมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ (Makerspace) ในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ได้ยกตัวอย่างการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านปลาดาว ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตของมูลนิธิฯ และได้พยายามแก้ไขปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเรียน โดยกำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านผ่านการใช้สื่อการสอนในรูปแบบ เทคโนโลยี และกล่องการเรียนรู้ พร้อมทั้งยังสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองหรืออาสาสมัครชุมชนเพื่อเข้าช่วยเหลือดูแลนักเรียน แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เข้มข้นเหมือนกับที่ครูจัดในห้องเรียน เนื่องจากจำเป็นต้องปรับกิจกรรมต่างๆ ให้มีความซับซ้อนน้อยลง เพราะผู้ปกครองและอาสาสมัครชุมชนนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลวิธีในการจัดการเรียนรู้ (Pedagogy) เหมือนกับคุณครู รวมทั้งเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือมีฐานะยากจนก็ยังขาดความพร้อมในการเข้าถึงอุปกรณ์ สื่อการสอน และแหล่งข้อมูลเพื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์ นอกจากนี้ ครูยังต้องปรับวิธีที่ใช้ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ใหม่ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อครูและเด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเดียวกัน

ในงานสัมนาวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 6 หัวข้อ ?คุณภาพของการศึกษาและความสามารถพลิกฟื้นจากวิกฤติ: ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นของจีน? ดร.นรรธพร ได้กล่าวถึงแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นผ่านการเรียนการสอนทางไกลในสภาวะวิกฤตโดยคำนึงถึงความหลากหลายของผู้เรียน รวมทั้งอาจจะช่วยชลอและลดความรุนแรงของปัญหาการถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนี้

การประเมินบริบทของโรงเรียน ประกอบด้วย การประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของครูและผู้เรียนในการเรียนการสอนทางไกลในสภาวะวิกฤต ข้อมูลประชากรและความต้องการพื้นฐาน รวมทั้งปัจจัยด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ

การวางแผนเพื่อการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของบุคลากรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การกำหนดระยะเวลา มาตราการในการดำเนินงาน ทรัพยากรและงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการดำเนินกิจกรรมสำหรับจัดการเรียนการสอนทางไกลในสภาวะวิกฤต

การพัฒนาวิชาชีพ และการสนับสนุนการทำงานของครู ประกอบด้วย การอบรมเพื่อให้ความรู้และพัฒนาทักษะของครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อการลดช่องว่างของความสามารถ การปรับหลักสูตร และรูปแบบในการปฏิบัติการสอนให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ การกำหนดชุดเครื่องมือเพื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม รวมทั้งการสนับสนุนด้านสุขภาวะกาย และจิตของครูและผู้เรียน

การหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ และการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริมทักษะแห่งอนาคตประกอบด้วย กิจกรรม และคู่มือเพื่อการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย การกำหนดแนวทางเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล การสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองหรือครูอาสาในพื้นที่ โดยครูผู้สอนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการออกแบบนวัตกรรม เครื่องมือและวิธีในการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผู้เรียน รวมทั้งจัดทำบันทึกหลังการสอนเพื่อสะท้อนผลที่เกิดจากการเรียนรู้และประเมินคุณภาพของเครื่องมือและสื่อการสอนที่ใช้หลังจบบทเรียน

การติดตามเพื่อพัฒนา ประเมินความก้าวหน้า และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นรวมกัน ประกอบด้วย การกำหนดวิธีในการติดตามผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การถอดบทเรียนที่ได้จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและบันทึกหลังการสอน เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มครูทั้งในระดับโรงเรียนและระดับเครือข่ายในเขตพื้นที่การศึกษา

สำหรับการนำสื่อการสอน และเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อชลอ และลดความรุนแรงของปัญหาการถดถอยในการเรียนรู้นั้น ยังคงมีความท้าทายที่น่าสนใจในประเด็นต่างๆ เช่น ความเสมอภาคของผู้เรียนในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ปัญหาในการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ปัญหาในการพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม รวมถึงความเครียดของครู เด็ก และผู้ปกครอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา การจัดการเรียนรู้ทางไกลผ่านการใช้เทคโนโลยีและสื่อแบบ Online ก็ยังไม่สามารถแทนที่การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างแน่นอน และหลังจากที่สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย (ซึ่งผมก็แอบหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะเกิดขึ้นในเวลาอันไม่ไกลมากนัก) เมื่อเด็กๆ ได้รับวัคซีนหรือการป้องกันที่มีประสิทธิภาพจนสามารถกลับมาเรียนรู้กับคุณครูในห้องเรียนได้อีกครั้ง แม้ว่าอาจจะยังไม่เป็นปกติเหมือนกับในอดีต 100% ก็ตาม ผู้บริหารและฝ่ายวิชาการของโรงเรียนคงจะต้องให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อวินิจฉัยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาความรู้ที่หายไปของผู้เรียนแต่ละคนมีความรุนแรงมากน้อยขนาดไหน เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือด้านการสอนเสริมหรือปรับพื้นฐานของผู้เรียนเพื่อให้มีความเหมาะสมและพร้อมที่จะต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นได้ต่อไป

แหล่งข้อมูลและการอ้างอิง

บทความ เรื่อง เด็กเล็กรับกรรม ปิดเทอมยาว ?เรียนรู้ถดถอย? ขอครู ยอมเหนื่อยชดเชยเวลาเรียน โดย The Active เข้าถึงได้จาก theactive.net/news/20210608/

บทความ เรื่อง กสศ. เผยผลวิจัยปิดเรียน 4 เดือนเกิดภาวะเรียนรู้ถดถอย แนะรัฐออกนโยบาย ?โรงเรียนชนะ? เข้าถึงได้จาก workpointtoday.com/equity-forum-2901/

การถ่ายทดสอด งานสัมนาวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 6 หัวข้อ ?คุณภาพของการศึกษาและความสามารถพลิกฟื้นจากวิกฤติ: ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นของจีน เข้าถึงได้จาก www.facebook.com/EEFInterForums/videos/3701414240083242

บทความ เรื่อง เอฟเฟกต์โควิดเขย่าการศึกษา เพิ่มแรงถดถอยการเรียนรู้ โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เข้าถึงได้จาก www.eef.or.th/article-effects-of-covid-19/

บทความ เรื่อง Tackle Learning Loss with the Science of Reading โดย Carnegie Learning, Inc เข้าถึงได้จาก www.carnegielearning.com/blog/learning-loss-science-of-reading/

บทความ เรื่อง The Covid-19 Slide and what it could mean for student achievement เข้าถึงได้จาก ednote.ecs.org/the-covid-19-slide-and-what-it-could-mean-for-student-achievement/ 

บทความ เรื่อง Is the COVID-19 slide in education real? เข้าถึงได้จาก  blogs.worldbank.org/education/covid-19-slide-education-real


ที่มา  : https://www.starfishlabz.com/blog/