ผู้เขียน หัวข้อ: Microlearning เทรนด์การเรียนรู้ใหม่ของโลกยุคปัจจุบัน  (อ่าน 1485 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
        Microlearning คือการเรียนรู้ที่เป็นการแยกย่อยเนื้อหาและนำเสนอให้กับผู้เรียนแบบทีละน้อย ซึ่งช่วยทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและส่งผลต่อเนื่องทำให้ผู้เรียนมีความมุ่งมั่นในการเรียนเพิ่มขึ้นจากการที่เรียนรู้ในเนื้อหาที่ไม่มากจนเกินไป ซึ่งถ้าจะอธิบายถึงเรื่องของ Microlearning ให้เห็นภาพมากที่สุด คงต้องสมมุติให้เนื้อหาในการเรียนรู้นั้น คือเค้กก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ที่แม้จะอร่อยแค่ไหน ถ้าต้องทานทั้งก้อนในคราวเดียวนั้น คงเป็นเรื่องที่ยากและลำบากมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดพอดีคำ เพื่อให้สามารถทานได้ง่ายและไม่รู้สึกว่ามากเกินไป จนท้ายที่สุด กว่าที่จะทันรู้ตัวเค้กก้อนใหญ่ตรงหน้าก็อันตรธานหายไปแล้ว ซึ่งการตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ นั้น คือรูปแบบของการเรียนรู้ในลักษณะของ Microlearning
 
        ซึ่งความจริงแล้ว เรื่องของ Microlearning นั้น ไม่ใช่ไอเดียทางการศึกษาใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นรูปแบบการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในการวางแผนการอบรมสัมมนาต่าง ๆ ซึ่งการเรียนรู้รูปแบบนี้ ช่วยให้ผู้เข้าอบรมสัมมนาสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและได้รับความรู้ที่เหมาะสมอย่างครบถ้วน  โดยถ้าเทียบกับการอบรมสัมมนาที่ใส่เนื้อหาเต็ม ๆ แล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนาอาจเรียนรู้ได้น้อยกว่าและบางส่วนจะรู้สึกขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เนื่องจากเนื้อหาที่ยากและมากจนเกินไป

        สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบ Microlearning นั้น อันดับแรกควรคำนึงในเรื่องของจุดประสงค์การเรียนรู้ คือควรจะมีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ชัดเจนเพียงหนึ่งหรือสองข้อเท่านั้น โดยต้องผลิตสื่อการเรียนรู้ หรือ การออกแบบแผนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในรูปแบบ Microlearning เช่น อาจใช้การสาธิตสำหรับเนื้อหาที่ต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน หรือ อาจใช้สถานการณ์จำลองในการอธิบายสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นต้นเพื่อให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมในเวลาห้าถึงเจ็ดนาที

 

        นอกจากนี้ในการนำเสนอเนื้อหากับผู้เรียนนั้น จะต้องทำให้เข้าใจได้ง่าย เหมาะสมกับวัยและบริบทของผู้เรียน รวมถึงสามารถดึงดูดให้ผู้เรียนสนใจได้ และควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตอบสนองกับบทเรียน โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือมีคำถาม ถามผู้เรียนหลังจากที่ผ่านการเรียนรู้แล้ว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างของการเรียนรู้แบบ Microlearning ที่พบเห็นกันได้โดยทั่วไปได้แก่

        - ครูผู้สอนจัดทำคลิปวีดีโอสั้น ๆ ในแต่ละส่วนของเนื้อหา เพื่อให้นักเรียนรับชม และตอบคำถามครูผู้สอนหลังจากที่รับชมแล้ว
        - ครูผู้สอนจัดทำบทความ หรือบทสรุปสั้น ๆ ให้นักเรียนอ่านและทำความเข้าใจ โดยมีบทสอบให้นักเรียนได้ทำหลังจากอ่านบทความแล้วพร้อมเฉลย
        - ครูผู้สอนจัดทำบัตรภาพหรือบัตรคำส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โดยสรุปจากเนื้อหาทั้งหมดหรือทีละส่วน และส่งให้นักเรียนศึกษาและทำความเข้าใจ     

        Microlearning นอกจากจะได้รับความนิยมในการออกแบบแผนการอบรมต่าง ๆ แล้ว ในปัจจุบัน ด้วยความเติบโตของระบบ E-Learning ทำให้เรื่องของ Microlearning ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางสำคัญในการออกแบบสื่อการเรียนรู้ออนไลน์อีกด้วย เพราะแทนที่จะใส่เนื้อหาทั้งหมดลงในคลิปวีดีโอเดียว การแบ่งและแยกย่อยเนื้อหาเป็นหลาย ๆ คลิปวีดีโอ กลับส่งผลให้ผู้เรียนนั้นมีแนวโน้มที่จะสนใจการเรียนรู้และจดจำบทเรียนได้มากกว่า

        สิ่งนี้แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ในยุคที่การติดต่อสื่อสารมีความรวดเร็วผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน ๆ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การศึกษาแบบ Microlearning นั้นส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดีกว่า การเรียนรู้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น ตามวารสาร Journal of Applied Psychology ได้แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้แบบ Microlearning นั้นทำให้ผู้เรียนเกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้จากห้องเรียนไปสู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึงกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ Software Advice ในหัวข้อที่ว่า The LMS Features that Drive Employee Engagement IndustryView  ที่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงาน 385 คนที่เข้ามามีส่วนในการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาจะใช้เครื่องมือของบริษัทและทำงานในแต่ละวันได้ดีมากขึ้น จากการเรียนหลักสูตรระยะสั้น

        นอกจากนี้การเรียนรู้แบบ Microlearning ยังเป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่ประหยัด และสอดคล้องกับการสนับสนุนระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ตามที่ สถาปนิก Ray Jimenez, PhD ซึ่งได้อธิบายไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า 3-minute eLearning  ว่าการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้แบบ Microlearning นั้นสามารถลดต้นทุนการพัฒนาลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์  และมีอัตราความเร็วในการพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 300 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ทำให้ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานในการดำเนินงานต่าง ๆ

        ต้องยอมรับว่าการเรียนรู้แบบ Microlearning นั้นตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ได้ดี เพราะปกติแล้วการเรียนรู้ของมนุษย์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในระยะเวลา 5-7 นาทีแรก จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งเป็นไปตามประสิทธิภาพการทำงานของสมองมนุษย์ ดังนั้นการที่ Microlearning ช่วยทำให้เนื้อหามีขนาดที่เล็กและเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละครั้ง จึงทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรเอาแนวคิดเกี่ยวกับ การเรียนรู้แบบ Microlearning นั้นไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบแผนการเรียนรู้ต่าง ๆ สำหรับผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้สามารถถ่ายทอดเนื้อหาต่าง ๆ ไปสู่ผู้เรียนได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 
แหล่งข้อมูล
จับตามอง ?Micro-Learning? ทำไมถึงสำคัญต่อองค์กร. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2563
Numbers Don?t Lie: Why Microlearning is Better for Your Learners (and You too). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2563
Microlearning. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2563

ที่มา : https://www.trueplookpanya.com/education/content/84614/-teaartedu-teaart-