ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์เชื่อมโยงสมองหลายส่วน  (อ่าน 1622 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
             หลายคนทราบอยู่แล้วว่าวิธีการสร้างการเรียนรู้ไม่มีสูตรสำเร็จไม่มีกรอบตายตัว หลักฐานคือคำว่า ?บูรณาการ? ที่ได้ยินกันจนคุ้นหู ?ห้องเรียนสร้างสรรค์? ได้ยินกันจนจำได้ขึ้นได้ แต่? ทำอย่างไร, สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองระหว่างเรียนรู้เป็นอย่างไร และตัวอย่างห้องเรียนสร้างสรรค์ มีรูปแบบใดบ้าง ขอเห็นตัวอย่างชัด ๆ เลยได้ไหม?

             ยกตัวอย่าง ห้องเรียนสร้างสรรค์ในคอนเซ็ปท์ ?วิธีการสอน 1 อย่าง แต่นักเรียนได้ประโยชน์ทบเท่าทวีคูณ? เริ่มต้นจาก ความสำคัญของการเรียนรู้สร้างสรรค์ วิธีการเรียนรู้เช่นนี้เกิดอะไรขึ้นในสมองของผู้เรียนบ้าง และตัวอย่างไอเดียการสร้างสรรค์ ห้องเรียน เพื่อให้คุณครูเห็นภาพและนำไปปรับใช้ได้จริง

ห้องเรียนสร้างสรรค์ สำคัญอย่างไร หน้าตาของมันคืออะไร?
การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสมองหลายส่วนคืออะไร และทำงานอย่างไร?
?การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสมองหลายส่วน? มีคีย์เวิร์ดที่ต้องทำความเข้าใจ 3 ประเด็น คือ


1.การเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของสมองซีกซ้าย ศิลปะและดนตรีไม่ใช่เรื่องของสมองซีกขวาอีกต่อไป

2.การกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ ไม่ได้จำกัดแค่ช่วงวัยใดวัยหนึ่ง

3.?การทำซ้ำ ๆ จนช่ำชอง อ่านซ้ำ ๆ จนจำได้? ไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดเสมอไป

            หนึ่ง - การเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของสมองซีกซ้าย ศิลปะและดนตรีไม่ใช่เรื่องของสมองซีกขวาอีกต่อไป แต่สมองทุกส่วนถูกกระตุ้นและพัฒนาไปพร้อมกัน เซลล์ประสาทในสมองแตกแขนงเชื่อมโยงไปยังส่วนต่างๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ต้องย้ำว่า? ทั้งหมดนี้ทำได้ด้วยวิธีการสอนที่ครูสร้างสรรค์ขึ้น

            สอง - การกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ ไม่ได้จำกัดแค่ช่วงวัยใดวัยหนึ่ง แต่แน่นอนว่าหากเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สร้างการเรียนรู้หลากมิติตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา หน่วยความจำในสมองของเด็กจะทำงานได้รวดเร็ว ว่องไว และสร้างพัฒนาการได้ดีกว่า ดังนั้น เมื่อนักเรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ เช่น ได้นำเสนอคอนเซ็ปท์ในวิชาคณิศาสตร์เป็นบทกวี การเรียนรู้ลักษณะนี้จะช่วยสร้างความจำที่มั่นคงถาวรได้มากกว่า เด็กจะเข้าใจแล้วนำชุดความรู้ไปต่อยอดเพื่อเรียนรู้เรื่องอื่นที่ใกล้เคียงกันได้อย่างรวดเร็ว (การถ่ายโอนความจำ) และเป็นการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กสนใจได้มากกว่าด้วย

             จูดี้ วิลลิส (Judy Willis) นักประสาทวิทยา อาจารย์ และนักเขียน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้และสมอง ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสบการณ์ด้านการสอนเด็กเล็กระดับปฐมวัยและประถมศึกษามากว่า 10 ปี บอกว่า ครั้งหนึ่งความบังเอิญจากประสบการณ์การสอนในห้องเรียนให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นแรงบันดาลใจให้เธอศึกษาและค้นหาคำถามเกี่ยวกับกระบวนการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเข้าใจบทเรียน แล้วยังเชื่อมโยงไปสู่เรื่องอื่นได้ โดยไม่ยึดติดเฉพาะกับเนื้อหาในตำราเรียน

             วิลลิสเล่าว่า เธอกำลังสอนนักเรียนเกี่ยวกับลักษณะการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ สิ่งที่พบคือ นักเรียนสับสนระหว่างการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์และการโคจรเป็นรอบวงโคจร เธอจึงให้เด็กจับกลุ่มแล้วใช้ร่างกายตัวเองแสดงท่าทางประกอบให้เห็นภาพลักษณะการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจร่วมกัน

             วิธีดังกล่าว นอกจากทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนมากขึ้นแล้ว ยังทำให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้และความเข้าใจที่เกิดขึ้นไปสู่การอธิบายการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนรอบๆ อะตอมได้ด้วย ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้วิลลิสศึกษาจนพบว่า การสร้างการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดรูปแบบ และการเรียนรู้เพียงเรื่องเดียวก็สามารถเชื่อมโยงกับสมองหลายส่วนได้ ดังนั้นการสร้างการเรียนรู้จึงไม่ควรจำกัดอยู่แค่สมองส่วนใดส่วนหนึ่ง

             สาม - การทำซ้ำ ๆ จนช่ำชอง อ่านซ้ำ ๆ จนจำได้ ไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดเสมอไป ที่ผ่านมาเราได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า การเรียนรู้ที่ดีเกิดขึ้นได้จากการทำสิ่งนั้นซ้ำๆ จนช่ำชอง และการอ่านสิ่งนั้นซ้ำ ๆ จนจำได้ แต่การผลการศึกษาค้นพบวิธีการที่ดีกว่า นั่นคือ ครูเป็นผู้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียน ช่วยให้นักเรียนมีความจำที่ดีขึ้น สามารถถ่ายโอนความจำหรืออาจเรียกว่านำความจำที่บันทึกไว้ในสมองแต่ละส่วนมาประยุกต์ใช้ได้ ด้วยการจัดการความรู้ให้มีความหลากหลายเชื่อมโยงกับสมองแต่ละส่วน ไม่จำกัดหรือยึดติดอยู่ที่รายวิชาและวิธีการสอนท่องจำแบบเดิม

             อย่างที่กล่าวไปว่าการเรียนรู้แบบใหม่สัมพันธ์กับการทำงานของสมองหลายส่วน เพราะต้องอาศัยการประมวลผล การขยายและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เชื่อมกับหน่วยความจำในสมอง ไม่เฉพาะแค่ด้านใดด้านหนึ่ง

             การเรียนรู้ที่ไม่จำกัดจำเพาะนี้ (cross-referencing) ช่วยสร้างและพัฒนาความจำได้ดีกว่าการเรียนรู้ย้ำๆ ซ้ำ ๆ แบบเดิม เนื่องจากความจำที่ถูกเก็บไว้ในหลายส่วนของสมอง จะถูกพัฒนาทุกครั้งที่ได้รับกระตุ้นจากกระบวนการเรียนรู้ใหม่ครั้งต่อไป

            การเรียนรู้แบบบูรณาการกลุ่มสาระวิชาเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นและพัฒนาการทำงานของสมองหลายส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถเชื่อมเครือข่ายเส้นใยประสาททั้งในส่วนแอกซอน* (Axon) และเดนไดรต์* (Dendrite) จากเซลล์ประสาท (Neuron) หนึ่งไปยังอีกเซลล์ประสาทหนึ่งได้

            เมื่อข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ถูกบันทึกไว้ในหน่วยความจำเป็นเครือข่ายในสมอง สิ่งนี้จะช่วยเปิดประตูการเรียนรู้อีกมากมาย ข้อมูลความรู้ที่เคยได้เรียนรู้จะถูกดึงกลับมาใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง การเรียนรู้เรื่องขั้วบวกขั้วลบ (positive and negative) ชุดความรู้นี้นำไปใช้ได้กับทั้งการเรียนรู้ต่อยอดเรื่องอุณหภูมิบวกและลบ การดึงดูดและผลักของแม่เหล็กในวิชาวิทยาศาสตร์ และเส้นจำนวนในวิชาคณิตศาสตร์ เป็นต้น

            จากการทดลองสแกนสมองขณะที่ใช้วิธีการสอนเพื่อสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ นักวิจัยแสดงให้เห็นถึงการทำงานของสมองที่ถูกกระตุ้นซึ่งกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของสมอง โดยทำงานเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งในส่วน ประสาทสัมผัส (sensory) การเคลื่อนไหว (motor) ความตั้งใจ (attention) อารมณ์ (emotion) และด้านภาษา (language) เป็นกระบวนการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงกันเพื่อใช้ความรู้เดิมเข้ามาแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่

การทำงานของสมองลักษณะที่ว่านี้มีประโยชน์ต่อการสอนและการเรียนรู้อย่างไร?
 
            การบูรณาการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการผนวกหลายๆ ศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน ย้อนกลับไปที่บทเรียนเรื่องการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ บทเรียนครั้งนั้นวิลลิสได้นำการเคลื่อนไหวเข้ามาสร้างความเข้าใจในบทเรียน จากการศึกษาพบว่า การผสมผสานศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว การนำเสนอหน้าชั้นเรียน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำของนักเรียน

            ยกตัวอย่างการเรียนรู้เกี่ยวกับรถยนต์ เมื่อสายตามองเห็นรถ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังเปลือกสมองส่วนการมองเห็น (visual imagine cortex) เมื่อเห็นตัวสะกด c-a-r ข้อมูลจะถูกส่งไปยังสมองที่ทำงานด้านภาษา หรือหากได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์ ความรู้นี้จะถูกเชื่อมโยงไปสร้างความเข้าใจเรื่องการสันดาปของเครื่องยนต์ไอพ่นและจรวดได้ อย่างที่บอกข้อมูลแต่ละส่วนจะถูกเรียกออกมาใช้ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกิจวัตรประจำวัน อาชีพและการใช้ชีวิตของแต่ละคน
 
            เพียงได้เห็นคำว่า ?รถ? ก็ทำให้เรานึกถึง ตัวรถ เสียงเครื่องยนต์ ความรู้สึกเมื่อรถเคลื่อนที่ พาหนะอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ส่วนในด้านภาษาเชื่อมโยงไปได้ถึงคำคล้องจอง คำเหมือนและอื่นๆ อีกมากมายขึ้นอยู่กับรากฐานความจำเดิมหรือชุดความรู้เดิมที่มีอยู่

            การเรียนการสอนด้วยวิธีการดังกล่าวช่วยให้สมองสร้างการรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด สมองสามารถหยิบจับความรู้เก่าและใหม่มาผสานเพื่อสร้างความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมไปจนถึงความรู้เชิงนามธรรม

ไอเดียสำหรับคุณครู สร้างบทเรียนเปลี่ยนการเรียนรู้

             แม้อยากเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ายังไม่เคยทำ ไม่เคยสอน การจะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนไปเลยทันทีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย กลยุทธ์ที่กำลังจะเอ่ยถึงต่อไปนี้เป็นทั้งตัวช่วยและเป็นโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝนการเรียนรู้แบบใหม่ที่สร้างทักษะติดตัวไปได้ในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ทักษะด้านอื่นๆ ได้อีก

วิชาคณิตศาสตร์
              ครูสามารถใช้ ?ไฮกุ? มาเป็นตัวช่วยเรียนรู้คอนเซ็ปท์เรื่องความสมมาตร ไฮกุเป็นการเขียนบทกวีสไตล์ญี่ปุ่น มีความโดดเด่นอยู่ที่ความเรียบง่าย ไม่ยึดติดกับแบบแผน ไม่เหมือนกับการแต่งกวีอื่นๆ ที่มีรูปแบบบังคับสัมผัสตามหลักฉันทลักษณ์มากมาย แต่ไฮกุตัดทอนให้เหลือหลักๆ เพียง 3 วรรค รวม 17 พยางค์ โดยแบ่งท่อนการแต่งคำแต่งละวรรคออกเป็น 5-7-5 พยางค์
 
การออกแบบการเรียนรู้เรื่องปริมาณผ่านกราฟ
              การเรียนรู้เรื่องการคูณผ่านวิดีโอหรือเอนิเมชั่น นำเสนอภาพการเพิ่มขนาดของวัตถุ หนึ่งเท่า สองเท่า สามเท่า แทนการท่องสูตรคูณ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจคอนเซ็ปท์ของการคูณซึ่งแตกต่างจากการบวก
 
วิชา วิทยาศาสตร์
              สำหรับเด็ก ครูสามารถจัดกิจกรรม เช่น การเต้นหรือการแสดงประกอบท่าทาง เรียนรู้เรื่องวงจรชีวิตของผีเสื้อและวัฏจักรของน้ำได้ ให้นักเรียนลองใช้จินตนาการเปรียบเทียบการเกิดปฏิกิริยาเคมีกับการจับคู่ความสัมพันธ์ของคนในชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์ของนักเรียนกับครอบครัวและกลุ่มเพื่อน เพื่อเรียนรู้เรื่องการจับ แยกและสลายตัวขององค์ประกอบทางเคมีของสารต่าง ๆ
 

วิชา สังคมศึกษา
               ให้นักเรียนเขียนรายงานข่าวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยอาจเพิ่มเติมโจทย์ให้นักเรียนเขียนจากมุมมองของผู้ร่วมเหตุการณ์ที่รู้ข้อมูลเชิงลึกหรือจากมุมมองของคนนอกที่รายงานจากข้อมูลเบื้องต้น ให้นักเรียนนำเสนอรูปแบบโครงสร้างของรัฐบาลในระบอบต่าง ๆ เช่น ระบอบพระมหากษัตริย์ ระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ ผ่านมุมมองที่แตกต่างกัน โดยสวมบทบาทเป็นบุคคลแต่ละสาขาอาชีพ ลองให้นักเรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์ ร่างจดหมายประกาศเอกราชในรูปแบบของจดหมายรัก
 
ด้านภาษาและวรรณกรรม
                ลิสต์รายชื่อตัวละครในหนังสือหรือบทวรรณกรรม ให้คล้ายรายการเมนูอาหาร แล้ววิเคราะห์กำกับตามหลังถึงรสชาติ เปรี้ยว หวาน ขม เพื่อสะท้อนถึงคาแรคเตอร์ของตัวละครแต่ละตัว เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้การจัดการความรู้เพื่อสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ โครงสร้างวิธีคิดและกระบวนการเรียนรู้ของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาจะมีความเข้าใจและเชื่อมโยงความรู้ได้ มีความจำที่พร้อมเติบโต มีรากฐานวิธีคิดที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหาและคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างสร้างสรรค์
 
หมายเหตุ:   ใยประสาท (Nerve fiber) แบ่งตามหน้าที่การทำงานเป็น 2 ชนิด คือ เดนไดรต์ (Dendrite) และแอกซอน (Axon)

           เดนไดรต์ คือ ส่วนของใยประสาทที่ทำหน้าที่รับการกระตุ้นของสิ่งเร้า ทั้งสิ่งเร้าจากภายนอกและจากเซลล์ประสาทอื่นๆ ส่วนแอกซอน คือ ส่วนของใยประสาทที่ทำหน้าที่นำกระแสประสาทออกจากบริเวณเดนไดรต์ ไปสู่เซลล์อื่นๆ โดยทั่วไปแอกซอนมีเส้นเดียว ลักษณะเป็นเส้นใยยาวมาก มีส่วนปลายที่แตกแขนงเล็กน้อย
 
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://thepotential.org/2019/03/05/brain-revolutionize/