ผู้เขียน หัวข้อ: การรู้การอ่านแบบ PISA จำเป็นแค่ไหน และทำไมเด็กไทยต้องรู้อ่านให้เป็น  (อ่าน 1394 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
ปัญหาการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน พบว่าการสอนการอ่านของครูโดยเน้นการบรรยายอาจส่งผลต่อผู้เรียนในทางลบ เช่น ไม่ใช้กลวิธีในการอ่าน ไม่ทราบความหมายของคำศัพท์ หรือผู้เรียนไม่สามารถตีความบทอ่านได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่ทำให้การสอนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเกิดจากการเลือกเนื้อหาที่มีความยากและซับซ้อน เกินกว่าที่ผู้เรียนจะทำความเข้าใจ และมีปัญหาด้านการตีความ

เด็กไทยอ่านหนังสือมากหรือน้อย แค่ไหน?
?จากสถานการณ์ปัจจุบัน อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ปรากฎว่าเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง เหลือเพียงแค่ 3 บรรทัดเท่านั้น ทั้งที่พวกเขาอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ ต้องอ่านหนังสือในชั้นเรียน มีการสอบเพื่อวัดผลของความรู้ความเข้าใจ แต่สิ่งที่ได้กล่าวมานี้ เป็นภาคบังคับที่เด็กไทยจะต้องอ่านตามปกติอยู่แล้ว ส่วนในชีวิตประจำวันของเขาที่จะมีเรื่องของการอ่าน เช่น การอ่านเรื่องสั้นหรือบทความ จะมีการอ่านลักษณะนี้ลดน้อยลง? ดร.ทัศนีย์ เศรษฐพงษ์ ให้สัมภาษณ์ต่อปัญหาการอ่านหนังสือน้อยลงของเด็กวัยเรียน

ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนมักจะอ่านเนื้อหาจากช่องทางอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหนังสือเรียน ความสนใจหลักจะมุ่งเน้นไปที่ข้อความสั้นๆ ในสื่อโซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น คำคม ความรู้สึก คำบรรยายรูปภาพสั้นๆ หรือเรื่องราวที่เด็กๆ กำลังให้ความสนใจในช่วงนั้น ขณะเดียวกัน การอ่านเนื้อหาโดยไม่สามารถวิเคราะห์ในสิ่งที่อ่านได้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เด็กไม่เข้าใจในเจตนาแฝงของผู้เขียน ทำให้ตีความผิด และนำไปใช้ในทางที่เป็นโทษได้

ปัญหาการรู้การอ่าน กลายเป็นหัวใจสำคัญของโจทย์งานวิจัย

การเสริมความสามารถในการรู้การอ่านแบบ PISA จะช่วยเติมเต็มศักยภาพให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในการศึกษานี้จะเป็นการทำความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันของนักเรียนไทย การสำรวจสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ไปจนถึงหลักการเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่ให้ผลดีต่อผู้เรียนในระยะยาว

การรู้การอ่านแบบ PISA คืออะไร?
?การรู้การอ่าน คำนี้มาจากการประเมิณของ PISA เป็นการทดสอบระดับนานาชาติที่จัดโดย OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) องค์กรระดับประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้จัดการทดสอบนี้ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่าประชากรในประเทศนั้นมีความสามารถในการที่จะทำธุรกิจร่วมด้วยหรือไม่ การจัดสอบจึงเน้นที่เด็กอายุ 15 ปี ซึ่งในกรณีนี้ เราจะเทียบได้กับเด็กในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สิ่งที่พวกเขาอยากจะรู้ ก็คือ เด็กเหล่านี้มีความสามารถต่อการเป็นแรงงานที่มีคุณภาพต่อสังคมหรือไม่? ดร.ทัศนีย์ กล่าว

ผลการสอบ PISA ของเด็กไทยเป็นอย่างไร?
?สิ่งที่พวกเขาจัดการสอบจะวัดความรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Math Literacy) และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science Literacy) ในสิ่งที่เรามุ้งเน้นจะเป็นความรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ที่เป็นพื้นฐานตั้งต้นสำหรับการเรียนรู้วิชาอื่นๆ ตลอดไปจนถึงทักษะในการประกอบอาชีพของนักเรียน จุดสำคัญในการรู้การอ่าน คือ เมื่ออ่านเนื้อหาแล้ว จะต้องสามารถบอกได้ว่าเนื้อหาที่ได้อ่านมีสาระสำคัญอย่างไร ในส่วนที่เป็นปัญหาของเด็กไทย คือ ตัววิเคราะห์และตัวประเมินที่เด็กไทยยังฝึกฝนได้น้อย และส่งผลให้คะแนนมวลรวมของเด็กไทยอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับโซนเอเชียด้วยกัน? ดร.ทัศนีย์ กล่าว

สิ่งที่ผลการวิจัยค้นพบ คือ สิ่งที่สามารถนำไปใช้พัฒนารูปแบบการสอนได้จริง

งานวิจัยได้ทำการสำรวจปัญหาการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนไทยในห้องเรียนพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาที่นักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจต่อบทเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากการที่เด็กไม่สามารถอ่านแล้วจับประเด็นในสิ่งที่อ่านได้ นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านการอ่านอย่างละเอียด และการตีความจากบทเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ และนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นการปรับเนื้อหาในการสอน เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจในสาระสำคัญของวิชาเรียน จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ควรปรับแก้ไข

การปรับรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถอ่านและวิเคราะห์ได้ จึงนำหลักการของ PISA มาปรับใช้ในรูปแบบการสอน 4 ประการ ประกอบด้วย การเรียนรู้จากต้นแบบ การใช้กลวิธีการอ่าน การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การปรับรูปแบบการสอนตามหลักการของ PISA นี้จะส่งผลดีต่อสมรรถนะการอ่านของนักเรียนไทย ให้สามารถอ่านได้เข้าใจ เชื่อมโยงความรู้เป็น และนำไปปรับใช้ได้ถูกต้อง

ในการปรับรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาการอ่านของเด็ก จึงต้องอาศัยการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาการอ่านของเด็ก โดยคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาคู่มือสำหรับการเรียนการสอน การกำหนดเกณฑ์การประเมิน การวางแผนขั้นตอนการสอนอย่างต่อเนื่อง และการคัดเลือกบทอ่านที่เหมาะสมกับผู้เรียน สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การปรับรูปแบบการสอนประสบผลสำเร็จ

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ งานวิจัยได้ทดลองจัดกิจกรรมการสอนตามรูปแบบที่ได้พัฒนาขึ้นมากับกลุ่มนักเรียนตัวอย่าง เพื่อทำการเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านในช่วงก่อนการทดลอง และหลังจากการทดลอง พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสอนในฉบับใหม่มีทักษะในการอ่านดีขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ นักเรียนสามารถที่จะวิเคราะห์เนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น มีทักษะในการค้นหาสาระ ตลอดไปจนถึงทักษะด้านการตีความ ทำให้ผลการประเมิณสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญ

การทดลองการอ่านตามแบบฉบับของ PISA นี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีส่วนช่วยในการยกระดับการอ่านของเด็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นของครูในโรงเรียนโครงข่าย พบว่าครูส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดการอ่านแบบ PISA ซึ่งมักจะประทับใจเมื่อเห็นภาพบรรยากาศในห้องเรียนที่แปลกตา เช่น เห็นนักเรียนมีความกระตือรือร้นในการอ่านมากขึ้นเมื่อใช้กลวิธีการอ่าน สะท้อนให้เห็นว่าความรู้จากการสอนของครูในห้องเรียน เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ่านในชีวิตประจำวันของเด็กได้ นอกจากจะส่งผลดีผู้เรียนแล้ว ในมุมของผู้สอนก็สามารถนำแนวคิดมาปรับรูปแบบการสอนได้อย่างที่ต้องการได้อีกด้วย

อีกด้านที่ทีมวิจัยเห็นจากการเรียนการสอนเชิงบูรณาการนี้ คือ การที่จะทำให้รูปแบบการเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคัดกรองงานเขียน และเนื้อหาที่จะนำมาประกอบการสอน ให้เหมาะสมกับทักษะของผู้เรียน ยกตัวอย่างเช่น การปรับประเภทของบทอ่านให้มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน หรือตรงกับความสนใจของผู้เรียน จะมีส่วนกระตุ้นความอยากเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างดี ในขณะเดียวกัน ผู้สอนจะต้องสามารถแสดงตัวอย่าง หรืออธิบายวิธีการใช้กลวิธีการอ่านที่เข้าใจได้ชัดเจน สามารถถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงความสำคัญในการรู้อ่าน ดั้งนั้นสื่อการสอนเองจะต้องปรับใช้ให้เหมาะสมต่อบริบทของผู้เรียน

ประโยชน์ของทักษะการรู้การอ่านคืออะไร?
?หากเด็กสามารถที่จะอ่านแล้วตีความได้ ก็จะไม่ตกเป็นทาสของข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวลวงที่สามารถพบได้ง่ายในโซเชียลมีเดีย หมายถึงว่าเด็กจะมีความคิดเป็นของตัวเองที่เกิดจากองค์ความรู้ และการวิเคราะห์ข้อมูล มีทักษะในการแยกแยะได้ว่าสิ่งที่กำลังอ่านอยู่นั้น มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทำให้เด็กสามารถจับประเด็นของข่าวสารที่อ่าน และเข้าใจถึงเจตนาของผู้เขียน ก่อนที่จะตัดสินในนำข้อมูลข่าวสารนั้นไปใช้ การจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับปัญหานับเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนไม่ควรจะมองข้าม? ดร.ทัศนีย์ กล่าว

คะแนน PISA เด็กไทยควรสูงขึ้นแค่ไหน?
?การรู้เรื่องการอ่านที่ประเทศของเราคาดหวัง คือ ประเทศเราจะชอบโชว์ตัวเลขว่าสอบ PISA ได้คะแนนสูงๆ แต่ในขณะเดียวกัน จริงๆ แล้วการรู้เรื่องการอ่านนั้นมีหัวใจสำคัญก็คือ การที่เด็กอ่านหนังสือ เรื่องสั้น หรือข่าวสารแล้ว เกิดความเข้าใจระดับที่ดี เข้าใจเนื้อหาจนสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ เช่น สามารถอธิบายได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ประเมินค่าได้ว่าเนื้อหามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยที่สามารถจะตอบเหตุผลของตนเองได้อย่างมีหลักการขององค์ความรู้ และที่สำคัญก็คือ สามารถนำประโยชน์จากการได้อ่านนั้น มาปรับใช้เพื่อการพัฒนาตนเองได้? ดร.ทัศนีย์ กล่าว

*********
การวิจัยและพัฒนาความสามารถในการรู้เรื่องการอ่านตามแนวทางการสอบแบบ PISA โดยใช้แนวคิดการอ่านจากต้นแบบของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ดร.ทัศนีย์ เศรษฐพงษ์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ดร.วิภาวรรณ เอกวรรณัง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาสนับสนุนการวิจัยโดย สกสว.

ที่มา : https://researchcafe.org/why-thai-students-have-to-learn-pisa-reading/