ผู้เขียน หัวข้อ: ปรับบทบาทรัฐ เปลี่ยนภูมิทัศน์ ?การเรียนรู้ตลอดชีวิต?  (อ่าน 1853 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
ณัฐนันท์ อมรานันทศักดิ์

เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น เพราะตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี และล่าสุดในปี 2560 มีคนไทยอายุยืนกว่า 100 ปีแล้วถึง 9,041 คน แต่อายุยืนยาวจะมาพร้อมความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ทำให้คนไทยต้องทำงานนานขึ้นเพื่อให้มีเงินสะสมเพียงพอ แต่องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาภาคบังคับหรืออุดมศึกษา อาจไม่เพียงพอที่จะใช้ตลอดช่วงชีวิตเพราะการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยีจะทำให้ทักษะและความรู้ที่มีหมดอายุเร็วขึ้น เพื่อให้มีทักษะและความรู้ที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานตลอดเวลา คนไทยจำเป็นอย่างมากที่ต้องหมั่นเรียนรู้ พัฒนา ทักษะใหม่ๆ ต่อเนื่องตลอดชีวิต

แต่โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะวัยแรงงานได้พัฒนาทักษะ ใหม่ (reskill) ให้ทันต่อความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีความแตกต่างระหว่าง แรงงาน 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่มีทักษะสูง-รายได้สูง และกลุ่มที่มีทักษะต่ำ-รายได้ต่ำ ปัจจัย ด้านการเงินและพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกัน จะทำให้แรงงานทั้ง 2 กลุ่ม มีความต้องการและ ความพร้อมในการเรียนรู้ต่อเนื่องแตกต่างกัน

รัฐจึงควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ต่อเนื่องที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตแต่ละบุคคลและตรงกับ ความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน

สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ก่อนประเทศไทยและตระหนักถึงผลกระทบด้าน กำลังคนจากสภาวะสังคมสูงวัย รัฐบาลสิงคโปร์ จึงได้ริเริ่มโครงการ SkillsFuture  เพื่อสร้าง ระบบสนับสนุนการเรียนรู้ต่อเนื่องแบบครบวงจร ขึ้นในช่วงปี 2014-2015 หนึ่งในโครงการย่อยภายใต้ร่ม SkillsFuture คือ SkillsFuture Credit ที่จัดสรรเงิน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์แก่ชาวสิงคโปร์ทุกคนที่อายุ 25 ปีขึ้นไป เพื่อใช้ลงเรียนหลักสูตรอบรมต่างๆ เงินอุดหนุนดังกล่าวมาจากงบของรัฐ และเงินสมทบจากนายจ้างและมีเงื่อนไขการใช้ คือสามารถใช้กับผู้ให้บริการหลักสูตรอบรมที่ผ่าน การรับรองจากรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ ยังสามารถใช้บริการเว็บไซต์ MySkillsFuture เพื่อค้นหาหลักสูตรอบรมต่างๆ ที่สามารถใช้สิทธิอุดหนุนได้ ทำแบบทดสอบประเมินบุคลิกลักษณะของตนเอง และวางแผนเส้นทางอาชีพ และแผนการเรียนรู้จากข้อมูลสาขาอาชีพ และสมรรถนะที่จำเป็นตามความสนใจของตัวเอง

การขับเคลื่อนโครงการนี้อาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัด การศึกษาต่อเนื่อง ทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อน ให้เห็นผ่านองค์ประกอบคณะกรรมการระดับสูงที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมโครงการ อันประกอบ ด้วยรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวง การคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวง กำลังคน ตัวแทนสถาบันการศึกษาและตัวแทน ผู้บริหารองค์กรเอกชน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

เมื่อย้อนมองสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า การอบรมพัฒนาทักษะแรงงานกลุ่ม ทักษะไม่สูง ยังเข้าถึงแรงงานจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานไทยจำนวน 38.74 ล้านคน โดยมีผู้ได้รับการอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในปี 2561 และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและ การศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในปี 2560 เป็นจำนวน 589,898 คน และ 4,321,577 คน ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีรูปแบบการพัฒนาทักษะอื่นๆ จากสถาบันอบรมเอกชน และมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับแรงงานอีกหลายสิบล้านคนที่ไม่ได้รับบริการจากหน่วยฝึกอบรมของรัฐ

เมื่อพิจารณารูปแบบและเนื้อหาการฝึกอบรมทักษะของทั้ง 2 หน่วยงานรัฐข้างต้น พบว่า การอบรมของ กศน. มุ่งเน้นที่การศึกษาเพื่อมีวุฒิการศึกษาพื้นฐานมากกว่าเพิ่มทักษะระดับสูง ส่วนหลักสูตรกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะมุ่งสร้างทักษะอาชีพในบางกลุ่มสาขาเท่านั้น เช่น วิชาชีพช่าง หรือ เกษตรกรรม การอบรม ทั้ง 2 รูปแบบนี้มีประโยชน์มากต่อแรงงานที่ระดับ การศึกษาน้อยและรายได้น้อย แต่อาจไม่ช่วยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในเศรษฐกิจฐานความรู้

นอกจากหลักสูตรการอบรมที่หลากหลายแล้วแรงงานไทยจำเป็นต้องมี ?ตัวช่วย?ในการ คัดกรองคุณภาพของหลักสูตรเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเลือกหลักสูตรที่เรียนแล้วใช้ได้จริง และเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ

ด้วยเหตุนี้รัฐจึงยังควรให้บริการอบรม ดังที่ทำอยู่สำหรับแรงงานที่ทักษะและรายได้น้อย โดยยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น และเพิ่มบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้สำหรับ แรงงานกลุ่มอื่นๆ จัดทำระบบแนะแนวและสร้างฐานข้อมูลเรื่องอาชีพเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจการเลือกหลักสูตรและวางแผน อาชีพเพิ่มช่องทางการอุดหนุนเงินส่งตรงถึงผู้เรียน ซึ่งอาจมาจากกองทุนสมทบระหว่างรัฐ และนายจ้างเช่นเดียวกับสิงคโปร์ และพัฒนา แนวทางขึ้นทะเบียนคอร์สอบรมที่ได้รับเงิน สนับสนุนโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ของการเรียนรู้

เป้าหมายสำคัญของการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของรัฐควรเป็นการส่งเสริมให้คนไทยทุกคนสามารถพัฒนาทักษะตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ช่วงอายุใด ทำงานสาขาอาชีพไหน และมีระดับการศึกษาหรือไม่ เพราะในโลกที่ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยืนยาวโอกาสในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานควรเป็นสิทธิที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 23 พฤษภาคม 2562

ที่มา TDRI