ผู้เขียน หัวข้อ: การศึกษาของเด็กปฐมวัย หัวใจสำคัญของการศึกษา  (อ่าน 3649 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
เมื่อการศึกษาเป็น เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการในทุกด้านของช่วงอายุแรกเกิดจนถึงห้าขวบ หรือวัยก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งที่มักเรียกกันว่า ?เด็กปฐมวัย? ให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการแล้วก็จะสามารถเติบโตเป็นดีมีคุณภาพ ส่งผลดีต่ออนาคตของสังคมและประเทศชาติด้วย ซึ่งจากข้อมูลของนักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮกแมน จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า ?การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว? โดยคืนผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตมากถึง 7 เท่า เป็นทั้งการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศ ลดอัตราการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และองค์การยูนิเซฟซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พัฒนาการสุขภาพ รวมถึงความเป็นอยู่ของแม่และเด็กในประเทศกำลังพัฒนาระบุว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยจะมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางด้านสติปัญญา และความฉลาดทางด้านอารมณ์ สูงขึ้นกว่าปกติ และนำไปสู่การมีโอกาสในการเรียนรู้ต่อในระดับที่สูงขึ้น และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพมีรายได้สูง ส่งผลให้อัตราการก่อคดีหรือสร้างปัญหาสังคมลดน้อยลงด้วย (อภิวัฒน์การเรียนรู้?สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย, 2557)

จากนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ระยะยาว พ.ศ. 2550-2559 ได้ให้ความหมายของเด็กปฐมวัยว่า ?เด็กปฐมวัย? คือ เด็กตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงอายุ 5 ปี 11 เดือน 29 วัน หรือต่ำกว่า 6 ปี การจัดการการศึกษานั้นได้แบ่งเป็น 3 รูป แบบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการจัดการศึกษาปฐมวัย ต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน เนื่องจากช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการด้านสมอง และการเรียนรู้อย่างรวดเร็วที่สุด ดังนั้นจึงถือได้ว่าช่วงปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ต้องการการปลูกฝังดูแลเป็นพิเศษ เพื่อจะได้เป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ และการพัฒนาตลอดชีวิต ให้เติบโตเป็นเด็กฉลาดและประสบความสำเร็จในชีวิต (การดูแลและการศึกษา เด็กปฐมวัย, 2556)

แต่จากการติดตามพัฒนาการของเด็กไทยพบว่า มีพัฒนาการที่ล่าช้าทั้งทางด้านสติปัญญา การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ภาษา และการปรับตัว เนื่องจากขณะนี้เด็กปฐมวัยได้รับการสนับสนุนที่ไม่เหมาะสมกับธรรมชาติของวัย เช่น การที่ผู้ปกครองให้เด็กเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษาที่มีชื่อเสียง และอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ การที่โรงเรียนในระดับอนุบาลจำนวนมากเปิดสอนพิเศษเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม รวมถึงการเร่งเรียน เขียนและอ่านเกินพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนในการจัดการศึกษาปฐมวัย ทำให้การศึกษาปฐมวัยในวันนี้ มุ่งเน้นแต่การท่องจำความรู้ เพื่อสอบแข่งขัน และเน้นเฉพาะ ด้านเนื้อหาสาระมากกว่าการพัฒนาด้านทักษะกระบวนการ ได้แก่ การคิดแก้ปัญหา การตัดสินใจ การให้เหตุผล รวมถึงการขาดการพัฒนาด้านคุณธรรม และคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้การดำเนินชีวิต ส่งผลให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ขาดทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น และขาดทักษะความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น (เปิดสถานการณ์เด็กปฐมวัย พบปรากฏการณ์เร่งเรียนตั้งแต่วัยอนุบาล, 2557)

นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2555 ได้สำรวจจำนวนเด็กปฐมวัยที่มีอายุ 0-5 ปีมีจำนวน 4,585,759 คน ซึ่งแบ่งตามการดูแลและการจัดการศึกษาสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กอายุ 0-1 ปี จำนวน 1,509,017 คน และกลุ่มเด็กอายุ 2-5 ปี จำนวน 3,076,742 คน พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

? การดูแลเด็กปฐมวัยในช่วงอายุ 0-1 ปี ที่ได้รับการดูแลเบื้องต้นจากครอบครัว ยังขาดการส่งเสริมและดูแลอย่างเป็นระบบ เนื่องจากครอบครัวส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ทักษะในการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการ
? การเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา โดยมีเด็กอายุ 2-5 ปี จำนวน 365,506 คน หรือร้อยละ 12 ของเด็กในช่วง 2- 5 ปี ยังไม่ได้เรียนหนังสือ
? ขาดการดูแลที่ดีและมีคุณภาพ โดยมีเด็กอายุ 2-5 ปี จำนวน 911,111 คน หรือร้อยละ 30 ของเด็กในช่วงอายุ 2-5 ปี อยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีมาตรฐานในระดับขั้นต่ำ
? ความหลากหลายในการพัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็ก เนื่องจากในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาดูแลศูนย์เด็กเล็ก เช่น กรมอนามัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างดำเนินงานตามแผนงานของ แต่ละหน่วยงาน ทำให้ไม่มีมาตรฐานกลางในการดูแลและการให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย (พัฒนาการเด็กปฐมวัย รากแก้วแห่งชีวิต, 2557)

ปัญหาสำคัญของการศึกษาปฐมวัย
1. การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เนื่องจากผู้ปกครอง
ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการที่สำคัญตามช่วงวัยของเด็ก จึงมีความคาดหวังที่ต้องการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ จึงส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีระบบการสอนแบบ ?เร่งเรียนเขียนอ่าน? นอกจากนี้การใช้สื่อเทคโนโลยีในการเลี้ยงดูเด็ก เช่น ไอแพต โทรศัพท์มือถือ หรือโทรทัศน์ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
2. การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการศึกษาปฐมวัยของครู ผู้บริหารและสถานศึกษา การขาดแคลนความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย จึงทำให้ครูเน้นให้เด็กอ่านเขียนมากกว่าวัย และเน้นการสอนที่มีลักษณะให้เด็กท่องจำมากกว่าทักษะด้านการคิด การตัดสินใจ ในขณะที่ผู้บริหารสถานศึกษาบางส่วนบริหารงานเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียนจึงเตรียมความพร้อมของเด็ก เพื่อการสอบแข่งขันมากกว่าการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็ก รวมถึงปัญหาสถานศึกษาไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง จึงทำให้เกิดการเรียนเพื่อสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ระดับอนุบาล
3. ระบบการผลิตครูปฐมวัย จากค่านิยมของการเข้ารับราชการที่มีสวัสดิการที่ดีและมีความมั่นคงในชีวิต จึงเกิดความต้องการเพิ่มคุณวุฒิด้านการศึกษาของครูให้สูงขึ้น แต่ระบบการผลิตครูในปัจจุบันยังขาดกลไกในการติดตามและประเมินคุณภาพ เช่น การเปิดรับครูปฐมวัยจำนวนมาก ทำให้อัตราส่วนระหว่างอาจารย์กับจำนวนนักศึกษาไม่สอดคล้องกันส่งผลต่อประสิทธิภาพในด้านการเรียนการสอน เนื่องจากกระบวนการพัฒนาครูปฐมวัย ไม่สามารถทำได้ด้วยการบรรยายเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ โดยมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย มาดูแลอย่างใกล้ชิด
4. การให้ความสำคัญด้านเนื้อหาและการวัดผลมากกว่าการประเมินผลเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการวัดผลระดับประถมศึกษาต้อนต้น มุ่งเน้นให้เด็กท่องจำ ความรู้จำนวนมากไม่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับหลักสูตรของการศึกษาปฐมวัยที่เน้นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยคำนึงถึงการพัฒนาการในทุกด้านอย่างสมดุล ได้แก่ ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และจิตใจ นอกจากนี้ครูในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ เน้นการวัดผลด้านความจำ โดยขาดการประเมินตามสภาพความเป็นจริง รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการศึกษาของรัฐ ใช้หลักเกณฑ์ตัดสินมากกว่าการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน ทำให้ขาดแนวทางในการปรับปรุงผู้เรียนให้ดีขึ้น

แนวทางการแก้ไขปัญหา แบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ คือ
      เด็ก
? ขยายโอกาสทางการศึกษาปฐมวัยให้ทั่วถึง ครอบคลุมแก่เด็กทุกคนเพื่อให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างเท่าเทียมตามศักยภาพของเด็ก
? จัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับธรรมชาติตามวัย โดยมุ่งเน้นการเล่นและเรียนรู้ตามธรรมชาติที่อยู่รอบตัว จัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้
? เพิ่มงบประมาณในด้านส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยครอบคลุมเด็กทุกวัยทุกคน และเพิ่มเติมให้กับกลุ่มเด็กปฐมวัยที่ด้อยโอกาส เช่น เด็กยากจน เด็กพิการ เด็กออทิสติก เป็นต้น
       ครอบครัว
? เผยแพร่ความรู้ให้สาธารณชนและสังคมมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
? ให้การศึกษากับพ่อแม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการมีบุตรและดูแลส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
? การให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลักแก่เด็กปฐมวัยในชนบทให้ได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสม เช่น การให้ความรู้ในการเลี้ยงดูเด็ก การสนับสนุนค่าเลี้ยงดู เป็นต้น
       ระบบการศึกษา
? รัฐต้องกำหนดเป้าหมาย นโยบาย และหลักสูตรให้ชัดเจน สำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้เหมาะสมและต่อเนื่องทั้งในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
? จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ และทัดเทียมกันทั้งในสถานศึกษาของรัฐ และเอกชน
? พัฒนาเชื่อมโยงรอยต่อของแต่ละช่วงวัย ที่เริ่มต้นจากบ้าน ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษา
? สร้างเครือข่ายบุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษาในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันข้อมูลในการดูแลและพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึง

บทสรุปและข้อเสนอแนะของผู้ศึกษา
การพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมองของเด็กได้รับการสร้างและพัฒนาอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเด็กในช่วงนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ และการพัฒนาตลอดชีวิต ซึ่งถ้าเราปล่อยให้เวลาอันมีค่านี้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็จะไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ เพราะการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของมนุษย์จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ในช่วงปฐมวัยเท่านั้น

ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยนี้ควรเป็นไปตามหลักวิชาการอนุบาล ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนตามใจครูหรือผู้ปกครองที่เชื่อมั่นว่าการอ่านออกเขียนได้ของเด็กสำคัญกว่าการที่พวกเขาได้เรียนรู้อย่างชาญฉลาด เพื่อพัฒนาให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสมอง สายตา และใช้มือเขียนเส้น รู้จักสีและอุปกรณ์ ในลักษณะต่าง ๆ ก็จะทำให้เติบโตและเรียนเรื่องของการเขียน การอ่าน และการคิดเลขต่อไปได้เร็วขึ้น ทั้งจะสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เด็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ระบบการผลิตครู หลักสูตรการศึกษาและระบบการประเมินผลเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีส่วนร่วมกันในการจัดการศึกษาปฐมวัย เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสและมั่นคงให้แก่สังคมไทย ดังวลีที่ว่า ?เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า?

สุริยา   ฆ้องเสนาะ


ที่มา : http://krusandee.com

เอกสารอ้างอิง

การดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย สืบค้น 2 ตุลาคม 2558 จาก

http : admin.e-library.onecapps.org/Book/1233.pdf

ปฐมวัย : รากฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สืบค้น 6 ตุลาคม 2558 จาก

https://www.dropbox.com/s/2i1twj9b072mi20/N_factsheet%20%E0%B8%9B%E0%B8%90%

E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2.pdf?dl=0

เปิดสถานการณ์เด็กปฐมวัย พบปรากฏการณ์เร่งเรียนตั้งแต่วัยอนุบาล สืบค้น 4 ตุลาคม 2558 จาก

http : qlf.or.th/Home/Contents/1009

พัฒนาการเด็กปฐมวัย รากแก้วแห่งชีวิต สืบค้น 5 ตุลาคม 2558 จาก

http :resource.thaihealth.or.th/library/academic/14447

อภิวัฒน์การเรียนรู้?สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย สืบค้น 1 ตุลาคม 2558 จาก

http :apps.glf.or.th/member/Uploadfiles/prefix-08082557-012350-fc1915.pdf
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 05, 2018, 11:13:47 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »