ผู้เขียน หัวข้อ: สงสัยไหม ทำไม "แพะ" ต้อง "รับบาป"  (อ่าน 2870 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 09:59:32 PM
เป็นสำนวนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายครับ สำหรับคำว่า "แพะรับบาป" ที่ใช้เปรียบเปรยผู้ที่ต้องรับผลจากความผิดที่ตนเองไม่ได้ก่อ ความนิยมในการใช้สำนวนดังกล่าวในสังคมไทยมีมากเสียจนทำให้เกิดคำและวลีที่เกี่ยวข้องเช่น "จับแพะ" ที่เราๆ ท่านๆ ผ่านตาเป็นประจำตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในความหมายของการจับตัวคนร้ายที่ไม่ถูกต้อง จับคนบริสุทธิ์ ไม่ได้จับผู้ร้ายที่ก่อความผิดจริงๆ และทำให้วลี "จับแพะ" นี้ขยายความหมายระหว่างบรรทัดเลยไปจนถึงในความหมายว่า "การจงใจมั่วของเจ้าหน้าที่ตำรวจ" อาจจะด้วยจงใจหรือไม่สามารถจับตัวจริงได้จึงต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปด้วยการจับตัวคนบริสุทธิ์มาแถลงข่าวให้แก่สังคมทราบว่าปิดคดีได้ ซึ่งก็มีปรากฎอยู่ในบ้านเรา

จนทุกวันนี้เมื่อเอ่ยลอยๆ ว่า "แพะ" คนจำนวนไม่น้อยมักจะนึกไปถึง "แพะรับบาป" ที่เป็นคน มากกว่า "แพะ" ที่เป็นสัตว์เสียอีก

แต่สงสัยกันไหมครับว่าทำไมสัตว์ที่จำต้องรับบาปถึงต้องเป็น "แพะ" อย่างเดียว เป็นตัวอื่นไม่ได้??? ไอน์สไตน์น้อยก็สงสัยครับ ก็เลยไปคุ้ยค้นมาฝากกันครับ

"แพะรับบาป" เป็นสำนวนที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้บทนิยามว่า "คนที่รับเคราะห์กรรมแทนผู้อื่นที่ทำกรรมนั้น" ปัจจุบันคนที่เป็น "แพะรับบาป" บางทีก็เรียกกันสั้น ๆ ว่าเป็น "แพะ"

สำนวน "แพะรับบาป" ชวนให้สงสัยว่า เหตุใดจึงต้องเป็น "แพะ" ที่รับบาป   พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีข้อมูลที่ช่วยไขข้อข้องใจได้ดังนี้  แพะรับบาป มาจากภาษาอังกฤษว่า scapegoat  ในศาสนายิว  ที่มาของคำนี้ปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม  ซึ่งเป็นคัมภีร์ของชาวอิสราเอลที่มีภูมิหลังเป็นผู้เลี้ยงแพะหรือแกะเป็นอาชีพ

แพะรับบาปเป็นพิธีปฏิบัติในวันลบบาปประจำปีของชาวอิสราเอล  ซึ่งเริ่มด้วยการที่ปุโรหิตถวายวัวเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของตนเองและครอบครัว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ปุโรหิตจะนำแพะ 2  ตัวไปถวายพระเป็นเจ้าที่ประตูเต็นท์นัดพบ
และจะเป็นผู้จับสลากเลือกแพะ 2  ตัวนั้น

สลากใบที่ 1 หากตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นจะถูกฆ่าและถวายพระเป็นเจ้า เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของประชาชน เรียกว่า "แพะไถ่บาป"

ส่วนสลากใบที่ 2 หากตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นจะถูกนำไปถวายพระเป็นเจ้าทั้งยังมีชีวิตอยู่ แล้วใช้ทำพิธีลบบาปของประชาชนโดยยกบาปให้ตกที่แพะตัวนั้น เสร็จแล้วก็จะปล่อยแพะตัวนั้นให้นำบาปเข้าไปในป่าลึกจนทั้งแพะและบาปไม่สามารถกลับมาอีก

แพะที่ถูกจับโดยสลากใบที่ 2 นี้ เรียกว่า "แพะรับบาป"

ส่วน "แพะรับบาป" ในศาสนาฮินดู มีผู้สันนิษฐานว่า ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญได้ออกจากร่างมนุษย์ไปสู่ร่างม้า เมื่อฆ่าม้า ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญก็ออกจากตัวม้าไปสู่ร่างโค เมื่อฆ่าโคก็ไปสู่ร่างแกะ และจากแกะไปสู่แพะ  ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญคงจะอยู่ในตัวแพะนานที่สุด ดังนั้นแพะจึงกลายเป็นสัตว์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ฆ่าบูชายัญ ซึ่งเป็นที่มาอีกอย่างหนึ่งของคำว่า "แพะรับบาป"

คำว่า scapegoat  บางตำราให้ข้อมูลว่ามาจาก escape+goat แปลว่า แพะที่หนีไป


ที่มา : http://knowledge.truelife.com/