ผู้เขียน หัวข้อ: ปากที่เสกศิลป์ : วินทร์ เลียววาริณ  (อ่าน 1478 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740

ชายวัยปลายสามสิบผู้นั้นใช้พู่กันจุ่มสีน้ำ จรดมันบนกระดาษขาว เขาตวัดพู่กันด้ามนั้นไปมา บนกระดาษปรากฏภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็กลายเป็นรูปทิวทัศน์วิจิตรงดงาม

ต่อเมื่อเขาเงยหน้าขึ้นมา จึงแลเห็นปากของเขาที่กำลังคาบพู่กันด้ามนั้น

ทนง โคตรชมภู ใช้ปากวาดรูปมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว และตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาวาดภาพเพื่อเลี้ยงชีพ เขาวาดรูปได้หลายประเภท เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพดอกไม้ ภาพบุคคล ฯลฯ

ทนงเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2509 ที่ตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชุมชนบ้านถ่อน เมื่อเขาอายุราวสิบขวบ เขาป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อสลาย เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน เขาจึงไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แขนขาของเขาอ่อนเปลี้ยไร้กำลังลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดทั้งขาและแขนก็ลีบ ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ทั้งสิ้น ต้องนั่งรถเข็น มีคนป้อนอาหารให้

เขาเหลือแต่ปากที่ยังทำงานปกติ

แม้จะพิการ ทนงก็ดิ้นรนเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยการศึกษานอกโรงเรียน

เขายังอยากวาดรูป

ทนงไม่เคยมีโอกาสร่ำเรียนศิลปะจากสถาบันใดๆ ความฝันผลักดันให้เขาทำในสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าไม่อาจทำได้

อาวุธของเขาคือความเพียร

แน่นอน รูปที่เขาเขียนด้วยการใช้ปากคาบพู่กันในตอนแรกๆ ใช้การไม่ได้ แต่เขาก็ฝึกๆๆๆ และฝึกๆๆๆ และฝึกๆๆๆ จนในที่สุดวันหนึ่งก็มีคนบอกเขาว่า ภาพที่เขาวาดนั้นสวยงามยิ่ง

ทนงบอกว่า "ผมมิอาจที่จะคาดหวังว่าจะได้รับการยอมรับและชื่มชม เพราะผมรู้ในมาตรฐานงานของตัวผมดีว่า ในสภาพร่างกายที่พร้อมอย่างนี้ ก็ย่อมมีข้อบกพร่องและผิดพลาดอย่างมากมาย แต่ทั้งหมดมันก็คือความตั้งใจเพียรพยายามที่จะทำอย่างจริงจังจังและอย่างต่อ เนื่อง เพราะนี่คือทางเลือกของผม ทางเลือกที่จะเต็มไปด้วยความรับผิดชอบในชะตากรรมของตัวผมเอง...

"และผมก็รู้อยู่เสมอว่าผมยังต้องก้าวต่อไป เพื่อที่จะได้รับรู้สัมผัสถึงความจริงด้วยพลังญาณทัศนะและศักยภาพที่เหลือ อยู่ทั้งหมดของผม ซึ่งแน่ทีเดียวว่าทุกอย่างต้องถูกระดมออกมาใช้อย่างสุดชีวิต เพื่อที่จะได้เข้าใจศิลปะอันเป็นหัวใจสำคัญของการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่าง แท้จริง และงานทั้งหมดนี้คือผลแห่งการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการสร้าง สรรค์งาน"

คนจำนวนไม่น้อยยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่สัมผัสอุปสรรค และเลือกที่จะก่นด่าโชคชะตา โยนความไม่สมหวังไปที่กรรมเก่า

"ชาติก่อนเราคงทำกรรมมาหนัก ชาตินี้ก้มหน้ารับกรรมไปก็แล้วกัน..."

แล้วก็ก้มหน้ารับกรรมไปอย่างว่าง่าย

แต่อีกหลายคนกลับเห็นว่า ความพิการทางกายภาพไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต ดิ้นรนใช้ทุกอย่างที่ตนเหลืออยู่เป็นเครื่องมือเดินหน้าต่อไป

ทนงเคยกล่าวว่า "ความพยายามของผมไม่เสียหลาย ได้ช่วยเพื่อนๆ ที่พิการให้รับรู้ว่า ชีวิตต้องต่อสู้ดิ้นรนและตอบแทนสังคม"

ทนง โคตรชมภู ใช้ความเพียรขับเคลื่อนชีวิต ใช้ความอดทนสร้างทางเดินให้ตัวเอง ใช้ศิลปะเป็นพาหนะ ปลดปล่อยชีวิตเป็นอิสระและอยู่เหนือ 'กรรมเก่า' ใดๆ

คุณค่าของมนุษย์มิได้อยู่ที่ร่างกายครบสามสิบสอง หรือสรีระที่สวยงาม หากอยู่ที่กำลังใจที่เข้มแข็งด้วยความเพียร และจิตใจที่งดงามด้วยศิลปะ

เพราะนั่นเป็นพื้นที่เดียวที่คนพิการและคนไม่พิการมีโอกาสเท่าเทียมกัน

หมายเหตุ : ทนง โคตรชมภู ได้รับรางวัลอันดับ 1 เหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรม The Hebe Ransford Memorial Melbourne, Australia เป็นครูสอนศิลปะพิเศษและวิทยากรตามสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงเรียนในชนบท เช่น โรงเรียนชุมชนบ้านถ่อน ไปจนถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร และสมาคมคนพิการต่างๆ

ทุกวันนี้เขายังเขียนภาพเพื่อผลิตเป็นบัตรอวยพรปีใหม่ทุกปี ผ่านกลุ่มจิตรกรสร้างสรรค์ด้วยปากและเท้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับ The Association of Mouth and Foot Painting Artists of the World (MFPA) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ที่ลิคเตนสไตน์

 


วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

18 พฤษภาคม 2550

(บทความนี้เป็นหนึ่งในบทความที่ได้รวมพิมพ์เป็นเล่มในหนังสือเสริมกำลังใจเรื่อง อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก สั่งซื้อได้ที่ห้องผลงาน เหมาะเป็นของขวัญแก่คนที่รัก)