ผู้เขียน หัวข้อ: อย่าลดทอน?สิทธิการเล่น?พ่อแม่มุ่งวิชาการเกินวัย  (อ่าน 2578 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
          การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน คำกล่าวเช่นนี้อาจจะไม่เป็นจริงมากนักแล้วในสังคมปัจจุบันที่ชีวิตต้องเผชิญการแข่งขันจากทุกทิศทางและทุกกลุ่มวัย แม้แต่กลุ่มเด็กเล็ก ที่ต้องเผชิญการสอบแข่งขันเข้าเรียนตั้งแต่ในระดับชั้น ป.1 จึงเป็นตัวเร่งให้พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับวิชาการของลูก ต้องส่งลูกเรียนกวดวิชาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเพียงอนุบาล!! นับเป็นการลดทอนเวลาเล่นของเด็กอย่างมาก!!

          เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ฉายภาพสถานการณ์การเล่นของเด็กไทยว่า ปัจจุบันการเล่นของเด็กเปลี่ยนแปลงไปมาก การได้เล่นกับธรรมชาติน้อยลง ปัจจัยสำคัญเนื่องจากการศึกษา ที่พ่อแม่ถูกกระแสแข่งขันทางวิชาการ อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆมีชื่อเสียง จึงมุ่งเน้นให้ลูกมีการศึกษาที่มุ่งเน้นไปสู่การแข่งขันกับคนอื่นให้ได้ จึงต้องส่งลูกเข้าไปเรียนกวดวิชาตั้งแต่อายุน้อยๆ บางคนให้ลูกเรียนติวตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนเป็นการเบียดเบียนเวลาที่ลูกควรจะได้เล่น

          รวมถึง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างเร็ว โทรศัพท์มือถือมีราคาถูก พ่อแม่จึงนำมาใช้ในการเลี้ยงลูก ทำให้ลูกเงียบ อยู่นิ่งๆ หรือทำให้สงบ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่พัฒนาในเรื่องความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะชีวิตของเด็ก และ การเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมในสังคม ที่นอกบ้านอาจจะมีอันตรายเพิ่มมากขึ้นกว่าอดีต เด็กจึงถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้ไปเล่นนอกบ้าน เพราะฉะนั้น พ่อแม่และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันคืนชีวิตความเป็นเด็กให้กับเด็ก

          "พ่อแม่เป็นอุปสรรคสำคัญในการขัดขวางการเล่นของลูก เพราะได้รับผลจากการศึกษาแบบแข่งขัน ซึ่งหากสังคมไทยยังมองการเรียนรู้ของเด็กว่าเป็นแง่ของวิชาการและเพื่อการแข่งขันก็จะมุ่งให้เด็กเน้นไปในเรื่องวิชาการ แต่ถ้าหากเข้าใจว่าการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่เพียงแค่วิชาการเท่านั้น ต้องเข้าใจว่าการเรียนคือชีวิต ที่ต้องเรียนรู้เรื่องทักษะชีวิตอื่นๆด้วย" เข็มพรกล่าว

          ขณะที่ในระดับนานาชาติก็เผชิญปัญหาการเล่นของเด็กไม่แตกต่างกัน นางเคธี หวอง รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ กล่าวว่า สถานการณ์การเล่นของเด็กในระดับนานาชาติ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากผลการศึกษาปัญหาการเล่นของเด็กใน 8 ประเทศ พบปัญหาคล้ายคลึง เช่น ผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย พ่อแม่กลัวอันตราย หน่วยงานราชการไม่มีนโยบายสนับสนุนการเล่นหรือมีแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีพื้นที่ ไม่มีของเล่น แรงกดดันจากพ่อแม่ที่เด็กต้องเรียนเก่ง ไม่มีกำหนดเวลาเล่นเมื่อไปโรงเรียน เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตเด็กมากจนเกินไป

          "สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการเล่นอิสระของเด็ก แม้ว่าการเล่นจะเป็นหนึ่งในสิทธิที่เด็กพึงได้รับ โดยได้ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 ว่า เด็กมีสิทธิที่จะมีการพักและเวลาพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นสันทนาการที่เหมาะสมตามวัย การมีส่วนร่วมอย่างมีเสรีภาพเหมาะสม แต่กลับเป็นสิทธิที่ถูกลืม คิดว่าเด็กเล่นอยู่แล้วเลยไม่ได้สนใจ มองข้ามเพิกเฉยทั้งที่จริงแล้วสำคัญมาก" เคธีกล่าว

          เคธี บอกด้วยว่า สมาคมการเล่นนานาชาติจึงมีการขับเคลื่อนส่งเสริมให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของสิทธิเด็กโดยผลักดัน 4 ประเด็นสำคัญคือ 1.ส่งเสริมสิทธิของเด็กในการเล่น นิยามการเล่นในมุมมองของเด็ก คือเด็กเป็นผู้ริเริ่ม เกิดจากแรงจูงใจภายในของเด็ก ยืดหยุ่นได้ 2.สนับสนุนให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมการเล่นของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กสามารถเล่นได้ทุกที่ ทุกโอกาส ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายส่วนไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครู แพทย์ ฯลฯ 3.มีสนามเด็กเล่นที่ไม่กีดกั้นการเข้าถึงของเด็กทุกคน โดยสร้างสนามเด็กเล่นที่สนุกสนาน ปลอดภัย ส่งเสริมจินตนาการ ไม่กลัวความเสี่ยงแต่สามารถจัดการความเสี่ยงได้  4.สร้างเมืองที่เป็นมิตรกับเด็กทุกคนมีส่วนร่วมเข้าถึงได้ เช่นที่แคนาดา มีทางเท้าที่เด็กสามารถเดินทางบ้านไปโรงเรียน หรือไปสนามเด็กเล่น อย่างปลอดภัย หรือบ้านที่เป็นมิตรกับการเล่น

          ยิ่งเล่นสมอง (เด็ก) ยิ่งพัฒนา

          รศ.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกถึงผลการวิจัยการเล่นกับการพัฒนาสมองว่า จากโครงการเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พ.ศ.2559 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ให้ข้อมูลการใช้เวลาในแต่ละวันของเด็กไทยว่า เนือยนิ่ง 13.08 ชั่วโมง ติดจอ 3.09 ชั่วโมง และวิ่งเล่น 0.42 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าเวลาในการวิ่งเล่นมีน้อย ทั้งนี้ 5 คำถามที่มีการสงสัย คือ

          1.การให้เด็กมีกิจกรรมทางกายหรือได้เล่นแล้วจะฉลาดหรือไม่ ซึ่งการมีกิจกรรมทางกาย สมองส่วนกลางจะทำงาน ทำให้สมองส่วนเกรย์ เมทเทอร์(Gray matter) หนา ใหญ่และแข็งแรงขึ้น โดยส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ความจำถูกเก็บไว้ หากส่วนนี้จะยิ่งหนา ใหญ่ก็เหมือนสมองมีเมมโมรี่ที่จะเก็บได้มาก

          2.ออกกำลังกายแล้วความจำดีขึ้นหรือไม่ โดยกิจกรรมทางกายจะเพิ่มขนาดของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส(Hippocampus) ที่อยู่กลางสมอง หากมีขนาดใหญ่จะทำให้การรับสิ่งต่างๆหรือดาวน์โหลดข้อมูลเข้าสู่สมองง่ายไปหมด มีผลต่อความจำ

         3.ออกกำลังกาย ป้องกันความจำเสื่อมจริงหรือไม่ ซึ่งกิจกรรมทางกายเป็นการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดสู่สมอง ทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น เดินเร็ว 30-45 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ช่วยลดแนวโน้มของโรคความจำเสื่อม การออกกำลังกายที่ส่งเสริมความสมดุล ความคล่องแคล่ว ช่วยเสริมทักษะการรับรู้ และกระบวนการคิด เช่น การเต้นร่วมกันหลายๆคน การเดิน

          4.ออกกำลังกายแล้วเพิ่มสมาธิหรือไม่ โดยมีงานวิจัยในเนเธอร์แลนด์พบว่า กลุ่มนักเรียนที่ออกกำลังกายหลังเลิกเรียนมีแนวโน้มในการทนต่อการถูกรบกวนได้ดีขึ้น ทำงานขนานกันได้มากขึ้น ประมวลผลทางความคิดได้ดีขึ้น และการทดสอบในนักเรียนที่ประเทศเยอรมนี พบว่า 10 นาทีเพื่อทำกิจกรรมให้หลายส่วนของสมองทำงานพร้อมกันช่วยเพิ่มสมาธิ และ

          5.ออกกำลังกายแล้วสุขภาพจิตดีหรือไม่ การทำสมาธิและเล่นโยคะ 8 สัปดาห์ ลดขนาดของอมิกดาลา (Amygdala) ส่วนหนึ่งของสมองเกี่ยวกับความกลัว ความวิตกกังวล เมื่ออมิกดาลาเล็กลง ก็ลดอาการหดหู่ ความกลัว วิตกกังวล ขณะเดียวกันเพิ่มฮอร์โมนเอนโดฟิน เพิ่มความสุข ลดความเครียด

          "เหล่านี้เป็นผลของการเล่นหรือการมีกิจกรรมทางกายที่ส่งผลดีต่อสมองส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือไม่สามารถช่วยทำให้เกิดขึ้นได้" รศ.ยศชนันกล่าว  รศ.ยศชนัน เปิดเผยด้วยว่า จากการศึกษาเรื่อง "ออกมาเล่น"(Active Play) หรือการเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อโครงสร้างและทำให้มีการใช้พลังงานของร่างกายมีทั้งระดับเบา ปานกลางและหนักกับสมอง ด้วยการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองก่อนและหลังเล่นในเด็กทั่วประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ประถมต้นอายุ 6-9 ปีและประถมปลาย 9-12 ปี ในพื้นที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯและขอนแก่น รวมจำนวน 116 คน โดยปล่อยให้เด็กเข้าฐานเพื่อเล่นในกิจกรรมนันทนาการตามช่วงวัย สรุปกิจกรรมและแนะนำน้องๆในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเล่น

          "การวัดคลื่นไฟฟ้าสมองหลังเด็กได้เล่นและวัดหลังจากนั้น 1 เดือนเพราะเด็กต้องทำกิจกรรมการเล่นทุกวันอยู่แล้วสิ่งที่พบ คือ สมองไม่ยุ่งเหยิง และเป็นสมองที่พร้อมในการเรียนรู้" รศ.ยศชนันกล่าว

          รศ.ยศชนัน บอกด้วยว่า เมืองไทยมีสิ่งที่เป็นคัมภีร์ทั้งรำไทย โขน หรือรำวงมาตรฐาน 12 ท่า เป็นสิ่งที่ช่วยให้มีการพัฒนาสมองครบทุกส่วน ไม่ต้องไปแสวงหากิจกรรมอื่นที่ไกล มีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่เชย แต่หากส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และทำแล้วจะทำให้ช่วยพัฒนาสมองดีขึ้น เนื่องจากรำไทยมีการขยับร่างกายเกือบทุกส่วน สมองส่วนกลางทำงาน ต้องคอยมองคู่รำจากสายตา สมองส่วนหลังทำงาน  ต้องจดจำท่าทางสมองส่วนฮิปโปแคมปัสทำงาน ต้องตัดสินใจว่าท่าต่อไปจะเป็นท่ารำอะไรสมองส่วนหน้าทำงาน เป็นการใช้สมองทุกส่วน

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ