ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยปมวาทะ ?ยุบ กศน.?  (อ่าน 2253 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: สิงหาคม 21, 2017, 12:43:10 AM
ว่าด้วยปมวาทะ ?ยุบ กศน.?
*******************

เมื่อวานถึงวันนี้ ยังมีชาว กศน. เป็นเดือดเป็นร้อน ที่มีกระแสข่าวว่า นักวิชาการท่านหนึ่ง โจมตี กศน. ว่าควรให้ ?ยุบ กศน.? เพราะการทำงานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ นักศึกษาที่จบ กศน. อ่านไม่ค่อยออกเขียนไม่ค่อยได้ เป็นการเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์นั้น ในฐานะ คน กศน. มองว่า นี่คือ ปรากฏการณ์หนึ่ง และคือกระจก สะท้อนภาพลักษณ์ของเรา

ก่อนจะพูดถึงเรื่องกระจกนั้น ต้องย้อนกลับมามองตัวเราเองว่า ที่นักวิชาการท่านนั้นพูด ?จริงหรือไม่? มีส่วนจริงหรือไม่จริงมากน้อยเพียงไร ผมเชื่อว่า คนที่มุ่งมั่นตั้งใจ เสียสละในการทำงานให้ กศน. นั้น ต้องเกิดความรู้สึกไม่พอใจและโกรธที่ถูกต่อว่าเหยียดหยามในครั้งนี้อย่างแน่นอน

ในฐานะที่เป็นลูกหม้อ กศน. ตลอดเวลาการทำงาน 17 ปี ถึงจะเป็นเวลาไม่มากนัก แต่ก็ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนผ่านในบริบทการทำงาน ดังนั้นจะขอกล่าวในมุมมองที่ได้รับรู้ข่าวสารนี้ และปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น และพูดในภาพรวม ซึ่งการจัดการศึกษาประเภทอื่นก็มีปัญหาเช่นกัน แต่ไม่ขอกล่าวถึง และจะพูดอย่างไม่อคติ

ประการแรกเราต้องยอมรับว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นมีความจริงปะปนอยู่ ซึ่งเชื่อว่ายังมีนักวิชาการ ตลอดจนคนบางกลุ่มในสังคมมองเราแบบนั้นจริง เราต้องยอมรับคำวิจารณ์นั้น และเอาปัญหามาปรับปรุงแก้ไข ทำอย่างไร ให้คน กศน. ที่ทำงานเพื่อประชาชนส่วนใหญ่จะไม่โดนเหมารวมไปด้วย เพราะในทุกองค์กรนั้นมีทั้งผู้คนที่ตั้งใจทำงานด้วยอุดมการณ์และคนที่ทำงานไปวันๆ

ประการที่สอง ปัญหาที่ถูกโจมตี คือคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจุบัน กศน. เราอิงจำนวนเป้าหมายของครูต่อจำนวนเด็กมากไปหรือไม่ กับคุณภาพที่อยากให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง (((ซึ่งครู กศน.เรา ไม่ได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ยังมีการศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาตามอัธยาศัย และงานนโยบายรายวัน รายเดือน รายปี จนไม่มีเวลาและทุ่มเทให้กับการสอน))) ทำอย่างไรการจัดการศึกษาไม่ต้องอิงจำนวนเป้าหมายมากนัก แต่เน้นเรื่องคุณภาพ ซึ่งจำนวนกลุ่มเป้าหมายนั้นยังผูกติดกับงบประมาณค่าจ้างครู จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ประการที่สาม ปัญหาด้านหลักสูตรและรายวิชาที่เรียน มีจำนวนมากไปหรือไม่ นักการศึกษาหลายท่านของ กศน. กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เหมาะสมกับนักศึกษา กศน. มากที่สุด มีรายวิชาไม่มาก ง่ายต่อการเรียนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่ให้ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน เพื่อความทันสมัย แท้ที่จริง รายวิชาในปัจจุบัน ก็แตกมาจากรายวิชาหลักในหลักสูตร พุทธศักราช 2544 เพิ่มเติมรายวิชาเลือกเข้าไป ให้สอดคล้องกับผู้เรียนและบริบทของชุมชน เราจะปรับปรุงหรือไม่ตรงจุดนี้ เพื่อให้ตรงกับสภาพผู้เรียนของเรา (ครูบางท่านยังจำรายวิชาไม่หมดแล้วลูกศิษย์ซึ่งแต่ละคนเราก็รับรู้ปัญหาอยู่ จะจำหมดได้อย่างไร)

ประการที่สี่ กลุ่มเป้าหมายของเราที่มาเรียน อายุเฉลี่ยลดน้อยลง เป็นเด็กที่ออกกลางคัน และเบื่อการเรียนในระบบ เราจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งให้ชัดเจนได้หรือไม่ (อาจใช้ช่วงอายุเป็นตัวกำหนด) และต้องแยกให้ออกด้วยว่า การศึกษาภาคบังคับกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มันมีช่องว่างอย่างไร ((ถ้าเด็กจบ ม.3 ภาคบังคับ จากในระบบแล้ว มาเลือกเรียน ม.ปลาย กับเรา เราผิดหรือไม่ในเมื่อพวกเขานั้นต้องการ))

และควรให้ในระบบมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ ควบคู่กัน และพื้นฐานการอ่านไม่ค่อยออกเขียนไม่ค่อยได้ เริ่มมาจากการสอนในระบบหรือไม่ ในเมื่อในระบบไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้สำเร็จได้พวกเขาจึงต้องมาหาเรา ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่พลาดโอกาส ขาดโอกาส และด้อยโอกาส ซึ่งมีความต่างของอายุ เพศ พื้นฐานการศึกษา พื้นฐานครอบครัว และการประกอบอาชีพนั้น เราจัดการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตต้องชี้แจงให้ชัดเจน

ประการสุดท้าย การประชาสัมพันธ์ของเราเป็นดาบสองคม เราบอกสังคมเสมอ ว่าคนที่เรียน กศน. จบไปมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด และคุณวุฒิเทียบเท่ากับในระบบ เรายินดีในความสำเร็จของเรา แม้ว่าเมื่อเริ่มต้นผู้เรียนจะมีพื้นฐานความรู้และความหลากหลายก็ตาม เขาจึงอาจไม่เชื่อมั่น ดังนั้นเขาจึงโจมตีเรื่องมาตรฐานความรู้คนที่จบจากเรา

ในระบบก็มีปัญหาคุณภาพของผู้เรียนเช่นกัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรา โรงเรียนยังมีหลายเกรด ทุกสิ่งมีสองด้าน เราจึงควรหวนกลับมาคิดและแก้ไขปัญหา และประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้คนภายนอกได้รับรู้และเข้าใจว่า กศน. ทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร มีความหลากหลายและยุ่งยากในการจัดการศึกษาขนาดไหน เป็นที่พึ่งของคนที่ขาดโอกาส พลาดโอกาส และด้อยโอกาสมากน้อยเพียงใด และเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติอย่างไร ดีกว่าไปโจมตีคนที่คิดต่างกับเราหรือไม่เข้าใจการทำงานของเราซึ่งอาจเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ยกประเด็นปัญหาคร่าวๆมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งมีมากกว่านี้ หลายคนอาจมีมุมมองที่ต่างกัน แต่จุดหมายปลายทาง กศน. ของพวกเรา คือ ?จัดการศึกษาเพื่อลดความเลื่อมล้ำของสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต?

วันนี้กระจก ได้ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมบางกลุ่ม มอง กศน. เช่นไร กระจกที่ว่านี้ ใส หรือ ขุ่นมัวไม่ชัดเจนด้วยความคิดอคติหรือไม่ ต่ออุดมการณ์และแนวทางของพวกเรา แต่สิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนกับข่าวนี้ก็คือ คน กศน. ส่วนใหญ่ที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานด้วยอุดมการณ์ไม่พอใจ และอาจเกิดความเกลียดชัง เพราะความรักที่มีต่อองค์กรต่อวิชาชีพ แล้วคนบางกลุ่มใน กศน. ของเราที่ไม่ทำงาน อยู่ไปวันๆ และทำแบบนั้นจริงๆล่ะ เขาเดือนร้อนกับเรื่องนี้หรือไม่ เราจะแก้ไขอย่างไร ลองหันกลับมามองตัวเองเมื่อมีสังคมเป็นกระจกสะท้อนการทำงานขององค์กรเรา ครับ

*************************
เลิศชาย ปานมุข
19 สิงหาคม พ.ศ.2560