ผู้เขียน หัวข้อ: เกื้อกูลกันฉันมือขวาและมือซ้าย  (อ่าน 2179 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 08:31:19 PM
วารสารสุขศาลา ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒๐  : เกื้อกูลกันฉันมือขวาและมือซ้าย โดย พระไพศาล วิสาโล

ผู้หญิงคนหนึ่งร่างกายซีกซ้ายไม่มีความรู้สึก เพราะสมองบางส่วนตายไปเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก  หมอพยายามทดสอบว่าร่างกายซีกซ้ายมีความรู้สึกแค่ไหน ด้วยการนำสิ่งต่างๆ มาสัมผัสที่ร่างกายซีกซ้าย ปรากฏว่าคนไข้ไม่รู้สึกอะไรเลย  ระหว่างนั้นหมอสังเกตเห็นว่า คนไข้เอามือขวาลูบแขนซ้ายอยู่หลายครั้ง หมอแปลกใจว่าคนไข้ทำเช่นนั้นทำไมในเมื่อแขนซ้ายไม่สามารถรับความรู้สึกได้  เมื่อสอบถามคนไข้ ก็ได้คำตอบว่า เวลาเธอเอามือขวาสัมผัสร่างกายซีกซ้าย เธอสามารถรับรู้ความรู้สึกได้   หมอแปลกใจมากว่าซีกซ้ายของเธอรับรู้สัมผัสจากมือขวาได้ แต่กลับไม่สามารถรับรู้เวลาหมอเอาสิ่งต่าง ๆ มาสัมผัส

เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างมือซ้ายกับมือขวา หรือแขนซ้ายกับแขนขวา

เวลามือซ้ายเจ็บปวด เช่น โดนตะปูตี โดนค้อนทุบ ปฏิกิริยาแรกของเราคือ มือขวาจะรีบไปกุมมือซ้ายที่เจ็บปวดทันที  มันไม่ใช่เแค่ปฏิกิริยาอัตโนมัติธรรมดา เพราะมีการทดลองมานานแล้วว่า เวลามือซ้ายปวดแล้วมือขวาไม่ได้ไปทำอะไรกับมือซ้าย ความปวดจะมากขึ้น แต่ทันทีที่มือขวาไปสัมผัสหรือกุมมือซ้ายไว้ จะช่วยลดความปวดลงได้

ท่านติช นัท ฮันห์ ได้บรรยายเรื่องนี้ไว้เป็นคติสอนธรรมได้ดีว่า

เมื่อมือซ้ายได้รับความเจ็บปวดขึ้นมาโดยฉับพลัน มือขวาจะรีบไปช่วยเหลือมือซ้ายทันที โดยที่ไม่ถามว่าทำแล้วจะได้อะไร ไม่ถามว่ามือซ้ายเป็นใคร ไม่มีความรังเกียจหรืออิจฉามือซ้ายว่าเวลามีงานอะไร มือซ้ายไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย มีแต่มือขวาที่ถูกใช้งาน  มือขวายช่วยมือซ้ายโดยไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าฉันถูกเอาเปรียบ ฉันทำงานหนักกว่าเธอ มือซ้ายก็เช่นเดียวกันเวลาเห็นมือขวาปวดก็ไม่ได้คิดตั้งแง่ว่า เจ้านายรักมือขวามากกว่า มีอะไรก็ใช้แต่มือขวา ไม่สนใจมือซ้าย เวลาจะใช้งานฉันก็ใช้ในทางที่ไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่  เวลาจะล้างก้นก็ใช้แต่มือซ้าย  มือซ้ายไม่เคยคิดแบบนั้น ทันทีที่รู้ว่ามือขวาปวดก็รีบเข้าไปช่วยทันทีเป็นการช่วยแบบไม่มีเงื่อนไข

ท่านเปรียบเทียบให้เห็นความสัมพันธ์ของมือซ้ายและมือขวา เพื่อที่จะโยงไปถึงความเมตตากรุณาที่มนุษย์พึงมีต่อกัน

คนเราควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ คือเข้าไปช่วยเหลือกันทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการตั้งข้อรังเกียจใดๆ ทั้งสิ้น มองให้ดีนี้คือความสัมพันธ์แบบ ?ไม่มีตัวกูของกู? นั่นเอง

ถ้ามือซ้ายและมือขวามีความรู้สึกว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร แล้วเธอเป็นใคร ความคิดแบบนี้เป็นอาการของการยึดติดในตัวกูของกู ทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา

ท่านยังสอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันว่า ไม่ควรจะมีความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเรา หรือทำไปด้วยความรู้สึกติดยึดในตัวกูของกู  จิตใจเช่นนี้จะเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา อยากช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยไม่มีเงื่อนไข  ตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า  ความเมตตาที่ไม่มีประมาณเกิดจากการมีปัญญาอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งเห็นว่าตัวกูนั้นไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีความเห็นแก่ตัวแม้แต่น้อย

ปัญญาและเมตตากรุณามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ปัญญา คือสิ่งที่ช่วยขจัดมายาภาพหรือความหลงเกี่ยวกับตัวกูของกู   คือทำให้เห็นว่าตัวกูของกูนั้นไม่มีอยู่จริง เมื่อมีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งเช่นนี้ ความยึดติดในตัวกูของกู หรืออัตตวานุปาทานก็หมดไป  ไม่มีความเห็นแก่ตัวอีกต่อไป จึงเกิดเมตตากรุณาอย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นเราเป็นเขา  เห็นมนุษย์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เหมือนกันหมด นี้เป็นอุดมคติของชาวพุทธ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทรงมีเมตาต่อพระราหุลอย่างไร ก็ทรงมีเมตตาต่อพระเทวทัตอย่างนั้น

คนเรานั้นมีจิตใจ ที่สามารถสัมผัสหรือเข้าถึงความรู้สึกของกันและกันได้โดยเฉพาะเมื่อมีความผูกพันกันประหนึ่งมีใจดวงเดียวกัน  ดังเช่นมือซ้ายของผู้หญิงคนนี้สามารถรับรู้ได้เมื่อมีมือขวามาสัมผัส ความรับรู้นี้เกิดขึ้นได้เพราะมือขวากับมือซ้ายนั้นผูกพันกันมาก  ในทำนองเดียวกันคนที่ผูกพันกันก็สามารถรับรู้ทุกความรู้สึกที่อยู่ในใจของอีกฝ่ายได้ไม่ว่าสุขและทุกข์  อันนี้เป็นผลจากเมตตากรุณาที่มี่ต่อกันจนนรู้สึกเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่คนอื่นอาจจะไม่สามารถหยั่งเข้าไปถึงได้

มือขวากับมือซ้ายก็เป็นเช่นนั้น เพียงแค่มือขวาสัมผัสมือซ้าย ไม่ต้องให้ใครสัมผัส ก็ทำให้ความปวดทุเลาเบาบางได้   เรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาที่มีมานาน และนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็รับรอง หลังจากทำการทดลองแล้วพบว่า ถ้ามือขวาไม่สัมผัสกับมือซ้าย มือซ้ายจะปวดมากขึ้นกว่าเดิม แต่พอได้สัมผัสแล้วความปวดลดลง แต่ไม่ได้เป็นเฉพาะมือขวาและมือซ้ายของตัวเองเท่านั้น การให้มือขวาของคนอื่นมาสัมผัสก็ช่วยได้ ดังนั้นประโยชน์ของการสัมผัสคือ ถ้ามีคนป่วยแล้วมีอีกคนมาสัมผัสด้วยความเมตตากรุณาก็จะช่วยบรรเทาความปวดได้

ความเมตตากรุณาของคนภายนอกนั้น เป็นสิ่งที่ต้องแสดงออกมาให้เห็นก่อนที่จะสัมผัส หรือในระหว่างที่สัมผัส เช่น ความอ่อนโยน นุ่มนวล ทางสีหน้าหรือน้ำเสียง เพื่อคนที่เจ็บปวดจะรับรู้ถึงเมตตาและทำให้ความเจ็บปวดนั้นทุเลาได้ แต่มือขวาไม่ต้องแสดงอาการอย่างนั้นกับมือซ้ายก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น มือซ้ายก็สบาย รู้สึกดีขึ้นเพราะรู้ว่าเมีความปรารถนาดี มันเป็นความเชื่อมโยงที่สัมผัสกันได้ สามารถเกิดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

เป็นเรื่องที่ดีมากหากเราปฏิบัติต่อกันเหมือนมือขวาและมือซ้ายได้ โดยเริ่มต้นที่คนใกล้ชิดก่อน คือเพื่อนกับเพื่อน พี่กับน้อง สามีกับภรรยา แล้วขยายไปถึงเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เพื่อนที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน หรือเพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ขยายออกไปแม้กระทั่งกับคนที่ไม่ใช่เพื่อนหรือเป็นเพียงแค่เพื่อนมนุษย์ก็สัมพันธ์ในลักษณะนั้นได้ แม้เป็นเรื่องยากแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะนี่ก็เป็นอุดมคติของมนุษย์ที่ควรทำต่อกัน เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้แสดงเป็นแบบอย่างแก่เรา

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อย่างมือซ้ายและมือขวานี้ควรเกิดขึ้นระหว่างกายกับใจเราด้วย ถ้ากายกับใจอยู่ใกล้ชิดกัน มีความสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว เราจะทุกข์น้อยลงมาก แต่อย่างที่เรารู้กัน กายกับใจบางครั้งก็ไม่ได้ใกล้ชิดกันหรือช่วยเหลือกันเท่าไหร่ เวลากายปวด บ่อยครั้งใจกลับซ้ำเติม ทำให้กายแย่ลง เช่น พอรู้ว่าร่างกายมีก้อนมะเร็ง ใจก็ซึมเศร้า ทำให้หมดเรี่ยวแรงไปเลย  หรือพอวิตกกังวลว่า ?ฉันจะตายแล้วหรือนี่? กายก็ทรุดหนักลงหรือตายเร็วขึ้น เช่น คุณป้าคนหนึ่งไปหาหมอหลายครั้งโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร  กระทั่งวันหนึ่งหมอบอกว่า ?ป้าเป็นมะเร็งตับนะ อยู่ได้ไม่เกินสามเดือน? ปรากฏว่าป้าตกใจมาก   กินไม่ได้นอนไม่หลับ วิตกกังวลสารพัด สุดท้ายอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย

อย่างนี้เรียกว่าใจไปซ้ำเติมกาย แทนที่จะช่วยพยุงให้กายให้ดีขึ้น กลับฉุดให้ย่ำแย่ลง บางคนร่างกายปกติดี แต่ใจเต็มไปด้วยความโกรธเกลียด เคียดแค้นพยาบาท ร่างกายก็เลยป่วย ความดันสูง ปวดหัว ปวดท้องเรื้อรัง รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย  เพราะหมอหาสาเหตุทางกายก็ไม่พบ ได้แต่รักษาตามอาการ นี่เรียกว่าใจไปซ้ำเติมกาย หรือทำร้ายร่างกาย

หน้าที่ที่ใจควรมีต่อกาย คือช่วยให้ดีขึ้น ไม่ใช่ซ้ำเติมให้แย่ลง หากใจเป็นมิตรกับกาย ใจจะไม่ทำอย่างนั้น พอกายแย่ ใจจะช่วยให้กำลังใจ  มองแง่บวก นึกถึงสิ่งดี ๆ ที่เป็นกุศล หรือมีสมาธิ ร่างกายก็จะหายไวขึ้น  เจ็บปวดน้อยลง  อันที่จริงเพียงแค่ทำใจให้เป็นปกติ  ไม่ตีโพยตีพาย ก็ช่วยความเจ็บปวดของกายทุเลาลงได้

ถ้ากายกับใจเกื้อกูลกันเหมือนกับมือซ้ายและมือขวา เราจะมีความสุขได้ง่ายมาก ความทุกข์จะลดลงไปเยอะ เช่นเมื่อทำอะไร ใจก็รู้  มีสติ รู้ตัว ความรู้ตัวจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อน เวลาขับรถ ก็ถึงที่หมายโดยปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุ  ควบคุมเครื่องจักร ก็ไม่เผลอจนเกิดความผิดพลาด ถึงกับเสียมือเสียขาไป   เวลาพักผ่อน ใจก็ไม่คิดฟุ้งซ่าน ทำให้หลับได้ง่าย ร่างกายก็มีสุขภาพดี

ที่พูดมาเป็นเรื่องใจช่วยกาย  ที่จริงกายก็ช่วยใจได้มากมาย ก่อนอาตมาบวชมีช่วงหนึ่งที่เซ็งสุดๆ ไม่มีความกระตือรือร้น ตื่นก็สาย แม้กระนั้นก็ซึมเซาทั้งวัน เรียกว่าถีนมิทธะครอบงำ เวลาประชุมก็จะง่วงนอนไม่มีส่วนร่วมกับวงประชุมเลย ทั้งๆ ที่อายุเพียง ๒๔ ปีเท่านั้น  ทีแรกก็คิดว่าเป็นเพราะเหนื่อยอ่อน จึงพักผ่อนให้มากขึ้น แต่กลับเฉื่อยชายิ่งกว่าเดิม ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่หาย จนได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง ก็เกิดกำลังใจ พยายามเคี่ยวเข็ญให้ตัวเองตื่นแต่เช้า ไปวิ่งจ๊อกกิ้งออกกำลังกาย ทีแรกก็ลำบากมากเพราะไม่อยากตื่นเช้า แต่ผ่านไปไม่กี่วันก็รู้สึกดีขึ้น เกิดความกระฉับกระเฉงขึ้นมาก  อันนี้เป็นเพราะเมื่อร่างกายแข็งแรงตื่นตัว ก็ช่วยกดใจให้หายเบื่อหายเซ็ง

เราจะสังเกตเห็นเรื่องทำนองนี้ได้จากชีวิตประจำวัน เช่น เวลารู้สึกท้อแท้เพราะเจออุปสรรคมากมาย หรือเหนื่อยอ่อนเพราะทำงานมาทั้งวัน แต่พอได้นอนเต็มที่ ตื่นขึ้นมาความรู้สึกจะเปลี่ยนไป  มีกำลังใจมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ยังเหมือนเดิม แต่รู้สึกมีเรี่ยวแรงขึ้นมา ไม่ใช่ที่กายแต่ที่ใจ  ดังนั้นเวลาใจมีปัญหา กายต้องช่วยด้วย  ดูแลกายให้ดีเพื่อฉุดใจขึ้นมา ไม่ใช่ไปซ้ำเติม เช่น  พอจิตใจท้อแท้ห่อเหี่ยว ก็ไปเที่ยวกลางคืน กินเหล้า เพราะหวังว่าจะทำให้ลืมความทุกข์ หายเศร้า กลับทำให้แย่กว่าเดิม เพราะการใช้ชีวิตแบบนั้นทำให้ร่างกายเหนื่อยอ่อนมากขึ้น  จิตใจเลยแย่ลง นี่เรียกว่าฉุดกันลง ไม่ได้ช่วยกันฉุดขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเราไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากใครเลยก็ได้ เพียงแค่กายกับใจช่วยกัน อยู่เคียงคู่กัน กายอยู่ไหน ใจอยู่นั่น มีสติตื่นรู้ อันตรายที่เกิดขึ้นกับกายกับใจก็น้อยลง



ที่มา  :  http://www.visalo.org/article/suksala20.htm