ผู้เขียน หัวข้อ: ทำผิดเมื่อยึดติดความดี  (อ่าน 1895 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 08:26:59 PM
ทำผิดเมื่อยึดติดความดี
พระไพศาล วิสาโล


ยุคนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย หลากหลายแตกต่างทั้งในแง่วิถีชีวิต ทัศนคติ มุมมองและผลประโยชน์ เป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นไม่จำเพาะระหว่างคนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจต่างกันเท่านั้น แม้คนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจเหมือนกัน ก็ยังมีแง่รสนิยม การดำเนินชีวิต และมุมมองที่ต่างกัน คุณค่าบางอย่างที่เราเห็นว่าสำคัญอย่างแน่แท้ เป็นอื่นไปไม่ได้ แต่คนอื่นกลับไม่เห็นเช่นนั้น กลับชื่นชมยึดถือสิ่งที่เราเห็นว่าไร้คุณค่า ไม่น่ายึดถือเลย กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เห็นเป็นเรื่องผิดเพี้ยนหรือวิปริตไป ถึงกับทับถมดูถูกกัน
              
ความหลากหลายแตกต่างดังกล่าว คือความจริงอย่างหนึ่งของโลกทุกวันนี้ที่เราควรเปิดใจยอมรับ เช่นเดียวกับที่ต้องยอมรับว่าความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากและความตายเป็นความจริงของชีวิตที่เราหนีไม่พ้น หากเราปฏิเสธความจริงแห่งชีวิตดังกล่าว เราก็จะถูกความจริงนั้นตามล่าหลอกหลอนจนหาความสุขได้ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ความจริงของโลก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธผลักไสต่อต้านมัน

อย่างไรก็ตาม การยอมรับความหลากหลายหรือความเห็นต่างของผู้อื่น จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเราวางใจอย่างถูกต้องต่อคุณค่าหรือความคิดที่เรายึดถือด้วย  ถ้าหากเรายึดติดถือมั่นมากเกินไป เห็นว่าเป็นความจริงแท้ เราย่อมอดไม่ได้ที่จะดูถูกคนที่ไม่ได้ยึดถือหรือคิดเหมือนเรา ใช่แต่เท่านั้น เมื่อใดที่เราเห็นเขาไม่เคารพสิ่งที่ยึดถือเทิดทูน เราก็จะรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ หรือรู้สึกถูกละเมิดลบหลู่ จึงง่ายที่จะเกิดความรู้สึกโกรธเกลียดคนผู้นั้น ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้พูดร้ายหรือจ้วงจาบสิ่งที่เราเคารพเลย ดังที่ชาวพุทธหลายคนอาจจะเคยรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นเพื่อนชาวคริสต์หรือมุสลิมไม่กราบไหว้พระพุทธรูป ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้แสดงอาการดูหมิ่นเหยียดหยามเลย แต่แค่เขาไม่กราบไหว้นอบน้อมเหมือนเรา ก็ทำให้เราขุ่นเคืองใจหรือรู้สึกถูกละเมิดเสียแล้ว

อาการเช่นนั้นเกิดจากอะไร หากไม่ใช่เป็นเพราะเราเอาอัตตาไปผูกติดกับสิ่งเหล่านั้น หรือพูดอีกอย่างคือ ยึดติดถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นอัตตาหรือตัวตนของเรา  เมื่อคนอื่นไม่แสดงอาการเคารพเชิดชูสิ่งนั้น เราจึงรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ จึงเกิดความทุกข์ ตามมาด้วยความไม่พอใจ ซึ่งหากไม่มีสติรู้ทัน ก็สามารถลุกลามเป็นความโกรธและเกลียด และอาจส่งผลให้มีการกล่าวร้ายหรือทำร้ายกัน

สิ่งที่ดี มีคุณค่า หากเรายึดติดถือมั่น ก็อาจส่งผลร้ายได้ ดังหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต จ.ระยอง ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ?ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด? ตัวอย่างเช่น คนที่ทำความดีแล้วยึดติดในความดีนั้น ง่ายมากที่จะเกิดความหลงตนว่าดีกว่าคนอื่น เกิดอาการยกตนข่มท่านและชอบเอาความดีของตนไปตัดสินผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เห็นคนอื่นไม่ดีเหมือนตนหรือไม่ดีเหมือนที่ตนคิด ก็จะไม่พอใจเขา เห็นเขาเป็นลบทันที คนดีที่ยึดติดความดีของตน จึงกลายเป็นคนที่น่าระอา ไม่น่าคบ หรือเบียดเบียนคนอื่นได้ง่าย  

ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของการทำร้ายผู้อื่นในนามของคุณธรรมความดี  ยิ่งมีการตีตราหรือแขวนป้ายใครว่าเป็นคนเลว ประพฤติผิดศีลธรรม ด้วยแล้ว ผู้คนก็รู้สึกว่ามีความชอบธรรมที่จะกำจัดเขา หรือใช้วิธีการใด ๆ กับเขาก็ได้ แม้จะเป็นวิธีการที่ฉ้อฉล ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องความดี การยึดติดความดี จึงสามารถผลักให้ ?คนดี? ทำชั่วได้ง่ายมากในนามของความดี ซึ่งแท้จริงก็คือการทำชั่วเพื่อสนองอัตตาของตนมากกว่า ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ ภิกษุชาวภูฏาน กล่าวเตือนใจได้ดีว่า ?ศีลธรรมคืออาหารของอัตตา ทำให้เรากลายเป็นพวกเคร่งศาสนา และตัดสินผู้อื่นซึ่งมีศีลธรรมแตกต่างจากเรา การยึดมั่นในศีลธรรมในแบบฉบับของตนทำให้เราดูถูกผู้อื่น และพยายามจะยัดเยียดศีลธรรมของตนแก่เขาเหล่านั้น แม้มันจะหมายถึงการฉกฉวยเสรีภาพไปจากเขาก็ตาม?

ความดีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ไม่จำต้องเป็นความดีตามหลักศาสนาก็ได้ แม้แต่ความดีตามมาตรฐานของอุดมการณ์ทางโลก ไม่ว่า ชาตินิยม ประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ หากยึดติดถือมั่นก็สามารถผลักดันหรือสนับสนุนให้เราทำสิ่งเลวร้ายได้ ช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ เพียงเพราะเห็นต่างจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ผลก็คือคนเหล่านี้กลายเป็นคนเลวของรัฐไปทันที ดังนั้น ?คนดี? จึงสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้ เช่น รุมซ้อมทุบตีเขาก็ได้ ภรรยาของประธานเหมา กล่าวสนับสนุนการกระทำดังกล่าวว่า ?เมื่อคนดีทุบตีคนเลว นั่นเป็นสิ่งที่คนเลวสมควรได้รับ?

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ตัดสินว่าใครเป็นคนเลว นั่นคือการออกใบอนุญาตให้คนดีมีสิทธิทำอย่างไรกับเขาก็ได้  คนเลวคนผิดจึงมีสิทธิเป็นศูนย์เมื่ออยู่ในมือของคนดี นี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงตระหนักเอาไว้  ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อจะตัดสินใครว่าเป็นคนเลว คนไม่ดี โดยใช้มาตรฐานทางศีลธรรมของตน เพราะนั่นอาจเปิดช่องให้กิเลสหรือทิฐิมานะครอบงำได้ง่าย กลายเป็นว่าแทนที่จะปกป้องความดี กลับส่งเสริมความชั่วแทน

การตัดสินว่าใครเป็นคนเลวนั้น มักจะเริ่มต้นจากการแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วตีตราแขวนป้ายให้เขา เช่น ทีแรกก็เป็น ?แดง? เป็น ?เหลือง? จากนั้นก็มีสมญานามอื่น ๆ ตามมาจนสุดท้าย กลายเป็น ?ควายแดง? กับ ?แมลงสาบ? หรือ ?ทุนนิยมสามานย์? กับ ?ศักดินาล้าหลัง? ตราหรือป้ายเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ถ้อยคำที่ใช้แสดงความดูถูกเหยียดหยามอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทัศนคติของผู้เรียก ทำให้เห็นแต่ด้านที่เลวร้ายของเขา หรือหลงติดอยู่กับภาพที่ตนเองสร้างขึ้น จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ถึงตรงนั้นแล้วก็ไม่ยากที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้จะใช้วิธีการที่เลวร้าย ก็ไม่รู้สึกผิด เพราะ ?มันเลว จึงไม่สมควรที่จะทำดีกับมัน? หรือเพราะว่า ?มันไม่ใช่มนุษย์แล้ว?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ?ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ ชื่อ? ท่านที่ศึกษาธรรมย่อมตระหนักดีว่า ชื่อที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ นั้น แม้เป็นสิ่งสมมุติ แต่ก็สามารถลวงให้เราเชื่อว่ามีตัวตนตามชื่อนั้น หรือมีตัวตนชื่อนั้นจริง ๆ ชื่อหรือสมมุติทำให้เรามองไม่เห็นธรรมชาติแท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ที่ไร้ตัวตน ในทำนองเดียวกันเมื่อเราตีตราแขวนป้ายให้แก่คนใดหรือคนกลุ่มใดก็ตาม เราก็มีแนวโน้มที่จะถูกตราหรือป้ายนั้นครอบงำใจ คือเห็นเขาตามชื่อเรียกนั้น จนมองไม่เห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน และสมควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เช่นเดียวกับเรา

ความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุดหากต่างฝ่ายต่างมองแบบแบ่งข้างแยกขั้ว ว่า ?ฉันดี แกเลว? ?ฉันถูก แกผิด? การมองเป็นขาวเป็นดำเช่นนี้ มีแต่จะทำให้เกิดการจองเวรไม่หยุดหย่อน แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายหันมาตระหนักว่า ความจริงไม่ได้แบ่งเป็นขาวและดำชัดเจนอย่างนั้น เราก็มีส่วนผิด และเขาก็มีส่วนถูก ความโกรธ เกลียด และกลัว ก็จะลดลง และหันหน้าเข้าหากันได้ง่ายขึ้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องคลายความยึดติดถือมั่นในความคิด ความเชื่อ หรือความดีของตน เพราะหากยังยึดติดถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ก็จะยอมรับความเห็นต่างได้ยาก และจะรู้สึกขุ่นเคืองใจเพราะตัวตนถูกกระทบ เมื่อพานพบหรือรับรู้ว่ามีคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับความคิดความเชื่อของเราหรือสิ่งที่เรายกย่องเทิดทูน


ืั้ที่มา : http://www.visalo.org/article/jitvivat255610.html