ผู้เขียน หัวข้อ: ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ : ยอดนักคิดและนักบริหารการศึกษา  (อ่าน 4844 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726

ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ที่บ้านตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนสุดท้องของนายหลีหั่นและนางกิมเอ็ง (แซ่แต้) วรพิพัฒน์ โดยมีพี่ 5 คน บิดามารดาของท่าน มีอาชีพปลูกผักผลไม้ เลี้ยงไก่ และค้าขายทางเรือระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ชีวิตวัยเด็กก่อนเข้าเรียนของท่านได้ติดตามบิดามารดาไปค้าขาย ได้ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ช่วยเหลือบิดามารดาด้วยความขยันขันแข็ง และสามารถมีรายได้ส่วนตัวจากการปลูกผัก เลี้ยงไก่ มีชีวิตวัยเด็กที่อิสระมีความสุข ได้สนุกสนานกับเพื่อน มีความรักความผูกพันกับพ่อแม่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ได้เรียนรู้และผูกพันกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต้นไม้และแม่น้ำลำคลอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาให้ท่านมีจิตใจที่ดีงาม ละเอียดอ่อน และเห็นช่องทางประกอบอาชีพมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน

ดร. โกวิทเข้าเรียนครั้งแรกตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2479 ใน พ.ศ. 2485 เมื่ออายุย่างเข้า 9 ปี ที่โรงเรียนบ้านปลายคลองบ้านหมู่ ตำบลเสม็ด อำเภอบางคล้า จบชั้นประถมปีที่ 2 แล้วติดตามพี่ชายที่บวชเป็นพระมาเป็นเด็กวัดและเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนประชาบาลวัดใหม่บางคล้า (อุดมกิจประชาสรรค์) ในอำเภอเดียวกัน จนจบชั้นประถมปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2488 ดร. โกวิทเรียนหนังสือเก่งมาก สอบได้ที่ 1 มาทุกชั้น ขณะที่เรียนชั้นประถมปีที่ 3 ได้ 1 ภาคเรียน ครูก็ให้ขึ้นไปเรียนชั้นประถมปีที่ 4 หลังจากนั้นก็สอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมาเป็นเด็กวัดที่วัดประตูน้ำท่าไข่ ซึ่งห่างจากโรงเรียนไม่ถึง 2 กิโลเมตร

ท่านจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยสอบได้ที่ 1 มาทุกชั้น หลังจากนั้นก็สอบได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูปราจีนบุรี 2 ปี จบประโยคครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ว) แล้วได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูสมุทรสงครามอีก 1 ปี จบประโยคครูมูล (ป) หลังจากที่รับราชการครูแล้ว ได้ศึกษาด้วยตนเองและสอบประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.) ได้ และระหว่างที่สอบชุดครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ได้ 3 ชุด ยังขาดอีก 1 ชุด นั้น ก็ได้รับทุน I.C.A (International Cooperation Agency) ให้ไปศึกษาดูงานและศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยยูถ่าห์ (University of Utah, Salt Lake City) ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรีการประถมศึกษา (B.S. in Elementary Education) และจบปริญญาโทการบริหารการศึกษา (M.S. in Educational Administration) เมื่ออายุ 26 ปี หลังจากกลับมาเป็นครูก็สอบชุดครู พ.ม. ที่ยังเหลืออีก 1 ชุดต่อจนได้ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ต่อมาได้ไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในมหาวิทยาลัยเดิม และจบปริญญาเอกการบริหารการศึกษา (Ph.D. in Educational Administration) เมื่อ พ.ศ. 2510

ดร. โกวิทเริ่มเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. 2495 ตำแหน่งครูจัตวาที่โรงเรียนวัดแหลมใต้ (สุดสุนทร) จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีประวัติการรับราชการต่อมาคือ เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดเทพนิมิตร จังหวัดฉะเชิงเทรา ปฏิบัติหน้าที่ศึกษานิเทศก์ฝายสามัญศึกษา ประจำภาคศึกษา 12 เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ ฝ่ายสามัญศึกษา ประจำภาคศึกษา 1 เป็นผู้อำนวยการกองการศึกษาผู้ใหญ่ เป็นรองอธิบดีกรมวิชาการ เป็นอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นอธิบดีกรมวิชาการ เป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา และเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2537

เมื่อตอนเป็นครู ดร. โกวิทเป็นครูที่มีความรู้ดี สอนเก่ง เล่นฟุตบอลเก่ง เป็นครูโครงการส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างครบถ้วนทั้งด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา คอยติดตามเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด ด้วยความรักความเมตตา นักเรียนคนใดที่ไม่มีอาหารกลางวันรับประทานก็จะจ่ายเงินส่วนตัวซื้ออาหารให้นักเรียนได้รับประทานกันทุกคน ตอนเย็นก็จะสอนฟุตบอลให้นักเรียน ออกไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองตลอดเวลา จึงเป็นที่รักของนักเรียน เพื่อนร่วมงาน ชาวบ้าน และผู้บังคับบัญชาอย่างมาก

ปกติดร.โกวิทจะไม่ลงโทษนักเรียนด้วยไม้เรียว เว้นแต่เป็นความผิดที่รุนแรงและได้มีกติการ่วมกันไว้แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ ศิษย์คนหนึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือไทรทอดเงา สรุปได้ว่า "เมื่อลงโทษด้วยไม้เรียวครั้งใด ท่านจะไม่ใช้อารมณ์ แต่จะถามถึงเหตุและผลของความผิด แล้วใช้คำพูดที่อ่อนโยนแต่กินใจ เพื่ออบรมให้นักเรียนสำนึกผิด เมื่อเฆี่ยนเสร็จก็จะหักไม้เรียวออกเป็นหลายท่อนโยนทิ้งถังขยะ และพูดด้วยประโยคสุดท้ายว่า ?ขอให้ความไม่ดีจงหมดไปกับไม้เรียวอันนี้ ครูไม่อยากเห็นความไม่ดีและการลงโทษเกิดขึ้นอีก? และหลังจากนั้นก็แทบจะไม่มีนักเรียนคนใดทำผิดกติกา"

ดร. โกวิทเป็นผู้ที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ฝึกการประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จ มีรายได้เป็นของตนเองตั้งแต่วัยก่อนเรียน มีความขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ อดทน ทำอะไรทำจริง จนได้รับฉายาเรียกกันหลายชื่อ เช่น ?แดงเสือปลา? (แดงคือชื่อเล่นของท่าน) เมื่ออายุได้ 6 ขวบ เพราะมีความเชี่ยวชาญในการจับปลา ช้อนกุ้ง งมหอยในแม่น้ำลำคลอง ได้รับฉายาว่า ?แดงปลาหมอเทศ? เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 1 เพราะได้เพาะเลี้ยงปลาหมอเทศก่อนใครในอำเภอบางคล้า โดยท่านโกวิทได้ไปขอคำปรึกษาแนะนำจากประมงจังหวัดฉะเชิงเทราและศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้จากเอกสารแล้วลงมือปฏิบัติเองจนได้ผลดี ได้รับฉายาว่า ?แดงนกกระทา? เมื่ออายุ 18 ปี ตอนเป็นครูใหม่ ๆ ได้เลี้ยงนกระทาจนออกไข่มากมาย ฯลฯ

จากประสบการณ์ตรงที่สั่งสมมา ท่านจึงมีความเชื่อว่าแผ่นดินไทยเรานี้เลี้ยงเราได้ การสอนที่ดีต้องฝึกให้เด็กได้ทำงานทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก ๆ และต้องทำงานในระหว่างเรียนด้วย ไม่ต้องการให้การจัดการเรียนการสอนเป็นเพียงการให้ความรู้เพื่อเตรียมการสำหรับให้ผู้เรียนนำไปใช้ในอนาคต แต่มุ่งหวังให้ผู้เรียนได้ดำเนินชีวิตจริงไปพร้อมกับการเรียนด้วย โดยต้องสร้างเสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้นแก่นักเรียนทั้งด้านความขยัน การประหยัด ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความรับผิดชอบ การพึ่งตนเองและความมีวินัย โดยท่านได้ให้ความหมายของคำว่า ?ขยัน? ว่าไม่ได้หมายความว่าขยันเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการขยันทำงาน ขยันช่วยคนอื่น ขยันดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ด้วย

ดร. โกวิทเป็นผู้ที่มีจิตใจดีงาม ยิ้มง่ายอ่อนน้อมถ่อมตน จริงใจกับทุกคนจึงทำให้เป็นคนที่มีเสน่ห์ อยู่กับใครใครก็รัก ทำงานกับใครใครก็ชอบ ความดีงามเหล่านี้มีความเป็นสากลและเป็นบารมีส่งเสริมให้ท่านประสบผลสำเร็จ ทั้งในด้านการเรียนการทำงานและชีวิตครอบครัวมาโดยตลอด

ชีวิตการเรียนของท่านในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวหาประสบการณ์ และการอ่านหนังสืออย่างเร็ว โดยมีความคิดว่าถ้าเรียนโดยการศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดทั้งวันเรียนที่เมืองไทยก็ได้ แต่การเรียนหนังสือเป็นเหมือนภาคปฏิบัติที่ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้น ท่านจึงยึดมั่นในหลักการหารายได้ระหว่างเรียน (Earn while you learn) และเรียนระหว่างมีรายได้ (Learn while you earn) โดยเรียนนอกระบบโรงเรียนมาโดยตลอด จึงทำให้ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นนักคิดนักปฏิบัติที่สร้างสรรค์ผลงานให้เกิดขึ้นตลอดกาล

ดร.โกวิทเป็นผู้รอบรู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องของประเทศไทยเป็นอย่างดีคนหนึ่ง เมื่อครั้งปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา ได้ริเริ่มโครงการการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จแบบไทย (Functional Literacy Thai Model) ซึ่งมุ่งให้ผู้เข้ารับการศึกษาระดับชาวบ้านได้รู้จักคิดแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพสถานะของตนและของกลุ่มที่เรียกว่า ?คิดเป็น? จนประสบผลสำเร็จ และได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจนองค์การยูเนสโกยอมรับ และนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก และท่านได้รับฉายาจากต่างประเทศว่า ? Mr.Khit Pen? หรือ ?นายคิดเป็น?

เมื่อตอนปฏิบัติงานที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน ท่านได้ให้ความสำคัญกับการอ่าน โดยตั้งโครงการอ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2514 โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและประชาชนอย่างมาก เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทำให้ชาวบ้านสนใจในการรู้หนังสือจากการดูภาพแล้วอยากรู้เรื่องนั้น ๆ เป็นการส่งเสริมให้คนรู้หนังสือง่ายขึ้น ท่านยังมุ่งกระจายการศึกษาไปสู่ชนบท ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำภาค ประจำจังหวัดขึ้น โดยได้พัฒนาระบบโครงสร้างการศึกษานอกระบบให้เป็นระบบที่สามารถนิเทศติดตามและพัฒนาการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการศึกษาดังกล่าวถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่คิดริเริ่มจัดระบบนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการครูอาสาสมัครสอนประจำที่เดินสอน โครงการจัดการศึกษาทางวิทยุและไปรษณีย์ โครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา โครงการการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อพัฒนาอาชีพ โครงการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ โครงการทอดผ้าป่าหนังสือ เป็นต้น

เมื่อปฏิบัติงานที่กรมวิชาการ ท่านก็ได้นำแนวการศึกษาเรื่อง ?คิดเป็น? มาจัดทำหลักสูตรใหม่ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ให้เหมาะสมกับตนเองและหมู่คณะ เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม สร้างเสริมความมีวินัย ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความอดทน รู้จักพึ่งตนเอง และมองเห็นช่องทางประกอบอาชีพ

เมื่อมาเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ท่านได้สร้างสรรค์แนวคิดแนวปฏิบัติจนเป็นวลีที่พูดกันติดปากหลายเรื่อง เช่น ครูที่พูดไม่ได้ โรงเรียนเสมือนบ้าน ห้องสมุดโรงเรียน อาชีพอิสระ ผักกางมุ้ง(ผักโรงเรียน) มินิคอมปะนี ธนาคารนักเรียน ฯลฯ โดยเริ่มจากความคิดในจุดเล็ก ๆ แล้วขยายออกไปเป็นหลาย ๆ เรื่องอย่างร้อยรัดกัน ท่านได้พิสูจน์ความเป็นจริงตามปรัชญา ?การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม? ว่าทุกอย่างล้วนเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่แยกส่วนกัน

เมื่อมาเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีโอกาสนำแนวคิดของตนทุกเรื่องมาส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากระเพื่อมออกไปในทุกกรมทั่วทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ความคิดเรื่องครูที่พูดไม่ได้ ได้ก่อให้เกิดอุทยานการศึกษาในสถานศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง เรื่องการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียนของนักเรียนก็มีการปฏิบัติเกิดขึ้นทั้งสถานศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาทุกสังกัด รวมทั้งความคิดเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องด้วย ในช่วงดังกล่าวท่าน ได้สนับสนุนให้ก่อตั้งโรงเรียนการทำมาหากินวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนแบบอย่างในการสอนเยาวชนให้รู้จักทำมาหากิน เห็นช่องทางในการประกอบอาชีพ สามารถช่วยตนเองได้บนพื้นฐานของความมีคุณธรรมด้านความขยัน อดทน ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ และมีความกตัญญู (บันทึกไว้ในเทป ?แผ่นดินไทยเรานี้เลี้ยงเราได้?)

ดร. โกวิทได้มีบทพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของท่านล้วนเป็นสิ่งที่จับต้องได้สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่ทำได้เฉพาะในสถานศึกษาเท่านั้น ด้วยการเปิดกิจการร้านนายก๊วก 3 สาขา คือ สาขาท่าข้ามสาขาบางประกง และสาขามีนบุรี โดยทำธุรกิจร้านอาหารที่มุ่งเน้นการรวมกลุ่มกันบริหารบนพื้นฐานการมีคุณธรรม ที่ยึดหลักว่าคนที่เข้ามาใช้บริการต้องอิ่มท้อง อิ่มตา อิ่มใจ และอิ่มสมองกลับไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ให้สมญานามท่านไว้มากมาย เช่น ? แก้วโกวิท? ?นักคิดตลอดกาล? ?ปราชญ์ของแผ่นดิน? ?จอมยุทธ์ไร้กระบวนท่า? ?วิทยายุทธ์สูงสุดสู่สามัญ? ? ยอดคน ยอดผู้นำ? ?ต้นไทรที่ทอดเงา? เป็นต้น

ดร. โกวิทได้รับรางวัลและเกียรติคุณ ได้แก่ คนไทยตัวอย่าง บุคคลดีเด่นแห่งวงการศึกษาชาติ สาขาการนิเทศการศึกษา ผู้บริหารข้าราชการพลเรือนดีเด่น ?ครุฑทองคำ? พ่อตัวอย่าง ผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อม นักการศึกษาดีเด่นและบุคคลที่ได้ทำ

คุณประโยชน์อย่างมากให้กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกสองสมัย เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายการศึกษา เป็นกรรมการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบรม-ราชินูปถัมภ์ พระราชูปถัมภ์ และพระอุปถัมภ์ หลายรายการ เป็นกรรมการด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เยาวชน และสิ่งแวดล้อมมากมาย

หลังเกษียณอายุราชการแล้ว ดร. โกวิทยังได้ปฏิบัติงานตามแนวคิดของตนให้แก่การศึกษาและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เป็นประธานชมรมรวมใจภักดิ์ รักษ์ต้นไม้ แม่น้ำ ลำคลอง และสิ่งแวดล้อม เป็นประธานชมรมรักษ์กล้วย ทำให้ท่านมีความสุขอย่างมากที่ได้มีโอกาสดูแลอนุรักษ์สืบสานความเป็นไทย และดูแลด้านบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ความเป็นนักคิดที่ไม่หยุดนิ่ง แม้ช่วงสุดท้ายที่เจ็บป่วยก็ยังคิดพัฒนาการศึกษา คิดพัฒนาสังคมบ้านเมือง ฝากให้ผู้มาเยี่ยมสืบสานต่ออีกหลายเรื่อง และครั้งสุดท้ายได้เขียนบันทึกขอลาออกจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเจตนาอยากกระตุ้นให้ผู้บริหารระดับสูงได้เอาใจใส่ในการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องการผลิตครู การดูแลเอาใจใส่สวัสดิการครู และเรื่องสำคัญที่สุด คือ อยากเห็นการประเมินผลตามสภาพจริง ทั้งด้านวิชาการและด้านคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดร. โกวิทได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคระบบหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2543 สิริอายุได้ 67 ปี 1 เดือน 8 วัน

ตลอดชีวิตของ ดร. โกวิทตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดท่านได้ทำหน้าที่เป็นครูและเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด ท่านเป็นผู้นำทั้งด้านความคิดและการปฏิบัติ มีความมุ่งมั่น ผูกพัน ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การศึกษาของประเทศชาติอย่างแท้จริง นับเป็นผู้นำทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ เป็นครู เป็นผู้บริหาร และเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทย ผู้ใต้บังคับบัญชา และศิษย์ ได้ตระหนักสำนึกในความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของชาติ และพัฒนาบ้านเมือง ดร. โกวิทกล่าวไว้ในหนังสือ ?ยอดคน ยอดผู้นำ? ตอนหนึ่งว่า

?เราสอนเด็กให้เป็นนักเรียนดีได้เราก็อิ่มเอิบใจ แต่จริงแล้วเราควรจะอิ่มเอิบใจไปกว่านั้นเหมือนเราปลูกต้นไทรแผ่ร่มเงา วันหนึ่งตอนเที่ยงเราออกไปยืนเห็นคนมายืนอยู่ใต้ต้นไทรของเราเพื่อพักร้อน เราก็ชื่นใจที่ร่มเงาของต้นไทรที่เราปลูกสามารถให้คนมาพักอาศัยได้ และคนที่มายืนอยู่ใต้ต้นไทรหรือนกกาคาบลูกไทรไปเป็นต้นไทร แผ่ร่มเงาให้คนได้อาศัยพักร่มเงาอีกต่อไป เหมือนกับเราทำความดีมันจะกระเพื่อมออกไปอีกเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น?

ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/141623

เอกสารอ้างอิง
การศึกษานอกโรงเรียน, กรม. ท่านโกวิทจะอยู่ไปไม่มีตาย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรไทย, 2544

เทปที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ?แผ่นดินไทยเรานี้เลี้ยงเราได้?

วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันที่ 27 พฤษภาคม 2544.

นพดล เจนอักษร, ไผ่เสียดยอด ลงคืนเลาขลุ่ย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2538.

บันทึกของนายโกวิท วรพิพัฒน์ และบันทึกคำสัมภาษณ์นายโกวิท วรพิพัฒน์ ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล

จุฬาลงกรณ์, 2544

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงาน. โรงเรียนในฝัน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,

2538.

วิชาการ, กรม. โกวิท นักคิดตลอดกาล. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.

ศึกษาธิการ, กระทรวง. ไทรทอดเงา. กรุงเทพมหานคร : บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด, 2537.

สามัญศึกษา, กรม. กระบวนการคิดเป็น. เอกสารรายงานการวิจัยเรื่อง การสร้างวิชาการคิดเป็น,

หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา, 2537.

สามัญศึกษา, กรม. ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ สุภาพบุรุษนักบริหารการศึกษาที่เป็นแบบอย่าง.

กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชซิ่ง, 2537.

สามัญศึกษา, กรม. ตามรอย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, ม.ป.ป. .

สามัญศึกษา, กรม. ยอดคน ยอดผู้นำ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 07, 2017, 09:29:55 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »