ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับการศึกษาของประเทศ  (อ่าน 2491 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560 และมีผลบังคับใช้แล้ว มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาของประเทศที่จะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนี้

หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีมีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน

ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย

ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

บทบัญญัติในมาตรา 54 นี้จะเห็นได้ว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด มีหรือจน ถิ่นฐานที่อยู่ในเมืองหรือชนบทห่างไกล จะต้องได้รับการศึกษาระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นเวลา 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาชัดเจน สถานศึกษาในสังกัดหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการศึกษาระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะต้องยกเครื่องการจัดการศึกษาที่เน้นคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่รัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้าสู่ก่อนวัยเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ประเด็นนี้ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อผลสำเร็จในการพัฒนาเด็กเล็กกลุ่มดังกล่าว คือ ครูผู้สอนชั้นเด็กเล็ก ทั้งปริมาณและคุณภาพ ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ของสถาบันศาสนา ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการและเด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษ หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น มีเพียงพอหรือไม่ ควรมีการเตรียมความพร้อม กรณีที่ใช้ครูที่ไม่มีวุฒิครูอาจเกิดปัญหาทางด้านกฎหมายการศึกษา ดังนั้นทั้ง อปท./เอกชน ควรระบุคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ามาสู่ตำแหน่งครูผู้สอน หากไม่ใช่ครูหลักสูตร 5 ปี จำเป็นที่จะต้องรับคุณวุฒิอื่นก็ควรจะต้องได้รับคุณวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ไม่ควรใช้หลักการยกเว้นคุณสมบัติ บทบัญญัติในมาตรานี้ยังกำหนดเป้าหมายพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียนของการศึกษาทุกระดับที่ต้องมุ่งเน้นพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ประเด็นนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาทุกระดับควรริเริ่มให้มีการปรับปรุงหลักสูตรด้วยการกำหนดคุณลักษณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดตามมาตรา 54 ให้ปรากฏอยู่ในหลักสูตรทุกระดับการศึกษารวมถึงการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมเสริมหลักสูตร นอกจากนี้การปรับเนื้อหาในคำอธิบายรายวิชาควรกำหนดเนื้อหาบางส่วนที่เป้าหมายการพัฒนาผู้เขียนเข้าไปอยู่ในส่วนเนื้อหาของหลักสูตรบางรายวิชา จุดเด่นที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในสังคม ?ไม่ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง?

คาดว่าประเด็นนี้น่าจะชัดเจนเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเกิดขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทุกประเภทจะต้องให้ความสำคัญกับแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่มิใช่ให้ปรากฏอยู่ในกระดาษเท่านั้น จะต้องมีการดำเนินการตามที่แผนกำหนด

หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

ในหมวดนี้รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูป 3 ประการ คือ

1.ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ

2.สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเลื่อมล้ำ

3.ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในด้านการศึกษาได้กำหนดแนวทางในการปฏิรูปเพื่อเป็นกรอบนำทางไว้ดังนี้

(1) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

(2)ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

(4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

แนวทางในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นแนวทางหลักของการปฏิรูป ดังนั้นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาของประเทศน่าจะมีความชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไร อย่างไร และผลต้องการคืออะไร ตามแนวทางปฏิรูปดังกล่าวนี้ ในมาตรา 54 ซึ่งได้กล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่จะต้องเริ่มต้นดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 เป็นการดำเนินการในลักษณะ ?การศึกษาเด็กเล็กมาก่อน?

ส่วนแนวทางปฏิรูปในข้อ 3 นั้นจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารูปแบบและระบบการผลิตครูรัฐบาลแต่ละชุดมักจะมีโครงการผลิตของตนเองมาเสนอ เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายการผลิตครูก็เปลี่ยนใหม่อีก มักจะไม่ยั่งยืน ไม่มีความต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มีเอกภาพ ควรมีคณะทำงานระดับชาติเพียง 1 ชุด ประเด็นของการผลิตครูนั้นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้เคยเสนอให้มีการผลิตครูในรูปแบบของวิทยาลัยครู หากมีการนำแนวทางดังกล่าวมาทำการศึกษาความเป็นไปได้และนำสู่ปฏิบัติ อาจทำให้ระบบการผลิตครูของไทยมีระบบที่เป็นเอกภาพ ควรเร่งรัดให้มีความชัดเจน

ประเด็นท้าทายคือ ประเทศไทยควรผลิตครูในระบบปิดหรือเปิดกว้างในแนวทางปฏิรูป ข้อ 4 เป็นประเด็นที่แตกหักต่อคุณภาพการเรียนของผู้เรียน หากไม่มีการปฏิรูปในระดับชั้นเรียนอย่าได้หวังว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไทยจะสูงขึ้น ต้องดำเนินการทุกระดับ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นวงจร ในการบริหารบุคคลของบุคลากรทางการศึกษาจะต้องยุติการบริหารระบบอุปถัมภ์นิยมโดยสิ้นเชิง โมเดลแบบอย่างการบริหารบุคคลที่ควรศึกษา เพื่อสร้างระบบคุณธรรม ได้แก่ การบริหารบุคคลของศาล อัยการ ฯลฯ

สาระของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บางมาตรา ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และหมวด 6 การปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวข้องการศึกษาของประเทศนับว่าเป็นเสาหลักสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศ เพื่อให้พ้นกับดักประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาตกต่ำทุกระดับ ทุกภาคส่วนที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาจะต้องเร่งรัด ผลักดัน ปรับสภาพ และพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศให้ไปอยู่แถวหน้าของประเทศในกลุ่มอาเซียนและยกระดับคุณภาพของประชาชน

การปฏิรูปการศึกษาในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียนในเชิงบวกมีน้อยมาก

สุรชัย เทียนขาว
ที่มา http://www.matichon.co.th/news/546319