เกร็ดความรู้ > เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย

พื้นเวียง : หลักฐานเบื้องลึกอีกด้าน สาเหตุสงครามเจ้าอนุวงศ์

(1/1)

เลิศชาย ปานมุข:
หากกล่าวถึงสงครามเจ้าอนุวงศ์ ที่เกิดขึ้น ช่วงปี พ.ศ. 2369 ? 2371 ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลายท่านคงทราบกันดีว่าเป็นสงครามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ เป็นประวัติศาสตร์ตอนที่สำคัญมากทั้งในประวัติศาสตร์ไทยและในประวัติศาสตร์ลาว ในบทเรียนของประวัติศาสตร์บอกว่า ?เป็นสงครามปราบพวกกบฏ มีหัวหน้าก่อการกบฏคือเจ้าอนุวงศ์? ส่วนประวัติศาสตร์ลาวบอกว่า ?สมเด็จเจ้าอนุวงศ์คือมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงทำการกอบกู้เอกราชปลดแอกจากสยาม ถึงแม้พระองค์จะทรงทำการไม่สำเร็จ แต่ชาวลาวยังยกย่องว่าเป็นวีระบุรุษ แฉกเช่นชาวไทยยกย่อง สมเด็จพระนเรศวรกะนั้น? อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ได้เป็นประวัติศาสตร์อันสำคัญที่ส่งผลให้สยามมีอำนาจเหนือดินแดนลาวทั้งหมดอีกครั้ง หลังปี พ.ศ. 2371

หลักฐานเอกสารเกี่ยวกับสงครามเจ้าอนุวงศ์ของฝ่ายไทย มีหลายชิ้นที่นักประวัติศาสตร์หรือผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้ทั่วไป คือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), จดหมายเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3, นิราศเวียงจันทน์ ของหม่อมเจ้าทับ, ทั้งหมดถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ฝ่ายไทยได้บันทึกเกี่ยวกับสงครามเจ้าอนุวงศ์ตั้งแต่ต้นจนจบเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียด แต่เอกสารอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นหลักฐานของฝ่ายตรงข้าม คือ ?เอกสารพื้นเวียงจันทน์? ที่ได้รับการตีแผ่ออกมาสู่สาธารณชนเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดย ศ.ธวัช ปุณโณทก แต่อย่างไรก็ดีหลักฐานชิ้นนี้ก็ยังไม่เป็นที่รับรู้ของนักประวัติศาสตร์ไทยและบุคคลทั่วไปเท่าที่ควร เอกสารพื้นเวียงจันทน์ได้กล่าวถึงสาเหตุเบื้องลึกอีกหนึ่งกระแสของการทำสงครามของเจ้าอนุวงศ์อย่างละเอียดพอสมควร ทำให้ผู้ศึกษาสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นเหตุของสงครามจากหลักฐานทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา

เอกสารพื้นเวียงจันทน์ เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่งอีกชิ้นหนึ่งของภาคอีสาน ถึงแม้เอกสารชิ้นนี้จะเป็นเพียงการจดบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของวรรณกรรมคือเป็นการเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาประพันธ์เป็นกลอนลำแบบฉันท์ลักษณ์ของอีสาน แต่เนื้อหาสาระของเรื่องนั้นได้ให้ข้อเท็จจริงทางด้านประวัติศาสตร์ไว้มากมาย ซึ่งมีอยู่หลายประเด็นที่ขัดแย้งกับหลักฐานของประวัติศาสตร์ไทย และหลายประเด็นที่สอดคล้องกัน เหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันนั้น อาจะเป็นเพราะเห็นคนละมุมมองแล้วจดบันทึก เมื่อมาศึกษาเหตุการณ์จากหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วจึงมีทั้งสอดคล้องกันและแตกต่างกัน สาระสำคัญของเรื่องพื้นเวียงเป็นเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ยึดหัวเมืองนครราชสีมาได้สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง(ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2) และจบตอนที่กรณีไทยรบกับญวนในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นสงครามยืดเยื้อกันระหว่างญวนกับไทย

งานการศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน ของธวัช ปุณโณทก ได้อธิบายจากการศึกษาเรื่องพื้นเวียง พบว่าเป็นการจดบันทึกเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์อีกมุมหนึ่งของชาวบ้านอีสาน ซึ่งมีข้อจำกัดทางด้านการเมืองน้อยมาก กล่าวคือผู้จดบันทึกรู้อย่างไรก็จดบันทึกอย่างนั้น ตามที่รู้หรือได้ฟังมาและมีเหตุการณ์อยู่หลายตอนที่ผู้จดบันทึกไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และรู้เรื่องเหตุการณ์นั้นน้อย เช่น ภารกิจของกองทัพหลวงของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ แม่ทัพหลวง ยกขึ้นมาทางอีสานเหนือตีข้าศึกที่หนองบัวลำภู แล้วตีค่ายส้มป่อยที่ช่องข้าวสาร ซึ่งในเอกสารพื้นเวียงได้ให้รายละเอียดไว้น้อยมาก แต่กลับให้รายละเอียดภารกิจของทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งยกไปตีข้าศึกทางอีสานตอนใต้ได้ชัดเจนกว่า ฉะนั้นจึงพออนุมานได้ว่าผู้ประพันธ์รู้เรื่องราวการรบระหว่างทัพไทยกับลาวทางอีสานตอนล่างได้ดีกว่า

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในเอกสารพื้นเวียงมีเรื่องราวขัดแย้งกับพงศาวดารไทยอยู่หลายตอน เช่น สาเหตุการกบฏของนักบุญสาเกียดโง้ง บันทึกไว้ว่า ?เป็นการยุแหย่สนับสนุนจากพระยาพรหมยกกระบัตรเมืองโคราช ภายหลังโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาคำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา?

?ไม่ปรากฏวีรกรรมของท้าวสุรนาร แต่เหตุการณ์ที่ครัวโคราชต่อสู้กับทัพลาวที่ค่ายมูลเค็ง (เมืองพิมาย) บันทึกไว้ละเอียดพอสมควร?

?สาเหตุที่เจ้าอนุวงศ์กบฏ เอกสารพื้นเวียงได้ให้รายละเอียดต่างไปจากพงศาวดารไทยมากเกือบจะตรงกันข้ามกล่าวคือมองเห็นกันคนละแบบทีเดียว?

แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่บันทึกในเอกสารเรื่องพื้นเวียงจันทน์ น่าจะเป็นเพียงทัศนะของผู้ประพันธ์เท่านั้น และไม่ทราบว่าผู้ประพันธ์มีสถานภาพอย่างไร เช่น ทหาร พลเรือน ปราชญ์ หรือพระภิกษุ ฉะนั้นเรื่องราวที่บันทึกไว้นี้ จะให้ความยุติธรรมเพียงอย่างไร ซึ่งนักประวัติศาสตร์จะต้องวิพากษ์หลักฐานในลำดับต่อไป

งานศึกษาของ ธวัช ปุณโณทก ได้อธิบายเรื่องต้นฉบับเรื่องพื้นเวียงว่าเท่าที่สืบหาพบในปัจจุบัน มีอยู่ดังนี้ คือ

1.ฉบับหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ มีต้นฉบับฝบลานเขียวด้วยอักษรไทยน้อย มีความยาว 97 ลาน เจาะรูตรงกลางใช้เชือกสายสนองผูกร้อยไว้เป็นมัดเดียวกัน เขียนบันทึกติดกันเป็นพืดไม่เว้นวรรค จดบันทึกอักษรไว้ทั้งสองด้าน และงานศึกษาของธวัช ปุณโณทกได้ใช้ต้นฉบับใบลานฉบับหอสมุดแห่งชาติท่าวาสกรีเป็นข้อมูลหลัก

2.ต้นฉบับสมุดฝรั่ง ในหอสมุดแห่งชาติท่าว่าสุกรี มีการถอดปริวรรตอักษรไทยน้อยมาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน ลงในสมุดฝรั่งเมื่อปี ร.ศ.118 (พ.ศ. 2443) เป็นต้นฉบับคัดด้วยลายมือดินสอดำ มี 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 ไม่จบเรื่องตามที่ปรากฏในใบลาน ฉบับที่ 2 ถอดมาจากต้นฉบับใบลาน และจ่าหัวเรื่องว่า ?พงศาวดารเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์?

3.ต้นฉบับเอกสารเรื่องพื้นเวียงในภาคอีสาน ตามที่ศูนย์ประสานงานการพระพุทธศาสนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สำรวจวรรณกรรมอีสานและขึ้นบัญชีไว้ เมื่อปี พ.ศ.2516 มีดังนี้และมีการจ่าหัวเรื่องต่างๆกัน ดังปรากฏดังนี้

พื้นเวียงจันทน์ อยู่ที่วัดทุ่งสันติวัน ตำบลพะลาน อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

เวียงจันทน์ อยู่ที่วัดป่าแซง ตำบลพะลาน อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

พื้นเวียงจันทน์ อยู่ที่วัดบ้านบุตร ตำบลนาคำใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พื้นเมืองเวียงจันทน์ อยู่ที่วัดสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

เวียงจันทน์ อยู่ที่วัดศรีสะอาด ตำบลหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

เวียงจันทน์ อยู่ที่วัดสระแก้ว ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

พื้นเมืองเวียงจันทน์ อยู่ที่วัดดอนแก้วเชียงดา ตำบลสร้างค่อม อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู

ต้นฉบับเหล่านี้เป็นใบลานจารด้วยอักษรไทน้อยบ้าง อักษรธรรมบ้าง จากการสัมภาษณ์คนแก่อายุ 60 ? 80 ปี ในท้องถิ่นยังได้รับคำยืนยันว่าเอกสารเรื่องพื้นเวียงนี้ สมัยก่อนนิยมนำเอามาอ่านในงันเฮือนดี(งานศพ) งานศึกษาของธวัช ปุณโณทก อธิบายว่า เอกสารเรื่องพื้นเวียงที่มีอายุเก่าที่สุด ไม่ใช่ฉบับใบลานหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ มีข้อความลงท้ายตอนจบเรื่องได้กล่าวถึง วัน เดือน ปี ที่เขียนเสร็จว่า ?ลิดจานาแลวยามแถไกเทียงแลทานเฮย เนนสิงเปนผูลิดจาน ซาเสน เป็นเจาลานแลทานเฮย สุพมะทัดุจุนและสังกาดลาสได 1262 ตัวปีชวด นักสัตรโทศก? ถอดเป็นใจความได้ว่า ?รจนาแล้วยามแถใกล้เที่ยงแลท่านเฮย เณรสิงเป็นผู้จาน ซาเสน เป็นเจ้าลานแลท่านเฮย ศุภมัสดุ จุลศักราชได้ 1262 (พ.ศ.2443) ตัวปีชวด นักสัตรโทศก? จากความตอนท้ายสุดของเรื่องที่ยกมานี้ ทำให้เราทราบภูมิหลังของเอกสารพื้นเวียงอยู่บ้าง กล่าวคือต้นฉบับเดิมย่อมต้องมีการเขียนขึ้นก่อนปี พ.ศ.2443 แต่ถ้าต้นฉบับหอสมุดแห่งชาติ เป็นต้นฉบับเดิม ก็ย่อมแสดงว่าเอกสารเรื่องพื้นเวียงนี้เขียนหลังเหตุการณ์ 53 ปี เพราะเหตุการณ์ในท้องเรื่องของเอกสารเรื่องพื้นเวียงนั้น เริ่มต้นเมื่อกบฏอ้ายสาเกียดโง้ง กบฏเจ้าอนุวงศ์เกิดเมื่อ พ.ศ.2369 และจบตอนกรณีสงครามไทย-ญวน ซึ่งสงครามระหว่างไทย-ญวน ค่อยสงบลงเมื่อ พ.ศ.2390

แต่ถ้าต้นฉบับใบลานเรื่องพื้นเวียงฉบับหอสมุดแห่งชาติเป็นฉบับที่คัดลอกมา ก็แสดงว่าต้นฉบับเดิมน่าจะมีอายุเก่ากว่าฉบับหอสมุดแห่งชาติ (ฉบับเณรสิงคัดลอก) และเรื่องนี้ได้ประพันธ์ขึ้นก่อนปี พ.ศ.2443 ซึ่งย่อมประพันธ์ขึ้นใกล้เหตุการณ์หรือหลังเหตุการณ์เพียงเล็กน้อย ฉะนั้นจึงน่าจะเก็บข้อเท็จจริงได้มาก และเป็นทัศนะของท่านผู้ประพันธ์ที่ได้รู้ได้เห็นได้ยินได้ฟังเหตุการณ์นั้น แล้วนำมาประมวลไว้เป็นเรื่องพื้นเวียง ธวัช ปุณโณทก เสนอว่าต้นฉบับที่อยู่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เป็นฉบับคัดลอก ต้นฉบับเดิมน่าจะมีการประพันธ์ก่อนปี พ.ศ.2443 แล้วสามเณรสิงท่านได้คัดลอกไว้ ทางหอสมุดแห่งชาติได้ต้นฉบับนี้มาเก็บไว้ ต้นฉบับจึงอยู่ในสภาพดีกว่าฉบับอื่นๆ ที่พบ

สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งระหว่างเจ้าอนุวงศ์กับพระยาพรหมภักดี ยกกระบัตรเมืองโคราช ที่เป็นอีกฉนวนสำคัญทำให้เกิดสงครามระหว่างสยามกับลาว โดยผู้เขียนจะขอยกประเด็นจากงานของธวัช บุณโณทก ที่กล่าวถึงความในใบลานเอกสารพื้นเวียงตอนที่ 1 กรณีกบฏนักบุญสาเกียดโง้งที่ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ มีชาวบ้านให้การเคารพนับถือมากเพราะเชื่อว่าเป็นขุนเจืองกลับชาติมาเกิดเพื่อดับทุกข์เข็ญ ชื่อเสียงของเจ้าผู้มีบุญ เลื่องลือไปถึงหูพระยาพรหมภักดี  พระยาพรหมภักดีจึงมาขอผูกมิตรไมตรี เมื่อความสนิทสนมมีมากขึ้น พระยาพรหมฯ จึงยุแหย่ให้นักบุญสาเกียดโง้งก่อกบฏตีเมืองจำปาศักดิ์ โดยให้เหตุผลกับนักบุญสาว่าถ้าตีเมืองจำปาศักดิ์ได้จะทำให้พระสามีทั้งอำนาจและความร่ำรวย สุดท้ายก็จะได้เป็นใหญ่ครองเมืองจำปาศักดิ์อีกด้วย เมื่อพระสานำไพร่พลเข้าตีเมืองจำปาศักดิ์แบบไม่ให้รู้ตัว เจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย) เตรียมตัวไม่ทัน จึงพาครอบครัวและชาวเมืองหลบหนีเข้าป่าไป เจ้าอนุวงศ์ทรงทราบเหตุการณ์จึงยกทัพเข้าตีเมืองจำปาศักดิ์ จับนักบุญสาและพระพรหมภักดีส่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อชำระความแต่ทางราชสำนักมิได้เอาผิดกับพระยาพรหมภักดีแต่อย่างใด (ต่อมายังโปรดฯให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาอีกด้วย) เจ้าอนุวงศ์จึงทูลขอราชสำนักสยามให้ราชบุตรโย้ครองเมืองจำปาศักดิ์

ความในใบลานตอนที่ 2 สาเหตุที่เจ้าอนุวงศ์คิดการกบฏ สาเหตุมาจากพระยาพรหมภักดีกราบทูลราชสำนักสยามให้มีการสักเลกหัวเมืองอีสาน โดยให้เหตุผลว่า ตั้งแต่เจ้าเมืองเวียงจันทน์กินเมืองแล้ว ชาวลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงมักจะอพยพกลับเวียงจันทน์ ดังนั้นพระยาพรหมฯจึงสั่งให้นายกองสักเลกไปสักเลกราษฎรตามหัวเมืองอีสาน ชาวลาวและชนพื้นเมืองตามหัวเมืองได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ดังความตอนหนึ่งในเอกสารพื้นเวียงได้กล่าวถึง การสักเลกของพระยาพรหมฯไว้ว่า

?เจ้าก็ อาญัติให้ ฝูงหมู่กองสัก    สูจึง ไปเขียนเอา ซื่อเขาตงเสี้ยง       

ตั้งแต่ หญิงซายซ้อน ผัวเมียมีคู่    ซายบ่ มีคู่ซ้อน เอาแท้ทีเดียว หั้นเทอญ?

แปลว่า พระยาพรหมภักดีมีบัญชาให้นายกองสักเลก ได้ออกมาทำการสักเลกราษฎรทุกคนทั้งชายและหญิง ทั้งคนที่ไม่มีสามีภรรยาและคนที่มีสามีภรรยา

การสักเลกและขูดรีดภาษีข่มเหงราษฎรของพระยาพรหมภักดี ทำให้ชาวลาวและชนพื้นเมืองตามหัวเมืองต่างๆในอีสาน ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก อีกทั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างพระยาพรหมฯ กับเจ้าราชบุตรโย้ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ โดยสาเหตุมาจากพระยาพรหมฯ มีหนังสือว่าจะยกทัพมาปราบพวกข่า เพราะไม่ส่งส่วยและจะกวาดต้อนมาเป็นมาข้าใช้สอย แต่เจ้าราชบุตรโย้ไม่ยอมเพราะเป็นเขตของเมืองจำปาศักดิ์ พระยาพรหมฯโกรธจึงทำหนังสือแจ้งไปอีก เจ้าเมืองจำปาศักดิ์โกรธมากจึงส่งหนังสือแจ้งไปหาเจ้าอนุวงศ์  ท้ายที่สุดก็มาถึงเมื่อราษฎรลาวและชนพื้นเมืองเดือดร้อนแสนเข็ญ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทรงทราบเรื่องก็ทรงกริ้วดังความในเอกสารพื้นเวียงตอนหนึ่งว่า

?เคียดที่ ไทยขี้ฮ้าย เมืองขว้ำมุ่นวาย แท้แล้ว    จักผูกปิ้ง ตีฆ่าแม่นใจ แท้แล้ว

เคียดที่ มันแป้ม้าง ปองจูดเมืองเสีย ดังนั้น    บัดนี้ เวรนำทัน คอบมันลางแล้ว?ฯ

 แปลว่า โกรธที่พวกผู้ร้ายฝ่ายสยามคว่ำบ้านพังเมือง จับพันธนาการ โบยตี โกรธที่จ้องทำลายเผาบ้านเผาเมือง บัดนี้เวรกรรมที่ทำกับพวกเราได้ตามทันแล้ว (ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์ ถอดความ)

เมื่อเหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เจ้าอนุวงศ์จึงสั่งให้จัดทัพเข้าตีเมืองโคราช และกวาดต้อนชาวครัวในแถบอีสานกลับคืนสู่นครเวียงจันทน์  เมื่อทางราชสำนักสยามทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏ จึงแต่งตั้งให้พระยามุนินทรเจ้าลือเดช (เจ้าพระยาบดินทร์เดชา) นำทัพขึ้นไปปราบเจ้าอนุวงศ์ เผาทำลายเมืองเวียงจันทน์จนราบคาบ จับตัวเจ้าอนุวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์เข้ามากรุงเทพฯ สุดท้ายเจ้าอนุวงศ์ก็ถึงแก่พิราลัย ดังความในเอกสารพื้นเวียงตอนหนึ่งว่า

?แต่นั้น ยั้งขม่อมเจ้า ลดชั่วสารมรณ์  พระก็ ลาสงสาร สู่ไตรพดึงส์แก้ว

เขาก็ แปลงศพสร้าง ประนมอวนถวาย พระองค์นั้น

แปลว่า เมื่อนั้นเจ้าย่ำกระหม่อม(เจ้าอนุวงศ์) ลาวัฏสงสารเสด็จสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และราชสำนักสยามได้จัดงานพระศพถวายพระองค์

และตอนหนึ่งว่า

?เขาก็ งันคาบเจ้า บริบวรณ์แล้วจูด  ไฟใส่ขึ้น ประนมแก้วมุ่งคง

ฝูงหมู่สัง โฆเจ้ายวงบุญ บนบอก  เททอดน้ำ ลงเทส่งบุญ

ให้เจ้า เมืออยู่สร้าง เมืองสวรรค์สนุกยิ่ง จริงเทอญ     

โลกนี้ บ่เที่ยงแท้ อย่าได้ท่องเที่ยว พระเอย     

ศุกทุกข์นั้น ไผบส่องตาเห็น แท้แล้ว  เปนดังกง เกียนผันปิ่นเวียน เลิงเลื้อย?

แปลว่า เมื่อจัดบำเพ็ญกุศลพระศพแล้ว ก็ถวายพระเพลิง(บนกองฟอน?) มีคณะสงฆ์สวดมนต์กรวดน้ำอุทิศพระกุศลส่งพระวิญญาณสู่เมืองสวรรค์ โลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อย่าได้อยากท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร สุขทุกข์ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา ดุจกงเกวียนที่หมุนเวียนเรื่อยไป (ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์ ถอดความ)

ตามหลักฐานที่พบในเอกสาร ?พื้นเวียง? อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับพระยาพรหมภักดี เจ้าเมืองนครราชสีมา เป็นการชิงกันกระทำความดีความชอบต่อกรุงเทพฯ การขัดแย้งจึงเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์มีความบาดหมางกันกับเจ้าเมืองโคราชเป็นส่วนใหญ่ แต่สาเหตุที่เจ้าอนุวงศ์ทูลขอแบ่งพวกครัวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาสมัยกรุงธนบุรีกลับเวียงจันทน์นั้นไม่ปรากฏ ผู้ประพันธ์คงจะไม่ทราบเรื่องราวเลยไม่ได้บันทึกไว้ แต่กลับบันทึกว่าเจ้าอนุวงศ์ทรงไม่พอพระทัยที่ราษฎรถูกข่มเหง และถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก จนได้รับความเดือดร้อนทั่วหัวระแหง เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพหลวงออกจากเวียงจันทน์เพื่อปราบยุคเข็ญ และปกป้องอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ ฉะนั้นเป้าหมายในการโจมตีคือเมืองนครราชสีมา และกวาดต้อนชาวกองครัวชาวลาวตามหัวเมืองอีสานกลับคืนสู่นครเวียงจันทน์เท่านั้น

แต่เหตุการณ์ได้ทราบถึงราชสำนักสยามว่าเจ้าอนุวงศ์ก่อขบถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นแม่ทัพใหญ่และให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบและทำลายกรุงเวียงจันทน์อย่างราบคาบ เจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ถูกส่งมากรุงเทพฯ และถูกขังประจานที่ท้องสนามหลวง 7 ? 8 วัน เจ้าอนุวงศ์ก็ป่วยเป็นโรคลงโลหิตพิราลัยเมื่อชันษาได้ 61 ปี เป็นการสิ้นกษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียงจันทน์

เอกสารพื้นเวียง จึงเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อการศึกษาเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ลาว แต่ผู้ศึกษาต้องวิเคราะห์วิพากษ์หลักฐานชิ้นนี้อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง

อ้างอิง

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2547.

ธวัช ปุณโณทก. พื้นเวียง : การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : พิมพลักษณ์, 2526.

สุวิทย์ ธีรศาสวัต. ทำไมเจ้าอนุวงศ์จึงต้องปราชัย. ศิลปวัฒนธรรม. 27(11). 2549, 77 ? 90.

สุเจน กรรพฤทธิ์. พื้นเวียง A Voice for the Laotian Who do not have Voice. (2010) ออนไลน์. https://khampoua.wordpress.com/tag /พื้นเวียง/, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560

ที่มา : https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_6867

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version