ผู้เขียน หัวข้อ: 4 ภาษาหลักของโลก สร้าง "โอกาส" ยุคโลกาภิวัตน์  (อ่าน 2295 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
การเรียนรู้ "ภาษา" ที่แตกต่างนอกจากจะช่วยให้เกิดการสื่อสารที่เข้าใจทั้งในด้านศาสนาและวัฒนธรรม และที่สำคัญคือการเชื่อมต่อ "โลกการค้า" ในยุคโลกาภิวัตน์

"เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม" ครั้งที่ผ่านมา เปิดรายงานเกี่ยวกับ "ความสำคัญของภาษาทั่วโลก" โดยระบุว่า การเรียนรู้ภาษาที่แตกต่างเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อโลกของนักธุรกิจ พร้อมระบุว่า 4 ภาษาสำคัญของโลกในยุคอนาคต ประกอบด้วย ภาษาอังกฤษ, ภาษาสเปน, ภาษาอาหรับ และภาษาจีน

"ภาษาอังกฤษ" ที่ถูกนิยามว่าเป็น "ภาษาของโลก" เนื่องจากเป็นภาษาสำคัญเบอร์หนึ่งของโลก ได้รับอิทธิพลมาจากการไล่ล่าอาณานิคมเพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าแห่งดินแดนในยุคโรมัน ที่มีการแพร่กระจายการใช้ "ภาษาละติน" ในทั่วยุโรป ซึ่งรากศัพท์ต่าง ๆ ของภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะมีส่วนคล้ายคลึงกับภาษาละติน

รายงานฉบับนี้ระบุว่า จำนวนผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมีมากถึง 335 ล้านคน ใน 110 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีการใช้มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา

225 ล้านคน รองลงมา คือ สหราชอาณาจักร 55.6 ล้านคน, แคนาดา 19.4 ล้านคน, ออสเตรเลีย 15.6 ล้านคน, แอฟริกาใต้ 4.9 ล้านคน, ไอร์แลนด์ 4.2 ล้านคน, นิวซีแลนด์ 3.8 ล้านคน เป็นต้น

ขณะที่ "ภาษาสเปน" ประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคมของสเปนในละตินอเมริกา ก็ได้ทิ้งมรดกทางภาษาไว้ ปัจจุบันมี 35 ประเทศที่ใช้ภาษาสเปนสื่อสาร ด้วยจำนวนถึง 399 ล้านคน

ประกอบด้วยประชากรเม็กซิโกมากสุด 103 ล้านคน ตามมาด้วย โคลอมเบีย 41 ล้านคน, อาร์เจนตินา 38.8 ล้านคน, สเปน 38.4 ล้านคน, สหรัฐ 34.2 ล้านคน, เวเนซุเอลา 26.3 ล้านคน, เปรู 24 ล้านคน เป็นต้น

ความน่าสนใจ คือ ประเทศเหล่านี้ยังมีตลาดการค้าที่นักธุรกิจยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรนั่นหมายถึงโอกาสที่ยังเปิดกว้างอย่างเช่น ประเทศเปรู ซึ่งความโดดเด่นจากที่กฎระเบียบการค้าไม่เข้มงวด ทั้งยังมีอัตราภาษีนำเข้าต่ำ และไม่ควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้า

สำหรับ "ภาษาอาหรับ" เพิ่งถูกยกให้เป็นภาษาที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขของผู้บริโภคเติบโตมากขึ้น อีกทั้งกลุ่ม "ตะวันออกกกลาง" ยังให้ความสนใจกับการค้านอกภูมิภาค โดยเฉพาะสินค้าจากกลุ่มประเทศเอเชีย โดยปัจจุบันมีราว 60 ประเทศที่ใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสาร ในจำนวนประชากร 242 ล้านคน

ประเทศที่ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาสำคัญ ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย, บาห์เรน, อียิปต์, อิรัก, อิสราเอล, จอร์แดน, คูเวต, เลบานอน, ลิเบีย,, โมร็อกโก, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, โซมาเลีย, ซูดาน, ซีเรีย, ตูนิเซีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ปาเลสไตน์ และซาฮาราตะวันตก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม "ภาษาจีน" ถือเป็นภาษาที่มีผู้ใช้สื่อสารมากที่สุดถึง 1,197 ล้านคน โดยครอบคลุมถึงภาษาจีนท้องถิ่น 13 กลุ่ม ได้แก่ จีนกั้น 20.6 ล้านคน, ฮากกา 30.1 ล้านคน, แมนดาริน 848 ล้านคน, หมิ่นเป่ย 10.3 ล้านคน, หมิ่นตง 9.12 ล้านคน, หมิ่นหนัน 46.6 ล้านคน, หมิ่นจ้ง 3.10 ล้านคน, ผูเชียน 2.56 ล้านคน, อู่ 77.2 ล้านคน, เซียง 36 ล้านคน และกวางตุ้ง 62.2 ล้านคน

นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงประชากรนอกแผ่นดินใหญ่ อาทิ เมียนมา (0.5 ล้านคน) มาเก๊า (0.5 ล้านคน) ฟิลิปปินส์ (0.7 ล้านคน) ไทย (1.2 ล้านคน) เวียดนาม (0.9 ล้านคน) สิงคโปร์ (1.8 ล้านคน) มาเลเซีย (5.1 ล้านคน) ฮ่องกง (6.5 ล้านคน) และไต้หวัน (21.8 ล้านคน)

แม้ "ภาษาอังกฤษ" มีคนสนใจและเรียนรู้มากที่สุด 1.5 พันล้านคนทั่วโลก แต่ทิศทางการเรียนรู้ภาษาใหม่อย่าง ฝรั่งเศส จีน และสเปน ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 126 ล้านคนในปัจจุบัน

ดังนั้น การที่ประชากรทั่วโลกจะเชื่อมโยงกันลึกซึ้งมากขึ้น สิ่งที่ได้ประโยชน์มากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของ "การค้า" โดยการเชื่อมระหว่างคนต่อคนล้วนก่อเกิดผลลัพธ์มหาศาล โดยเฉพาะการค้าในยุคปัจจุบันที่เกือบทุกประเทศนิยมใช้ "Soft Power" ในการรุกตลาด


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์