ผู้เขียน หัวข้อ: เตรียมพร้อมเด็กไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0  (อ่าน 2173 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
          ไทยแลนด์ 4.0 คือนโยบายของรัฐบาลในการนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ คือ ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค สมองกลอัจฉริยะถูกนำมาใช้แทนแรงงานและสมองคน ประเทศไทยจึงต้องการเด็กรุ่นใหม่ที่มีความรู้และทักษะหลากหลายรอบด้าน ดังนั้นคุณพ่อ-คุณแม่ ผู้ปกครองจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับลูกสู่การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนไปของโลกและสังคมในอนาคต

          ดร.การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ C asean คอมมิวนิตี้เพื่อสร้างเครือข่ายแห่งอนาคตของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีบทบาทนอกงานคือการเป็นคุณแม่ยุคใหม่ของลูกสาวสองคน อธิบายว่า การจะพัฒนาไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้ เราต้องพร้อมทุกองค์ประกอบ ถ้าไม่พร้อมเราจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีทันที เพราะในวันข้างหน้าอุตสาหกรรมที่จะโดดเด่นคือ หุ่นยนต์ สมองกล คนที่จะกลายเป็นผู้คิดค้นได้จึงต้องฉลาดกว่าคอมพิวเตอร์ ทักษะที่สำคัญจึงเป็นความแตกต่างทางความคิด มากกว่าการคิดแก้ปัญหาให้เร็วอย่างที่ผ่านมา ดังนั้น การคิดวิเคราะห์ที่ฉับไว (Critical thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) จึงสำคัญมาก การเลี้ยงลูกในทุกวันนี้พ่อแม่ไม่ใช่คนวางแผนทุกอย่างให้ลูก แต่จะทำหน้าที่เปิดประตูแห่งโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ และสามารถเลือกด้วยตัวเองได้ เช่น ปล่อยให้ลูกได้ทดลองในสิ่งที่แม้แต่ตัวพ่อแม่เองก็ไม่เคยทำ หรือคิดว่าการทำผิดคือการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตามมาด้วยการลงโทษเสมอไป

          ?เรามีโครงการหนึ่งที่ร่วมมือกับทางสิงคโปร์ สอนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ ให้สอนเลขเป็น เพราะเรามองว่า คณิตศาสตร์ไม่ใช่วิชา แต่เป็นพื้นฐานที่จะสร้างสมองของคนให้รู้จักตรรกะหรือความเป็นเหตุเป็นผล แต่ในบ้านเรากลับมองว่าเป็นวิชาที่เด็กไม่ชอบเรียน แล้วพ่อแม่ก็ไม่ชอบสอน เราจึงไม่ได้เชื่อมโยงสิ่งที่โรงเรียนสอนเข้ากับชีวิตประจำวันเท่าที่ควร แต่สิงคโปร์มีแนวคิดว่า การเรียนรู้ทุกอย่างรวมถึงคณิตศาสตร์เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน แค่การแบ่งพิซซ่ากับเพื่อนให้ลงตัวก็สามารถทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้เรื่องสัดส่วนได้แล้ว ที่สำคัญการเชื่อมโยงแบบนี้ยังเพิ่มทักษะ การร่วมมือกันทำงานและการแบ่งปัน (Collaboration) รวมทั้งทักษะการสื่อสาร(Communication) ที่ดีให้แก่ลูกได้อีกด้วย

          พ่อแม่ยุคใหม่ควรคิดเสมอว่า พ่อแม่คือครูที่ดีที่สุด เราจึงต้องเชื่อมโยงและเปิดกว้างทางความคิดให้หลากหลายให้แก่ลูกมากที่สุด เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกช่วงชีวิต ดังนั้นการที่ลูกมีความสุข มีสมองที่แจ่มใสพร้อมจะเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด?

          ด้าน ผศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า พ่อแม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเด็กเพื่อที่จะสามารถส่งเสริมได้อย่างถูกต้อง เช่น 4 ทักษะแห่งอนาคต อาทิ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือกันทำงานและการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน

          ?สำหรับช่วงเวลาที่เด็กจะพัฒนาสมองมากที่สุดคือ ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงสามขวบปีแรกของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่โครงสร้างของสมองจะมีการพัฒนาระบบการทำงานที่ซับซ้อน เพื่อการทำงานอย่างไร้ขีดจำกัด จนสามารถเชื่อมโยงและต่อยอดการเรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกหลายล้านเรื่องได้ นั่นคือการพัฒนาสิ่งที่เราเรียกว่า ไซแนปส์ (synapse) ที่จะเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่ายเส้นใยประสาทนับล้านโครงข่าย ก่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะได้มาจากสารอาหารที่เด็กได้รับร่วมกับการกระตุ้นผ่านกิจวัตรประจำวัน อย่างการคิด พูด ฟัง มองเห็น การเคลื่อนไหว?

          ในฐานะกุมารแพทย์ ผศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ บอกว่า สารอาหารที่ครบถ้วนจึงเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมสมองและพัฒนาทักษะของเด็ก ซึ่งมีหลักการง่ายๆ อยู่ว่า ตั้งแต่ขวบปีแรกอาหารหลักคือนม จากนั้นเริ่มเพิ่มอาหารเสริมตามวัยได้หลังจากอายุสี่ถึงหกเดือน หลังจากหนึ่งขวบเป็นต้นไป อาหารหลักก็คือ อาหารสามมื้อที่มีสารอาหารครบห้าหมู่เหมือนที่พ่อแม่กิน และมีนมเป็นอาหารเสริม โดยปัจจุบัน มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่านมที่มี DHA ในปริมาณที่เหมาะสม มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการทางสมอง โดยทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์สมองและจอประสาทตา ส่งเสริมการสร้างปลอกไขมันหุ้มเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) ในสมองซึ่งเป็นฉนวนให้กระแสไฟฟ้าวิ่งได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความเร็วในการรับและส่งสัญญาณกระแสประสาท (Nerve Impulse) ระหว่างเซลล์ประสาท เพิ่มการเชื่อมต่อและสื่อสารระหว่างแสนล้านเซลล์สมองของลูก ยิ่งเซลล์สมองมีการเชื่อมต่อมากขึ้น เร็วขึ้นเท่าไรพัฒนาการทางสมองของลูกก็จะมีมากขึ้น ส่งผลต่อการเรียนรู้ทำให้การเรียนรู้ 4 ทักษะแห่งอนาคตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
         
          ดร.การดี เลียวไพโรจน์
          ผศ.นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า