ผู้เขียน หัวข้อ: โครงการพระราชดำริ "โรงสีชุมชน"  (อ่าน 8517 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2016, 08:01:02 AM
ในฐานะประเทศเกษตรกรรม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันการทำนายังเป็นอาชีพหลัก และเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่ข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญสร้างรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมหาศาล ยังเผชิญปัญหาราคาตกต่ำซ้ำซาก รับนโยบายและมาตรการของรัฐบาลหลายยุคสมัยยังไม่สามารถป้องกันแก้ไขได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มมูลค่าข้าว และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวนา

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานแนวทางที่เกี่ยวข้องกับโรงสีข้าวชุมชน เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัยสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2540 ที่มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

"...ข้าวที่โรงสีนี้ เป็นข้าวที่ไปซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข เพราะขายข้าวในราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคก็ซื้อได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิต ทั้งผู้บริโภคก็มีความสุข..."

วิธีการหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ทำให้เกษตรพึ่งพาตนเองได้ ขณะที่ผู้บริโภคในชุมชนก็สามารถซื้อข้าวในราคาไม่แพง จึงเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์การสร้างรายได้ให้ชาวนา และเพิ่มมูลค่าข้าวได้เป็นอย่างดี

"ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เล่าถึงความเป็นมาของโครงการโรงสีข้าวชุมชนว่า เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่อยากให้เกษตรสามารถช่วยเหลือและดูแลตัวเองได้ และให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กในชุมชนเพื่อสีข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน ส่วนหนึ่งที่เหลือสามารถนำไปแจกจ่ายแบ่งปัน หรือขายในราคาที่ไม่แพง

การที่ชาวนาสามารถขายข้าวสาร แทนการขายข้าวเปลือกได้ ถือว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และจากแนวพระราชดำริ จึงทำให้โรงสีข้าวชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมาก

หนึ่งในตัวอย่างของโรงสีข้าวชุมชนที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ โรงสีข้าวพระราชทานบ้านโนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ในพื้นที่โครงการเมืองสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งสมาชิกสหกรณ์และชาวบ้านส่วนใหญ่ยังทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ละปีจะมีข้าวที่เหลือกินและจะต้องนำข้าวเปลือกออกขายเป็นจำนวนมาก และเกิดปัญหาถูกโรงสีเอกชนเอารัดเอาเปรียบ

พระราชพิพัฒนาทร (ถาวร จิตตถาวโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ผู้ก่อตั้งธุดงคสถานถาวรนิมิต จ.นครนายก พิจารณาเห็นว่าหากชาวนาขายข้าวสารแทนการขายข้าวเปลือก จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มจึงขอพระราชทานโรงสีข้าวจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 6.8 ล้านบาท ก่อสร้างโรงสีข้าวให้สหกรณ์บริการถาวรพัฒนา จำกัด

"ดร.วิณะโรจน์" กล่าวว่า โรงสีข้าวพระราชทานมีขนาดกำลังการผลิตที่ 40 ตันต่อวัน ซึ่งเหมาะสมกับชุมชน และเมื่อสร้างเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปทรงเปิดโรงสีข้าวพระราชทาน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 และเริ่มดำเนินการโดยรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือก และสีข้าวออกจำหน่าย ตั้งแต่ 17 พ.ย. 2541 เป็นต้นมา

โดยมุ่งเน้นที่จะทำให้โรงสีแห่งนี้เป็น "โรงสีแห่งความสุขร่วมกัน" ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540

ขณะเดียวกันเกษตรกรอีกหลายพื้นที่ได้มีการรวมกลุ่มกันหลากหลายรูปแบบทั้งในวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ฯลฯนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพสร้างรายได้โรงสีชุมชนจึงเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่งผลดีทำให้ชาวนามีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1478062010