ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสนาในสยามประเทศ  (อ่าน 2096 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 08:50:05 AM

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้น ในตระกูลกษัตริย์ราชวงศ์ "ศากยะ" ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทางตอนเหนือสุดของประเทศอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล) เมื่อพระองค์ได้ทรงออกผนวช และทรงตรัสรู้ อริยสัจจ์ ความจริงอันสูงสุดแล้วนั้น พระองค์ได้ทรงจาริกเผยแผ่พระธรรมไปยังที่ต่างๆของประเทศอินเดีย และมีผู้เลื่อมใสศรัทธาในคำสอนของพระองค์จำนวนมาก แม้หลังจากที่พระองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วก็ตาม

ครั้น ต่อมา ราวปี พ.ศ.๒๗๕-๓๑๐ ประเทศอินเดียในสมัยนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งเมารยะวงศ์ ทรงทำสงครามกับแว่นแคว้นต่างๆในอินเดีย และกรีฑาทัพไปยังเมือง กลิงคราฎร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางลุ่มแม่น้ำมหานทีตอนใต้ของแคว้นมคธ พวกกลิงค์ถูกสังหารนับแสนและที่ได้รับบาดเจ็บทุกข์ทรมานอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้พระเจ้าอโศกรู้สึกโศกสลดพระทัยอย่างยิ่ง และครานั้นเองที่พระองค์ได้ทรงพบกับสามเณรในพระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของเณร จึงนิมนต์เข้าไปในวังเพื่อสนทนาธรรมด้วย เณรได้เตือนสติให้ทรงเลิกอุปนิสัยอันดุร้ายเสีย ด้วยพระธรรมคำสอนว่า "ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งพระนิพพาน" พระเจ้าอโศกฟังเณรแล้วทรงรู้สึกซาบซึ้งในธรรมนั้น และยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความปิติเลื่อมใส ประกาศรับไตรสรณาคมน์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ออกเผยแพร่และทำนุบำรุงพระศาสนาให้แผ่ไพศาล ไปเกือบทั่วประเทศอินเดีย ทรงหันมาปกครองประเทศโดยใช้ธรรมะเป็นหลัก เรียกว่า "ธรรมาธิปไตย" ทรงสร้างพระสถูปและบรรจุพระบรมธาตุทั่วชมพูทวีปถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ ทรงสร้างเสาและรั้วหิน วิหาร วัดวาอารามอีกมากมายตามเมืองและสถานที่สำคัญต่างๆ จึงเป็นกาลสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญถึงขีดสุดและพระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูตออก เผยแผ่ธรรมของพระพุทธองค์ไปยังประเทศต่างๆ เช่นประเทศลังกา พม่า และสยาม พระธรรมทูตทั้ง ๒ องค์ของพระเจ้าอโศกมหาราชคือ พระโสณะและพระอุตตระ

ใน ช่วงเวลาที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้กรีฑาทัพไปยังเมืองกลิงคราฎร์นั้น ชาวอินเดียตอนใต้จำนวนหนึ่งต่างพากันอพยพหนีภัยสงครามยุทธในคราวนั้น เดินทางเข้าทางประเทศพม่า ตลอดถึงพื้นที่แหลมมลายู และได้นำเอาศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รวมทั้งศาสนา ลัทธิ เข้ามาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน เช่น ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และศาสนาพราหมณ์ซึ่งนับถือเทพเจ้า คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม รวมทั้งเทพตรีมูรติ ซึ่งเป็นองค์ผสมของเทพเจ้าทั้งสามองค์ กับยังนับถือเทพเจ้าและเทพเทพีชั้นรององค์อื่นๆอีกเช่น พระพิฆเนศวร พระสรัสวดี พระขันธกุมาร พระลักษมี พระอุมาเทวี และยังเคารพนับถือ รูปสัญลักษณ์ คือ ศิวลึงค์ โดยถือว่าเป็นรูปสัญลักษณ์ของเทวราช พวกพราหมณ์จะมีบทบาททั้งในด้านการให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์ในเรื่องการปกครอง แบบแผนพระราชพิธีของราชสำนัก รวมถึงเป็นผู้กำหนดพิธีกรรมต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของประชาชนภาย ในรัฐนั้นๆอีกด้วย

แหลมสุวรรณภูมิ ได้เป็นศูนย์กลางการค้าของอินเดียและจีน แต่อารยธรรมอินเดียมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและการวางรากฐานทางวัฒนธรรมของผู้ คนในเอเชียอาคเนย์มากกว่าอารยธรรมจีน ประชาชนในพื้นที่แม้จะรับเอาอารยธรรมต่างๆที่หลั่งไหลเข้ามา แต่ก็นำมาประยุกต์รวมกับอารยธรรมท้องถิ่นที่ตัวเองมีอยู่ จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสมผสาน

นอก จากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์แล้ว ศาสนาพุทธก็ได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิด้วยเช่นกัน (ถ้ายึดถือตามหนังสือมหาวงศ์แล้วอาจจะกำหนดได้ว่า ศาสนาพุทธเข้ามาสู่ดินแดนนี้ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คือช่วง พ.ศ.๒๗๕-๓๑๐ อย่างไรก็ตามมีนักโบราณคดีบางท่านให้ความเห็นว่า พุทธศาสนาเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังสมัยพระเจ้าอโศก)

พุทธ ศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งออกเป็น ๒ นิกาย คือนิกายเถรวาทหรือหินยาน เป็นนิกายซึ่งนับถือปฏิบัติตามแบบแผนเดิม และนิกายอาจริยวาทหรือมหายานซึ่งเป็นนิกายที่ดัดแปลงปรับปรุงขึ้นใหม่ ในกรณีของดินแดนสยาม การนับถือนิกายเถรวาทจะปฏิบัติอยู่ทางตอนกลางและตอนบนของประเทศ ส่วนดินแดนตอนล่างจะนับถือปฏิบัติตามนิกายอาจริยวาทซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากใน สมัยศรีวิชัย

แต่ในทางปฏิบัติจริงๆแล้ว พุทธศาสนิกชนในดินแดนสยามประเทศนับถือพุทธศาสนาที่มีลักษณะผสมผสานระหว่าง แนวความคิดของนิกายเถรวาท อาจริยวาท และรวมทั้งพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์เข้าด้วยกันตลอดมา

พุทธ ศตวรรษที่๑๒-๑๖ (ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๖๐๐) สมัยอาณาจักรทวาราวดี ซึ่งมีอาณาเขตประมาณจากราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง ได้มีการส่งสมณทูตเข้ามาเผยแผ่พระธรรมในแผ่นดินสยามอีก และนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระปฐมเจดีย์คือเจดีย์แห่งแรกในประเทศไทย ครานั้นพระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่น จวบกระทั่งอาณาจักรทวาราวดีเสื่อมไป

พุทธ ศตวรรษที่๑๓-๑๘ (ประมาณ พ.ศ.๑๒๐๐-๑๘๐๐) สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเชื่อกันว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการรับอิทธิพลทางด้านศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธฝ่ายหินยานและมหายานเข้า มาในยุคนั้น โดยเฉพาะนิกายมหายานมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ดังที่ได้พบประติมากรรมสำริดรูปพระโพธิสัตว์ปางต่างๆ เช่นนางดารา นางปัญญาบารมี ส่วนศาสนาพราหมณ์ที่รับเข้ามานั้นจะเน้นเรื่องการปกครอง แต่การรับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียก็มิได้รับมาทั้งหมด หากแต่นำมาปรับให้เข้ากับของเดิมที่มีอยู่

พุทธ ศตวรรษที่๑๑(ประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐-๑๑๐๐) พงศาวดารเหนือระบุว่าได้เริ่มสร้างเมืองละโว้ (ลพบุรี) ขึ้น โดยพระยากาฬวรรณดิศ แต่เมื่อพิจารณาที่ตั้งของอาณาจักรแล้วละโว้อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ทวาราวดีก็เป็นได้ เนื่องจากหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับศิลปกรรมของทวาราวดีครอบคลุมไปถึงแถบเมือง นครสวรรค์

ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ (ประมาณ พ.ศ.๑๕๐๐-๑๘๐๐) การขยายอำนาจของขอมแผ่ขยายเข้ามายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก จนถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ละโว้ได้รับรูปแบบศิลปขอม และรับการปกครองระบบกษัตริย์แบบเทวาธิราช ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานรวมทั้งศาสนาพราหมณ์ เป็นยุคที่ขอมเรืองอำนาจมาก

พุทธศตวรรษ ที่ ๑๗-๒๑ อาณาจักรเชียงแสน มีอาณาเขตอยู่ทางภาคเหนือ จาก ๑๒ปันนา ถึงหริภุญชัย นับถือศาสนาพุทธนิกายหินยาน จากอินเดียสมัยราชวงศ์ปาละโดยผ่านเข้ามาทางประเทศพม่า แม้กระนั้นก็ถูกขอมเข้าตีและยึดอำนาจครอบครอง

พุทธ ศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ อาณาจักรสุโขทัย ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือพื้นที่ตอนบนของภาคกลาง ราวปี พ.ศ ๑๘๐๐ พ่อขุนบางกลางท่าวกับพ่อขุนผาเมืองได้ร่วมกันโจมตีขอม ได้เมืองหน้าด่านสุโขทัยคืนมาจากอำนาจขอม พ่อขุนบางกลางท่าวหรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์ พระร่วงทรงสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยใช้ระบบการปกครองเยี่ยงบิดาปกครองบุตร ทรงพยายามปลดแอกจากอิทธิพลขอม ด้านการศาสนาได้มีการอัญเชิญพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์จากเมืองนครศรีธรรมราชมาปลูกฝัง ทะนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรือง มีการฟังเทศน์ ฟังธรรม รักษาศีล ทำบุญ ทำทาน สร้างวัด กระทั่งมีความเจริญรุ่งเรืองแพร่หลายไปทั่วทุกภาคของเมืองไทยจนกลายเป็น ศาสนาประจำชาติของคนไทยตั้งแต่นั้นมา โดยมีความเจริญรุ่งเรืองควบคู่ไปกับงานศิลปกรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่นภาพเขียนลายเส้นที่วัดศรีชุม ภาพลายเส้นบนรอยพระพุทธบาทที่ทำด้วยสำริด รูปหล่อสำริด รูปปูนปั้นต่างๆ

อาณาจักร อยุธยา เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ กระทั่งเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ เป็นอาณาจักรที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางทางการค้ากับต่างประเทศ ทั้งทางเอชีย และยุโรป จึงมีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งชุมชนอยู่ไม่น้อย เป็นอาณาจักรที่มีความเข้มแข็ง สามารถรวบรวมดินแดนต่างๆ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัย ไว้ในครอบครองได้ และในบางครั้งสามารถครอบครองอาณาจักรขอมเอาไว้ได้ด้วย นับว่าเป็นสมัยที่ประเทศสยามมีอาณาเขตแผ่กว้างไปมากที่สุด ในสมัยนี้ได้กลับมารับรูปแบบการปกครองของอินเดียโดยผ่านทางเขมร โดยวางรูปแบบการปกครองแบบเทวราชา เช่นเดียวกับกษัตริย์เขมร แต่ได้นำศาสนาพุทธเข้ามาผสมผสาน โดยถือว่ากษัตริย์เป็นทั้งเทวดาและพระโพธิสัตว์อีกด้วย กษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หลายพระองค์ทรงผนวช ได้สร้างประเพณีพุทธศาสนาแบบผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์ไว้มาก และได้สืบทอดต่อถึงกาลปัจจุบันด้วยเช่นกัน

รัตน โกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี หลังจากสิ้นสมัยของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีซึ่งมีระยะเวลาอยู่ ประมาณ ๑๕ ปี กรุงเทพจึงเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรไทยจวบปัจจุบันสมัย ศิลปวัฒนธรรมและการศาสนาได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง มีการรับความเจริญก้าวหน้าจากทางตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศ รวมทั้งปฏิรูปการปกครองและสังคมให้ทัดเทียมนานาชาติอีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

อโศกมหาราชและข้อเขียนคนละเรื่องเดียวกัน, กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย.
ตามรอยบาทพระศาสดา, ไพโรจน์ คุ้มไพโรจน.์
มรดกสยาม, อรุณ เวชสุวรรณ.
อารยะธรรมโลก (HI103), ภาควิชาประวัติศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
โบราณคดีเบื้องต้น,รองศาสตราจารย์ปรีชา กาญจนาคม, ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.