ผู้เขียน หัวข้อ: ความเชื่อเรื่อง "แม่ซื้อ" เทวดาข้างกายทารก  (อ่าน 5061 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3910
       "แม่ซื้อ" ชื่อนี้คงเป็นที่คุ้นหูของคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายในอดีต รวมถึงพี่ป้าน้าอายุคนี้อีกหลายคน แต่ก็เชื่อว่าในบางพื้นที่ หรือบางคน ความเชื่อเรื่องแม่ซื้ออาจไม่เคยได้มีโอกาสย่างกรายเข้าไปทำความรู้จักก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่วิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในทุก ๆ ด้าน และอาจทำให้ความเชื่อที่มีมาแต่โบราณถูกมองข้าม จนเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันได้ในที่สุด
       
       สำหรับความเชื่อเรื่องแม่ซื้อนั้น บ้างก็ว่า แม่ซื้อเกิดมาเพื่อพิทักษ์รักษาเด็กไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย บ้างก็ว่าแม่ซื้อคือผีที่มีจิตใจริษยา และอาจทำให้เด็กไม่สบายได้ เป็นความเชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ตลอดจนพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับแม่ซื้อแตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ อิทธิพลจากวัฒนธรรมของดินแดนใกล้เคียงมีผลค่อนข้างมาก
       
       ยกตัวอย่างเช่น ในภาคกลาง เชื่อว่า "แม่ซื้อ" เป็นภูตประจำทารก มีอยู่ 7 ตน มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ได้แก่
       
       วันอาทิตย์ชื่อ "วิจิตรมาวรรณ" มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง
       
       วันจันทร์ชื่อ "วรรณนงคราญ" มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล
       
       วันอังคารชื่อ "ยักษบริสุทธิ์" มีหัวเป็นควาย ผิวกายสีชมพู
       
       วันพุธชื่อ "สามลทัศ" มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว
       
       วันพฤหัสบดี มีชื่อว่า "กาโลทุกข์" มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน
       
       วันศุกร์มีชื่อว่า "ยักษ์นงเยาว์" มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน
       
       วันเสาร์ชื่อว่า "เอกาไลย์" มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ
       
       กล่าวกันว่าแม่ซื้อทั้งเจ็ดตนนี้ แต่ละตนจะสำแดงเดชให้ทารกได้รับความเจ็บป่วยแตกต่าง ๆ กันไป เช่น ทำให้ปวดท้อง อาเจียน ร้องไม่หยุด หรือบางครั้งก็มีอาการหวาดผวา ส่วนในภาคเหนือ "แม่ซื้อ" หมายถึงเทวดาที่คุ้มครองเด็กแรกเกิดหรือเป็นเทวดาประจำตัวทารก ซึ่งก็จะมี 7 ตนเช่นกัน แต่ละตนก็จะมีชื่อเรียกและการแต่งกายคล้ายกับทางภาคกลาง
       
       หันไปทางภาคใต้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า "แม่ซื้อ" เป็นสิ่งเร้นลับ จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่ปรากฏชัด ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ขวบ มีด้วยกัน ๔ ตนเป็นผู้หญิงชื่อ ผุด ผัด พัดและผล
       
       ส่วนทางภาคอีสาน ได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับแม่ซื้อจากเขมร จึงมีความเชื่อว่า แม่ซื้อคือแม่คนเก่า ที่มีหน้าที่สร้างทารกในครรภ์ขึ้นมา จากนั้นก็คอยเฝ้าเลี้ยงดูจนกระทั่งคลอด แล้วก็ยังตามมาดูแลด้วยความรัก แม่ผีพรายนี้เมื่อเห็นเด็กทารกมีแม่ใหม่ก็เกิดความหวงแหน อยากได้ลูกกลับไปอยู่เมืองผีกับตน จึงดลบันดาลให้เด็กเกิดอาการเจ็บป่วย เป็นต้น
       
       ขณะที่สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ได้มีการกล่าวถึงความเชื่อเรื่องแม่ซื้อเอาไว้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการเกิดของคนไทย เมื่อเด็กเกิดมาแล้วต้องมีแม่ซื้อ โดยสมมติให้มีหญิงที่คุ้นเคยกับครอบครัวของเด็กมาขอซื้อเด็กไปจากพ่อแม่ เพื่อเป็นการแสดงให้ผีรู้ว่าพ่อแม่ไม่อาลัยรักในลูก จึงให้คนอื่นซื้อไป เพราะถ้าแสดงว่ารักลูกห่วงลูกแล้ว ผีที่มีจิตใจริษยาอาจมาเอาชีวิตเด็กไปได้
       
       พิธีรับขวัญทารกในแต่ละภาค
       
       จากความเชื่อที่แตกต่างกัน ทำให้ในแต่ละภูมิภาคมีพิธีเกี่ยวกับแม่ซื้อแตกต่างกันออกไปด้วย โดยในภาคกลาง จะมีการทำพิธีที่ชื่อว่า "พิธีบำบัดพิษแม่ซื้อ" โดยผู้ทำพิธีจะทำบัตรขึ้นมาใบหนึ่ง ในบัตรจะใส่ของกินต่างๆ เช่น ข้าว น้ำ กุ้งพล่า ปลา ฯลฯ และตุ๊กตาดินรูปผู้หญิงนั่งพับเพียบประคองเด็กอยู่ในตัก เมื่อเจ้าพิธีกล่าวคำในพิธีจบก็จะหักหัวตุ๊กตาใหัหลุดออก เสมือนให้แม่ซื้อเอาไปเล่นแทนได้ เชื่อกันว่า ทารกจะไม่เจ็บป่วยจากการรบกวนของแม่ซื้ออีก
       
       ส่วนของภาคใต้ เด็กทารกเกิดใหม่จะมีพิธีชื่อว่า "ทำแม่ซื้อ" หรือ "เสียแม่ซื้อ" โดยเชื่อว่าพิธีดังกล่าวเป็นสิริมงคลแก่ตัวเด็ก และจะได้รับการดูแลรักษาด้วยดีจากแม่ซื้อ การทำพิธีมักจะทำในวันเกิดของเด็ก หากเป็นวันข้างขึ้นก็ให้ใช้วันคี่ ข้างแรมให้ใช้วันคู่
       
       สำหรับภาคอีสาน จะมีพิธีรับขวัญเด็กอ่อน ด้วยการนำเด็กทารกมาใส่กระด้งร่อน แล้วกล่าวว่า ?สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ" ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่าเป็นลูกตน คนทำพิธีก็จะส่งลูกให้ แม่ซื้อเดิมก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว และจะไม่มารบกวนอีก
       
       อย่างไรก็ดี ประเพณีดังกล่าวไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประเพณี หรือวัฒนธรรมของคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากบางท้องที่อาจไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีแม่ซื้อเลยก็เป็นได้
       
       เรียบเรียงข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน

       ที่มา : http://www.baanjompra.com/webboard/thread-9749-1-5.html