ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาของการปูกระเบื้อง กับการศึกษานอกระบบ  (อ่าน 2145 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
ปรัชญาของการปูกระเบื้อง กับการศึกษานอกระบบ

******************

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สารวนอยู่กับการปูกระเบื้อง เพื่อทำลานกิจกรรมกับเด็กๆนักศึกษา เมื่อได้ลงมือทำ ก็เห็นถึงความยากลำบาก และหวนนึกถึงงานของเรา การปูกระเบื้องครั้งนี้ช่างเข้ากับงาน กศน. เหลือเกิน

กระเบื้องที่เรารับบริจาคมานั้น เป็นกระเบื้องที่ถูกคัดออกจากโรงงาน มีดีบ้าง มีตำหนิ บิ่น แตก ร้าว เล็กใหญ่ไม่เท่ากันบ้าง แต่เราก็ยินดีที่จะรับมา เพราะเราคาดหวังไว้ว่าเมื่อเราทำสำเร็จ มันจะสวยงามในแบบฉบับของเรา ที่ไม่เหมือนใคร และเกิดประโยชน์ในการให้บริการต่อสังคม เมื่อหันไปมองการจัดการศึกษาของ กศน. ก็คล้ายกับการปูกระเบื้อง นักศึกษาของเรา แต่ละคนที่เข้ามาไม่ค่อยจะมีความพร้อมและสมบูรณ์แบบ บางส่วนถูกคัดออกจากระบบโรงเรียน บางส่วนต้องเผชิญชีวิตอยู่ในสังคมที่วุ่นวาย เป็นปัญหาของสังคม ชีวิตมีตำหนิ และปัญหาต่างๆอีกหลากหลายเรื่องราว
เราใช้เวลาในการปูกระเบื้องครั้งนี้ ค่อนข้างนานมากๆ ด้วยเหตุผลที่ว่ากระเบื้องไม่ได้ตามมาตรฐาน และมีตำหนิ เราต้องค่อยๆลองจัดวางให้ลงตัว เปลี่ยนมุม ปรับเหลี่ยม หลายตลบ เคาะแล้วเคาะอีก เบาบ้างแรงบ้าง กว่ามันจะเข้าที่เข้าทาง ตรงตามแนวเส้นที่เราขึงไว้ กว่าจะได้แต่ละแผ่น และก็อดไม่ได้ที่จะมีแถวคดบ้างตามประสาของกระเบื้องมีตำหนิ เมื่อปูเสร็จ เราก็ยาแนวเพื่อกลบ ลบร่อง และรอยร้าวต่างๆให้จางลง แล้วก็ขัดถูทำความสะอาด เพื่อให้ทุกแผ่นที่เราปูไปนั้น เมื่อคนมองในภาพรวมแล้วเกิดความเรียบร้อยสวยงามตามที่เราต้องการ

กระเบื้องก็เหมือนนักศึกษา ลานกิจกรรม ก็คือ สังคมที่เราอยู่ เราพยายามให้กระเบื้องแต่ละแผ่นของเรามีความสวยงามและมีตำหนิน้อยที่สุด มีคุณค่า ในยามที่คนทั่วไปมองผ่านมา

หากท่านเลือกได้ ระหว่างกระเบื้องที่สวยงามตามมาตรฐานโรงงาน กับกระเบื้องที่มีตำหนิ ท่านจะเลือกปูกระเบื้องแบบไหน แต่สำหรับคน กศน. อย่างพวกเรา มีคำตอบในใจอยู่แล้วครับ

*******************

เลิศชาย ปานมุข
23 พฤศจิกายน 2559