ผู้เขียน หัวข้อ: ผลวิจัยต่างชาติชี้ปริญญาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของแรงงานรุ่นใหม่  (อ่าน 2171 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
ผลวิจัยต่างชาติชี้ปริญญาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของแรงงานรุ่นใหม่ เทรนด์ตลาดโลกชี้เลือกทักษะนำหน้าปริญญา พบวิกฤต ?แรงงานรุ่นใหม่มีทักษะไม่ต่างจากแรงงานที่กำลังเกษียณ? ผู้เชี่ยวชาญย้ำ ภาครัฐ-เอกชนเร่งยกระดับทักษะฝีมือภาค SMEs หวังไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง 

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จัดเวทีประชุมนานาชาติเรื่อง ?การยกระดับกำลังคนของไทย:ทางออกจากกับดักรายได้ปานกลาง? เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการยกระดับฝีมือทักษะแรงงานรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ โดยสสค.ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีตามแผนสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นนำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด คือ ตาก ตราด หนองคาย และสระแก้ว

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานเปิดงานได้นำเสนอตัวเลขล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 15-59 ปี จำนวนทั้งสิ้น 39 ล้านคน แต่มีแรงงานเพียง 11 ล้านคนที่เป็นแรงงานในระบบ หากสามารถดึงแรงงานนอกระบบที่เหลือคืนสู่ระบบก็จะสร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศ ฉะนั้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำเป็นต้องมองภาพทั้งสองด้านคือภาพแรงงานในระบบและนอกระบบไปพร้อมกัน และเชื่อมต่อกับภาพรวมด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไป

?รัฐบาลได้ผลักดันกฎหมายสองฉบับที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้คือ 1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป พัฒนาฝีมือลูกจ้างแรงงานของตน โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี และ 2) พระราชบัญญัติส่งเสริมการมีงานทำที่อยู่ระหว่างการผลักดัน ที่กำหนดให้นักเรียนระดับชั้นม.3 และชั้นม.6 ก่อนจบการศึกษาหรือก่อนที่จะต้องเลือกสายการเรียนต่อให้เข้ารับการทดสอบความสามารถเพื่อแนะแนวอาชีพที่ตนเองถนัดเพื่อนำไปเป็นแนวทางเลือกศึกษาต่อหรือทำงานในอนาคต และกำหนดให้นายจ้างแต่ละกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมแจ้งความต้องการจ้างแรงงานมายังกระทรวงแรงงานทั้งจำนวนคนที่ต้องการ เพศ อายุ ระดับการศึกษาและทักษะที่ขาดต้องการ โดยกระทรวงแรงงานจะนำข้อมูลมาวางแผนผลิตกำลังคนรองรับตลาดแรงงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนจัดทำหลักสูตรทวิภาคี ให้แรงงานรุ่นใหม่ที่ยังศึกษาเข้าฝึกงานเรียนรู้งานกับองค์กร โดยผู้ประกอบการจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ในขณะเดียวกันแรงงานรุ่นใหม่ก็มีความพร้อมในทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยในปัจจุบัน?

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า แนวโน้มของแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การทำงานกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงต้องหาวิธีการให้โรงเรียนผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะแรงงานคือ ?ทุน? สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จึงเป็นที่มาในการประชุมระดมความคิดเห็นในวันนี้ โดยผลการประชุมจะพัฒนาเป็นแนวทางการทำงานที่สำคัญและอยู่บนฐานความรู้สากล ทั้งนี้หากประเทศไทยสามารถสังเคราะห์ยุทธศาสตร์ในการทำงานในตลาด SMEs ได้ก็จะนำไปสู่การขยายผลในการทำงานร่วมกันให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง แรงงานและตรงตามนโยบายรัฐบาล

มร.แอนเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ (โออีซีดี) กล่าวว่าจากผลการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ (Survey on Adults Skills) อายุ 16-59 ปี ในกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวน 24 ประเทศ พบว่าแนวโน้มตลาดแรงงานโลกจะให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีทักษะ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักคิดวิเคราะห์  การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร และการประสานความร่วมมือ รวมถึงลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพ  ได้แก่ ความไม่ย่อท้อ ความสามารถในการปรับตัว ความใคร่รู้ เป็นต้น มากกว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยต้องจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการฝึกอบรมให้ตรงกับสาขาวิชาชีพ สำหรับประเทศไทย นอกจากทักษะของบุคลากรที่จบมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภาคการผลิตของประเทศส่วนใหญ่ยังผลิตสินค้าราคาถูก ใช้แรงงานฝีมือไม่สูง และค่าจ้างถูก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทย ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และประชาชนจำเป็นต้องคิดและหาทางออกร่วมกัน และควรวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจนว่า การศึกษาและการพัฒนาทักษะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไร เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง

นางสาวอกิโกะ ซากาโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะและการจ้างงานจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้นำเสนอผลการสำรวจผู้ประกอบการในอาเซียนจำนวน 4,076 ราย และนักเรียนนักศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอาเซียนจำนวน 2,747 คน โดยในตลาดแรงงานอาเซียนพบว่าแรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานกลับมีทักษะไม่ต่างจากแรงงานที่กำลังเกษียณ และพบว่าในยุคการทำงานที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง กลุ่มแรงงานผู้หญิงและกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หากไม่มีการพัฒนาทักษะ นอกจากนี้จากการสำรวจแรงงานรุ่นใหม่ (อายุ 18-24 ปี) ของไทยมีความสนใจงานด้านข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร การจัดการการเงิน และด้านศิลปะบันเทิง โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะสร้างการเรียนรู้อย่างไรให้สอดรับกับทักษะที่ตลาดโลกต้องการ ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง แต่ทักษะของบัณฑิตและผู้จบการศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศกัมพูชากลับสวนทาง

ดร.ไมค์ วาย เค กู อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติผิงตุง ไต้หวัน กล่าวว่า ประเทศไทยซึ่งแรงงานและประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมระดับความสามารถด้านการผลิตและการบริหารจัดการโดยการใช้เกษตรกรรมฐานความรู้ (Knowledge-based Agriculture และมีทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีได้เช่นเดียวกับไต้หวัน ?เมื่อ 60 ปีที่แล้วไต้หวันเคยเป็นประเทศที่มีภาคเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศไทย แต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมไฮเทค ส่งผลให้ภาคเกษตรปรับตัวอย่างมากโดยเปลี่ยนจากการทำเกษตรที่มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องอาหารปลอดภัย คุณภาพทางโภชนาการ การผลิตที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาชนบท และการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยถึงแม้ว่า จีดีพีภาคเกษตรจะลดลงจากร้อยละ 30  ในปี 2493 เป็นร้อยละ 2 ในปี 2558 และจำนวนเกษตรกรลดลงจากร้อยละ 50 ในปี 2493 เหลือร้อยละ 6-10 ในปี 2558 แต่ก็ทำให้เกษตรกรจำนวนดังกล่าวมีรายได้สูงขึ้นมาก เพราะใช้ ICT, GIS, GPS, เทคโนโลยีชีวภาพ เข้ามาช่วยในงานเกษตรกรรม?

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าผลงานวิจัยที่ทำร่วมกับ สสค. ในการศึกษาตลาดแรงงานและผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ ตราด และภูเก็ต) จะพบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับวุฒิของลูกจ้างเรียงตามลำดับคือ ทักษะทางอาชีพ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความซื่อสัตย์ และวุฒิการศึกษา อย่างไรก็ตามพบว่าบ้านเรายังมีช่องว่างทางทักษะของแรงงานที่สูงมาก และเมื่อมองไปยังตลาดเอสเอ็มอี แม้ว่าจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจภาพรวมของไทย ยังพบด้วยว่า 35% ของเอสเอ็มอีไทยจะไปไม่รอดภายในสามปี เพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ และในกลุ่มของเอสเอ็มอีที่อยู่รอด 65%จะมีเพียงแค่ 7-8% เท่านั้นที่โตขึ้น แต่ที่เหลืออาจต้องใช้ไม่น้อยกว่า 7-8 ปี ที่จะเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สัดส่วนที่โตขึ้นน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียถึงสามเท่า

ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการลดลงของผลิตภาพและกำลังแรงงาน โดยจากการศึกษาโครงสร้างตลาดแรงงานพบว่า ภาพรวมการเติบโตของผลิตภาพแรงงานใน 3 ภาคเศรษฐกิจ (บริการ การผลิตและการเกษตร) ของไทยในช่วง 40 ปีลดลง โดยปัจจุบันการเติบโตของผลิตภาพแรงงานภาคบริการต่ำกว่าภาคเกษตร และผลิตภาพแรงงานภาคการผลิตมีสูงที่สุด เพื่อให้สามารถก้าวข้ามการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจมูลค่า (Value-based Economy) ที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมใหม่ๆ และภาคบริการ ส่วนในด้านแรงงานควรมีการพัฒนาให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเพื่อปิดช่องว่างทักษะ ทั้งนี้ควรส่งเสริมให้มี ?มาตรฐานฝีมือตามวิชาชีพ? ให้แก่แรงงานนอกระบบที่ไม่มีทักษะ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการทั้งประสิทธิภาพด้านกำไรและต้นทุน 

ที่มา : http://www.qlf.or.th