เกร็ดความรู้ > ประวัติบุคคลสำคัญของไทย

ทองใบ ทองเปาด์ ทนายของคนยากไร้ รางวัลรามอนแมกไซไซ

(1/1)

เลิศชาย ปานมุข:


ประวัติ

ทองใบ ทองเปาด์ (12 เมษายน พ.ศ. 2469 - 24 มกราคม พ.ศ. 2554) ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 และสมาชิกวุฒิสภา

ทองใบ ทองเปาด์ เกิดที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของ นายหนู และนางเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นมัธยม 6 ที่จังหวัดมหาสารคาม และมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างศึกษาในกรุงเทพ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จึงอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงครามมาตลอด

หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ร่วมกับสุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง" (เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ)

ในปี พ.ศ. 2501 ได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปประเทศจีน ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาจึงถูกจับขังคุกหลายปีโดยไม่มีความผิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509 ออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์

ทองใบ ทองเปาด์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2527 ? 2529 และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่ทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นมีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน(สามีของนางคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ. 2526  ทองใบ ทองเปาด์ ได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

บางแง่มุมบทสะท้อนแนวคิดของทนายทองใบ

"ทองใบ ทองเปาด์" เป็นทนายความให้กับผู้ยากจน คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคม โดยมิได้คิดค่าตอบแทน ไม่เพียงคดีปกติธรรมดาเท่านั้น คดีความสำคัญๆ ที่ไม่มีใครกล้ารับ เช่น คดีแรงงาน คดีชาวสลัม คดีเด็กและสตรี คดีทางการเมือง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคดีรักษาผลประโยชน์เพื่อแผ่นดิน "ทองใบ ทองเปาด์" อาสาเป็นทนายแก้ต่างให้ทั้งหมด

ความเป็นนักต่อสู้ของ "ทองใบ ทองเปาด์" เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทยและได้กับการกล่าวขานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลงานที่โดดเด่นเมื่อครั้ง "ทองใบ ทองเปาด์" ต้องโทษถูกจองจำในคุกลาดยาวในฐานะนักโทษทางการเมือง ระหว่างปี 2501-2509

ในครั้งนั้น "ทองใบ ทองเปาด์"ได้พลิกประวัติศาสตร์เมืองไทย ลุกขึ้นสู้ ชูธงเรื่องสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาล จนในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้ชนะคดี ทำให้ "ทองใบ ทองเปาด์" และประชาชนจำนวนมากได้รับอิสรภาพ หลังจากนั้นไม่นานมูลนิธิรามอนแมกไซไซ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จึงได้มอบ "รางวัลแมกไซไซ" สาขาบริการสาธารณะให้กับเขาในปี 2527

บทบาทของเขาจึงไม่ใช่เพียงทนายความตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคนยากไร้เท่านั้น แต่ภารกิจที่เขาได้ทำในช่วงที่ผ่านมาล้วนเป็นคุณอนันต์กับคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการกำหนดเรื่องการคุ้มครอง "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

ด้วยเหตุนี้ กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มอบรางวัล "นักกฎหมายดีเด่น ประจำปี 2547" ให้กับ "ทองใบ ทองเปาด์" สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดมหาสารคาม และทนายความ หลังจากปีที่ผ่านมา "กล้านรงค์ จันทิก" อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คว้าตำแหน่งนี้ไปครอง

"ทองใบ ทองเปาด์"กล่าวว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิที่สุด เพราะเราเป็นนักกฎหมายชาวบ้านไม่ใช่ข้าราชการ การที่สถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิทางด้านกฎหมายให้การรับรองผลงานที่ปฏิบัติมาจึงรู้สึกดีใจอย่างยิ่ง

นักกฎหมายดีเด่น เล่าว่า ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำงาน 2 อย่าง คือเป็นทนายความกับเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทั้งเขียนหนังสือและต่อสู้ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำมาตลอด สมัยเป็นนายกสมาคมนักเขียนก็เคลื่อนไหวเรื่องนี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำมาตลอดและตั้งใจจะทำต่อไปคือการให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชนแบบให้เปล่า

เหตุใด ? "ทองใบ ทองเปาด์" จึงมุ่งมั่น ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตให้กับคนยาก คนจน โดยไม่คิดถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เขาควรจะได้รับ

"ทองใบ ทองเปาด์" ย้อนอดีตให้ฟังว่า

"ผมตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้องเรียนกฎหมาย เพราะคนยากจนถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะความไม่รู้กฎหมาย ครอบครัวผมเป็นชาวนา มีฐานะค่อนข้างยากจนเพราะว่ากำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก หลังจากเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 พี่สาวและพี่ชายได้ส่งเรียนจบจบ ม.6

เมื่อตอนที่เรียนอยู่ ม.5 ได้มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 คนหนึ่งมาสอนหนังสือ คือ อาจารย์ชัยวุฒิ อัตถากร (ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว) ท่านได้บอกว่า พวกเธอถึงยากจนก็อย่าท้อ จบแล้วไปเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์ได้ เพราะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดโอกาสให้คนจนเรียนได้โดยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย

เมื่อผมจบ ม.6 ก็ไปเป็นครูอยู่พักหนึ่ง จากนั้นพี่สาวก็ส่งเรียนอีก 2 ปี ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พอจบก็ได้เรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำงานหาเงินเรียนเอง

หลังจากเรียนจบตอนแรกอยากจะไปเป็นทนายความแต่ไม่มีเงิน จึงไปทำงานเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์โดยเป็นผู้สื่อข่าว และทำงานทนายความควบคู่ไปด้วย"

"พอผมว่าความไปสักระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่า การเป็นทนายความช่วยชาวบ้านได้จริง แต่ว่าไม่สัมฤทธิผลเสียทีเดียว เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เปรียบเหมือนการตัดหญ้า ที่มักจะตัดข้างบนก่อนแต่ว่ารากยังอยู่ สักพักหนึ่งก็โตขึ้นมา คดีความก็เช่นเดียวกันว่าความไปคดีก็ไม่เคยลด จึงมีความคิดว่าน่าจะทำอีกอย่างไปพร้อมๆ กันด้วย คือสอนกฎหมายให้ชาวบ้าน เพื่อที่เขาจะได้ไม่ทำผิดกฎหมายและสามารถช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้ด้วย"

เมื่อเห็นสัจธรรมเช่นนั้น "ทองใบ ทองเปาด์" จึงเดินสายให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชน ทั้งระดับชาวบ้านในท้องถิ่น นักเรียนในโรงเรียน และคนงานในโรงงาน

"ผมมีความคิดอย่างหนึ่งว่าในเมื่อเราไม่สามารถยกมหาวิทยาลัยมาสอนชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสได้ เราก็มาทำการสอนทำหน้าที่แทนเหมือนยกมหาวิทยาลัยมาให้ชาวบ้านตามต่างจังหวัด และก็ไม่ค่อยห่วงว่าจะมีคนมาเรียนมากหรือน้อย เพราะว่าการที่ให้คนรู้กฎหมายเพิ่มมาคนหนึ่งหรือ 10 คนก็ดีล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น"

ถึงแม้ว่า "ทองใบ ทองเปาด์" จะคว่ำหวอดในวงการกฎหมายมานาน ถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชนทั่วสารทิศ แต่ทุกครั้งที่เขาต้องว่าความสิ่งที่เขากลัวที่สุดคือ กลัวว่าไม่สามารถสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้

"ทองใบ ทองเปาด์" กล่าวว่า อาชีพทนายความไม่มีเสีย จำเลยติดคุกทนายความก็ได้เงิน จำเลยถูกประหารชีวิตทนายความก็ได้เงิน ทุกคดีที่รับว่าความให้จึงรู้สึกหนักใจไม่แพ้กัน กลัวความรู้ประสบการณ์ไม่เพียงพอที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่เราว่าความให้ได้

และสิ่งที่ทำให้ "ทองใบ ทองเปาด์" ยืนหยัดต่อสู้กับอิทธิพลต่างๆ มาตลอดไม่ใช่เพียงรางวัลชีวิตที่หน่วยงานต่างๆ ประกาศเกียรติคุณให้ แต่ทว่าเป็นกำลังใจจากคนกลุ่มเล็กๆ ในสังคม

"ครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสได้ช่วยเด็กอีสาน 8 คน จากจังหวัดอุดรธานี พวกเขามาทำงานที่กรุงเทพฯ และถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ นานา ถูกจับตกเป็นผู้ต้องหาและเป็นจำเลย ผมจึงไปว่าความให้ ในที่สุดศาลตัดสินให้เด็กชนะคดีโดยยกฟ้อง ผมรีบไปรับตัวเด็กส่งกลับบ้านพร้อมให้เงินติดกระเป๋าไปอีกคนละ 50 บาท ซึ่งต่อมาภายหลัง เด็กเขียนจดหมายมาถึงด้วยข้อความสั้นๆ ว่า "พ่อคือผู้ให้กำเนิดใหม่แก่ลูกๆ ถ้าไม่มีพ่อ ลูกก็ไม่รู้ว่าชีวิตของลูกจะเป็นอย่างไร"

นี่คือความประทับใจ คือกำลังใจที่ทำให้ "ทองใบ ทองเปาด์" ก้าวต่อไป จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

การศึกษา และดูงาน

-           การศึกษาจากพระ โดยศึกษาขั้นต้นที่บ้าน
-           มัธยมศึกษาปีที่ 7-8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
-           2495 ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-           รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-           ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน

การทำงาน และตำแหน่งหน้าที่

-           2496 ทนายความ
-           เลขาธิการสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
-           เลขาธิการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
-           เลขาธิการสหพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
-           กรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซีไรท์
-           ประธานสถาบันพัฒนาวิชาชีพวารสารแห่งประเทศไทย
-           เจ้าของสำนักงานทนายความทองใบ ทองเปาด์ และเพื่อน
-           นักหนังสือพิมพ์และนักเขียน
-           กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ตำแหน่งทางการเมือง

-           31 กรกฎาคม 2538 ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 (ลาออก 1มี.ค.2539)
-           26 ธันวาคม 2539 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สาขากฎหมายมหาชน (ส.ส.ร.สาขากฎหมายมหาชน) (ลาออก 10 มี.ค.2540)
-           15 มกราคม 2540 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
-           15 มกราคม 2540 กรรมาธิการประชาสัมพันธ์
-           4 มีนาคม 2543 สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดมหาสารคาม (ลำดับที่ 2 ของ จ.มหาสารคาม คะแนน 86,441)
-           28 สิงหาคม 2543 กรรมาธิการการต่างประเทศ
-           20 สิงหาคม 2544 กรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
-           24 สิงหาคม 2544 กรรมาธิการสิ่งแวดล้อม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และรางวัล

-           5 ธันวาคม 2544 ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก
-           2527 รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527
-           2527 คนดีศรีสารคาม
-           5 เมษายน 2547 รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ปี 2547
-           2547 รางวัลนักกฎหมายดีเด่นประจำปี 2547 จากกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อ้างอิง   :  กษิดิศ อนันธนาธร, ?ร่วมรำลึกทนายทองใบ ทองเปาด์?  และ www.osknetwork.com

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version