ผู้เขียน หัวข้อ: Meritocracy กับการศึกษาสิงคโปร์ มูลค่าของความสามารถ  (อ่าน 1782 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
โดย นันทนุช อุดมละมุล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

จุดหักเหของการพัฒนาระบบการศึกษาของสิงคโปร์ จากช่วงยุค 60 ถึงต้นยุค 70 ที่เน้นอาชีวศึกษาและการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศในช่วงที่ต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมาเป็นการพัฒนาทรัพยากรที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊ก ตง ริเริ่มนโยบาย "Thinking Schools, Learning Nation" ในปี 1977 และมีการจัดแบ่งหลักสูตรและระบบการศึกษา โดยแยกตามระดับความสามารถของผู้เรียน หรือ streaming ในช่วงปี 1979-1980 ความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายทางการศึกษานี้ ทำให้แนวคิดเรื่อง meritocracy หรือ ระบบการพัฒนาคนตามความสามารถและความเหมาะสม เข้ามามีบทบาทกับการจัดการการศึกษาของสิงคโปร์มากขึ้น

"Meritocracy" คือระบบในการคัดสรรคัดกรองบุคคลตามความสามารถและความเหมาะสม โดยมีแรงจูงใจในรูปแบบต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นสถานะทางสังคม โอกาสทางการงาน รายได้ที่สูงขึ้น รวมไปถึงชื่อเสียงและการได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วไป

แนวคิดเรื่อง meritocracy มีบทบาทอย่างมากในการบริหารประเทศสิงคโปร์ โดยบางครั้งถูกเรียกว่าเป็น "Singaporean Dream" โดยล้อกับแนวคิด American Dream ที่เชื่อในการเติบโตและเจริญก้าวหน้าของบุคคล โดยไม่คำนึงว่ามีพื้นเพมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมแบบใด

สำหรับสิงคโปร์ meritocracy เป็นระบบที่ทำให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างแรงจูงใจแก่ประชากร ทำให้เกิดความอยากพัฒนาตนเอง ให้มี "ความสามารถ" ที่จะนำไปสู่ผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ข้างต้น

ในทางการศึกษา แนวคิดนี้นำไปสู่พื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนจะได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยทั่วถึง "อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม" เนื่องจากเป็นระบบคัดสรรตามความรู้และความสามารถที่แท้จริง โดยปราศจากอคติ และยังสอดคล้องกับแนวทางของรัฐในการจัดการการศึกษา โดยแบ่งแยกหลักสูตรตามความสามารถของผู้เรียน เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของประชากรอย่างเต็มความสามารถ

แม้ meritocracy จะเป็นแนวคิดที่ค้ำจุนระบบการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศสิงคโปร์ และทำให้ประเทศพัฒนาอย่างก้าวหน้า แต่ระบบนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น ประเด็นหนึ่งคือ ระบบ meritocracy เป็นมากกว่าแค่การคัดสรรความสามารถ แต่เนื่องจากระบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้รางวัลและแรงจูงใจแก่ผู้มีความสามารถ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ระบบนี้กลายเป็น การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการมุ่งแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อความเป็นเลิศทางการศึกษา ซึ่งจะทำให้สามารถสอบผ่านการคัดเลือกเป็นหนึ่งในบุคลลที่จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเพื่อเข้าสู่แผนการเรียนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ หรือการสอบชิงทุนการศึกษาของรัฐ

นอกจากนี้ในอีกประเด็นหนึ่ง แนวคิด meritocracy นั้น ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมที่แท้จริง และเป็นเพียงการสร้าง "กลุ่มชนชั้นนำทางปัญญา" การคัดเลือกคนเพื่อเข้ารับการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถนั้น กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่เข้ามามีบทบาทหลักในการปกครองและบริหารประเทศ เนื่องจากหลักเกณฑ์ "ความคู่ควร"ของบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลและแรงจูงใจตอบแทนนั้น ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเสมอไป เนื่องจากถูกกำหนดโดยชนชั้นนำที่เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าใคร "สมควร" จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาเป็นพิเศษ

ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ เคนเนทพอล ตัน นักวิชาการด้านนโยบายรัฐชาวสิงคโปร์ ชี้ว่าแนวคิด meritocracy ถือเป็น อุดมการณ์แห่งความไม่เท่าเทียม และเป็นความเชื่อใน "คุณค่า" ของความไม่เท่าเทียม แม้จะตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่กลับเอื้อผลประโยชน์ให้เฉพาะคนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น

บทความที่ผ่านมา ผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง การผลิตกับการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเน้นการพัฒนาประชากรในประเทศในฐานะ "ทุนมนุษย์" เนื่องจากสิงคโปร์มีความเป็น developmental state หรือรัฐที่ใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นแกนในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านต่าง ๆ ทำให้เราอาจมองได้ว่าแนวคิดเรื่อง merit และ meritocracy นั้น ก็เป็นระบบที่มีนัยทางเศรษฐศาสตร์และเน้นตอบสนองการพัฒนาประเทศในเชิงเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

กล่าวคือ เนื่องจากการจัดการการศึกษานั้นคือการลงทุนของรัฐในรูปแบบหนึ่ง ในการสร้าง "ทุนมนุษย์" สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น กระบวนการคัดสรรบุคคลที่มีความ "เหมาะสมและคู่ควร" ที่จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาความรู้ความสามารถ จึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน โดยพิจารณาจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนกับบุคคลที่ "คู่ควร" และความสามารถของประชากรเป็นสิ่งที่มี "มูลค่า" ต่อรัฐ ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้น "คู่ควร" ที่จะได้รับการส่งเสริมต่อไปยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ ที่รัฐยังมองข้าม นั่นคือเรื่องความเท่าเทียมทางด้านภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้ประชากรทุกคนไม่ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้สุดท้าย "คุณค่าของความคู่ควร" นั้น จึงกลายเป็นสิทธิพิเศษของคนเพียงบางกลุ่มในสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นนี้ยังต้องได้รับการจับตามองต่อไป ว่าจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะด้านการศึกษาของสิงคโปร์ในอนาคตอย่างไร ?


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 25 มีนาคม 2559