ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดความตาม "ขงเบ้ง" กับ 16 กลยุทธ์บริหารคน  (อ่าน 3208 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726

"ขงเบ้ง" ตัวละครในนวนิยาย เรื่อง "สามก๊ก" หรือ "Romance of the Three Kingdoms"

ขงเบ้งถูกเขียนให้เป็นทั้งผู้บัญชาการที่ฉลาด และนักยุทธศาสตร์ที่เฉียบแหลม มีความสามารถสูงในประเมินความเคลื่อนไหวของศัตรูได้อย่างถูกต้องแม่นยำอย่างน่าอัศจรรย์ รวมทั้งยังใช้ประโยชน์จากพลังธรรมชาติในการทำสงครามด้วย

นอกจากความสามารถทางด้านวรรณกรรมแล้ว ขงเบ้งยังเป็นบุคคลตัวอย่างในยุคสามก๊ก เมื่ออายุ ๒๗ ปี เขาเริ่มช่วยเล่าปีสร้างอำนาจ ขงเบ้งเป็นคนเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่เลือกที่รักมักที่ชั่ง เคร่งครัดในระเบียบวินัย และยึดมั่นในระบบการให้รางวัลและการลงโทษอย่างเข้มงวด


ในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีบทสนทนาที่น่าสนใจระหว่างนักยุทธศาสตร์สองคน คือ ลูเจี่ย และ หลิวปัง

ลูเจี่ยถามว่า "กษัตริย์ของท่านจะปกป้องประเทศได้ด้วยวิธีใด ?

หลิวปัง ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า "จากการต่อสู้อย่างทรหดบนหลังม้าศึก"

ลูเจี่ยถามต่อไปว่า "ท่านได้ประเทศมาจากการสู้รบบนหลังม้าศึก แล้วท่านปกครองประเทศจากบนหลังม้าศึกได้หรือไม่?"

คำสนทนานี้มีนัยสำคัญที่วควรนำมาพิจารณา คือ วิธีการต่อสู้ทางทหารไม่สามารถนำมาใช้กับด้านการเมืองเพื่อบริหารประเทศได้

ขงเบ้งได้แสดงความเห็นของเขาไว้ใน ๑๖ กลยุทธ์บริหารคนที่น่าสนใจมากมาย และโปรดจำคำแนะนำของขงเบ้งที่กล่าวว่า "...อย่าปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตา แต่จงยึดมั่นในการบริหารทรัพยากรบุคคล..."

กลยุทธ์ที่ 1 ... การปกครองประเทศ

ยืนหยัดมั่นคงอยู่บนหนทางที่ถูกต้องเฉกเช่นดาวเหนือ


- การปกครองบ้านเมืองเปรียบได้กับการดูแลครอบครัวเราต้องสร้างรากฐานให้มั่นคงเสียก่อนเมื่อรากฐานมั่นคงแล้ว ส่วนอื่น ๆ ก็จะมิเกิดความผิดพลาด รากฐานของครอบครัวก็คือ หัวหน้าครอบครัว

- ในการปกครองประเทศ ผู้ปกครองเปรียบเหมือนดาวเหนือ ซึ่งทำหน้าที่นำทาง

ขงเบ้ง กล่าวว่า "...ข้าราชบริพารเปรียบเหมือนดวงดาวที่โคจรอยู่ใกล้ดาวเหนือ ประชาชนเปรียบเสมือนบริวารของดาวดวงอื่น ๆ ในท้องฟ้ายามราตรี ตำแหน่งและทิศทางของดาวเหนือต้องไม่เปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้การโคจรของดาวดวงอื่น ๆ สับสน ดังนั้น การเป็นผู้ปกครองที่หนักแน่นและมั่นคง พร้อมด้วยแผนดำเนินการที่เหมาะสม ถือเป็นรากฐานสำหรับการเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งของรัฐ หรือ องค์กร..."
 
กลยุทธ์ที่ 2 ... ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

จงทำให้ความเคารพนับถือและความจงรักภักดี เป็นโซ่ร้อยรัดระหว่างกัน


- ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของตนด้วยความเมตตาปรานี

- ผู้ใต้บังคับบัญชามีหน้าที่ปฏิบัติงานของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

- ผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของตนอย่างสุภาพ

- ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องรับใช้ผู้บังคับบัญชาของตนด้วยความจงรักภักดี

- ผู้บังคับบัญชามิควรออกคำสั่งเพียงอย่างเดียว แต่ควรแสดงความใส่ใจ เป็นห่วง และชื่นชมด้วย

- ผู้บังคับบัญชาต้องเมตตาและคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย

- ผู้ใต้บังคับบัญชาควรยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณธรรมประจำใจ

- มีเพียงคนชั่วไร้ความภักดีอย่างจริงใจเท่านั้นที่จะกลับกลอกเมื่อต้องตกที่นั่งลำบาก

- ผู้บังคับบัญชาที่ไม่ไว้วางใจผู้ใต้บังคับบัญชา ในที่สุดก็จะเหลือตัวคนเดียว

- เมื่อใดที่ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาเข้ากันได้ดี ประเทศชาติก็จะมีสันติสุขและเจริญรุ่งเรือง

- เมื่อใดที่ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือ เกลียดชังกัน ประเทศชาติก็จะมีแต่ความระส่ำระสายและความทุกข์ยาก

กลยุทธ์ที่ 3 ... เปิดหูเปิดตาให้กว้าง

จงเป็นผู้นำที่ฉวยโอกาสตามสถานการณ์


เล่าปี่ : ท่านขงเบ้ง ผู้นำควรเปิดหูเปิดตาให้กว้าง เพื่อที่จะได้รู้สถานการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมืองใช่หรือไม่

ขงเบ้ง : ถูกต้อง ท่านเข้าใจได้ดีมาก

เล่าปี่ : ข้าสามารถมองเห็นดวงจันทร์และดวงดาวอันไกลโพ้น

ขงเบ้ง : การเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน ไม่เพียงพอสำหรับการเป็นผู้นำ
ท่านจะอ้างว่า ท่านมีสายตาแหลมคมไม่ได้ ถ้าท่านมองไม่เห็นความทุกข์ยากของราษฎร
ท่านจะอ้างว่าท่านมีหูไวไม่ได้ ถ้าท่านไม่ได้ยินเสียคร่ำครวญของราษฏร
 
กลยุทธ์ที่ 4 ... รับฟังความเห็นของผู้อื่น

เปิดใจให้กว้างกับความคิดเห็นของผู้อื่น เพราะคำพูดที่ดีมีแต่ให้ประโยชน์


- ผู้ปกครองที่ฉลาดควรเปิดใจให้กว้าง กับข้อเสนอแนะ ความเห็น และแม้กระทั่งคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น

- ผู้ปกครองที่ฉลาดมักจะแวดล้อมไปด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาที่ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา

- ผู้ปกครองที่โง่เขลาก็จะมีแต่ลูกน้องที่ชั่วร้ายประเภทชอบเลียแข้งเลียขารุมล้อม

ท่านขงเบ้ง กล่าวว่า "...ยาดีมักจะมีรสขม คำแนะนำที่ดีมักจะไม่เสนาะหู ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงส่ง แต่ยินดีรับฟังแม้แต่คำวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมา นับเป็นบุคคลที่น่ายกย่องสรรเสริญ..."
 
กลยุทธ์ที่ 5 ... มีความหยั่งรู้

สามารถเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อย และแยกแยะระหว่างความถูกต้องกับความผิดได้ชัดเจน


- สองอย่างนี้แตกต่างกัน แม้มันจะคล้ายกันมากก็ตาม

- คนเขลาบางคนเข้าใจผิดคิดว่า หินสีขาว คือ หยกที่มีค่า  และเข้าใจว่า ตาของปลาคือไข่มุก

- ขุนนางที่ดี กับ ขุนนางที่ชั่วร้าย ต่างกันไกลราวคนละขั้วโลก แต่ก็ยากที่จะแยกแยะ ถ้ามองแต่เพียงภายนอก

- เราอาจจะถูกชี้นำไปในทางที่ผิด ถ้าตัดสินอย่างผิวเผิน จากคำพูดและการวางตัว

- ผู้ปกครองจะต้องตัดสินด้วยความรอบคอบอย่างมากว่า อะไรถูก อะไรผิด

กลยุทธ์ที่ 6 ... การบริหารคน

ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อชักจูงให้มาเป็นพวกเดียวกัน


- ผู้ปกครองประเทศต้องให้ราษฎรรู้ถึงเป้าหมายและแผนการของตน เพื่อจะได้เข้าใจนโยบายของราชสำนัก

- ผู้ปกครองประเทศต้องร่างระบบกฏหมายที่ครอบคลุมขึ้นมาเป็นสิ่งแรก

- และต้องให้ประชาชนรับรู้โดยทั่วถึงกัน

- เมื่อประชาชนรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ก็จะสามารถชนะสงครามได้ทุกครั้ง

กลยุทธ์ที่ 7 ... การสรรหาบุคลากร

สรรหาผู้ที่เหมาะสมและว่าจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถ


- หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของการปกครองประเทศ คือ การบรรจุคนที่ตรงไปตรงมา มีความรู้ความสามารถในตำแหน่งสำคัญ ๆ เพื่อป้องกันการใช้เล่ห์เหลี่ยม ประจบสอพลอ และฉกฉวยประโยชน์ใส่ตน

- หลักสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ คือ ควบคุมการหายใจให้สม่ำเสมอ และสร้างสมพลังหลักสำคัญในการบริหารประเทศ คือ การสรรหาผู้ที่เหมาะสมและว่าจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน

- ประเทศที่ผู้ปกครองมีความรู้ความสามารถเปรียบเสมือนบ้านที่มีเสาหลักคอยค้ำจุน

- ต้นไม้ที่ให้เนื้อไม้ที่ดีสำหรับนำมาทำเป็นเสาหลักได้ มักจะถูกพบในป่าลึกบนภูเขาที่ห่างไกล คนมีความสามารถเหมาะสมที่จะช่วยนำความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติ มักจะปะปนอยู่ในกลุ่มคนธรรมดาสามัญ ซึ่งจะต้องค้นหาอย่างตั้งใจจริง

- ผู้ปกครองประเทศจะสร้างสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติได้ต้องมีคนดีมีฝีมือเข้ามาช่วยทำงาน

- นักปราชญโบราณ พยายามอย่างมากที่จะเสาะหาคนดีมีความรู้ ความสามารถ

- คนดีมีฝีมือเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จในทุกกิจการ

กลยุทธ์ที่ 8 ... การประเมินผลงาน

ส่งเสริมคนดีมีปัญญาและถอดถอนคนเลว


- ถ้าผู้ปกครองต้องการให้ราชสำนักปราศจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีความเข้มแข็งมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง เขาจำเป็นต้องจัดให้มีการประเมินผลการทำงานของเหล่าขุนนาง

- ผู้ที่มีผลงานดีเยี่ยม สมควรได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ผู้ที่ไม่มีผลงานก็สมควรถูกปลด

Q : การประเมินผลงานเป็นสิ่งสำคัญ เกณฑ์ในการประเมินมีอะไรบ้างครับ ?

A :  ผู้ปกครองจะต้องเข้าใจความทุกข์ยากของราษฎรและใช้ความรู้สึกของราษฎรเป็นเกณฑ์ในการประเมินเหล่าขุนนาง

- ขุนนางบางคนใช้อำนาจไปในทางมิชอบ หาประโยชน์ให้ตัวเอง หลอกลวงผู้บังคับบัญชา และกดขี่ข่มเหงราษฎร

- ขุนนางอีกประเภทหนึ่ง คือ ไม่ทำตามกฎหมายบ้านเมือง และใช้วิธีการลงโทษตามความพอใจของตนเอง

Q : มีขุนนางบางประเภทรวมตัวกันเป็นก๊กเป็นเหล่าแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวจากเงินของประเทศ

A : ขุนนางที่ฉ้อราษฎรบังหลวงทุกคนต้องถูกปลดออกให้หมด

- ผู้ปกครองที่โง่เขลา มักจะมีวิสัยทัศน์แคบ และชอบใช้ความรู้สึกส่วนตัว เป็นเกณฑ์ตัดสินการประเมินผู้ใต้บังคับบัญชา

Q : ท่านใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลื่อนตำแหน่ง หรือ ปลดผู้ใต้บังคับบัญชา ?

A : ก็ใช้เกณฑ์ที่ว่า เขาอุทิศเพื่อความสำเร็จของราชสำนักหรือไม่ การใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน เป็นสิ่งอันตราย
 
กลยุทธ์ที่ 9 ... การบริหารจัดการกองทัพ

วางแผนยุทธศาสตร์ให้รัดกุมแล้วจะเป็นผู้ชนะ


- การระดมผล การเปิดฉากสงคราม และการป้องกันประเทศ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องไม่ด่วนตัดสินใจ

กลยุทธ์ที่ 10 ... การให้รางวัลและการลงโทษ

ใช้ระบบการให้รางวัลและการลงโทษ เพื่อการจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ


- ผู้ปกครองที่ต้องการให้มีการปกครองที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ต้องรู้จักให้รางวัลผู้ทำความดี และลงโทษผู้กระทำผิด

- การให้รางวัลและการลงโทษต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม

- การให้รางวัลไม่ได้ขึ้นอยู่กับยศตำแหน่ง แต่ขึ้นอยู่กับผลงานของเจ้า

- การลงโทษจะต้องเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
 
กลยุทธ์ที่ 11 ... การใช้อารมณ์

อย่าให้อารมณ์ครอบงำ


- ผู้ปกครองควรมีบุคลิกลักษณะที่สง่าผ่าเผย และไม่หงุดหงิดง่าย

- ผู้ปกครองต้องระมัดระวังบุคลิกของตัวเองและควบคุมตัวเองให้ได้

- ผู้ปกครองอาจแสดงความไม่พอใจได้ แต่ต้องไม่เกรี้ยวกราด

- ผู้ปกครองอาจจะสนุกสนานร่าเริงได้ แต่ต้องไม่เกินเหตุ

- ผู้ปกครองไม่ควรเอาผลประโยชน์ของชาติไปเสี่ยงเพราะต้องการระบายความแค้นส่วนตัว

- ผู้ปกครองไม่ควรหมกหมุ่นอยู่แต่เรื่องส่วนตัวจนละเลยการบริหารประเทศ

กลยุทธ์ที่ 12 ... การจัดการความวุ่นวาย

จงรอบคอบเมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ที่วุ่นวาย


Q : ถ้าการบริหารราชสำนักเกิดความสับสนวุ่นวาย ต้องแก้ปัญหาอย่างไร ?

A : ข้อแรก ปลดขุนนางที่มีมากเกินไปออก แล้วบังคับใช้ระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด

- ถ้าการปฎิรูปไม่ได้ทำอย่างเหมาะสม หรือ หุนหันพลันแล่นเกินไป จะยิ่งทำให้เกิดความระส่ำระสายมากขึ้น

- การปฏิรูปต้องทำอย่างรอบคอบ สอดคล้องตามสภาวการณ์ของประเทศและความต้องการของประชาชน
 
กลยุทธ์ที่ 13 ... ความรู้และการออกคำสั่ง

ทำตัวเองให้ดีก่อน ก่อนจะออกคำสั่งกับผู้อื่น


- ผู้ปกครองประเทศที่ทำอะไรตามสบาย แต่กลับเข้มงวดกับลูกน้องของตน ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

- ผู้ปกครองที่เข้มงวดกับตัวเองก่อนออกคำสั่งกับลูกน้อง ถือเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

- ผู้ปกครองที่ดีแต่สั่งลูกน้อง โดยที่ตัวเองไม่เคยทำเลย จะสั่งลูกน้องให้ทำตามคำสั่งได้ยาก และเมื่อลูกน้องเพิกเฉยต่อคำสั่งก็จะเกิดความระส่ำระสายขึ้น

- ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ทำตัวเองให้ถูกต้อง แล้วค่อยออกคำสั่งกับผู้อื่น นี่เป็นหลักการง่าย ๆ ที่ได้ผลสำหรับความเป็นผู้นำ แต่ก็มักจะถูกมองข้ามไป

กลยุทธ์ที่ 14 ... การจัดการกับปัญหา

ดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม


- ประเทศต้องมีกฎหมายเช่นเดียวกับบ้านต้องกฎระเบียบ เมื่อกฎหมายและกฎระเบียบถูกกำหนดขึ้นมาแล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

กลยุทธ์ที่ 15 ... วิสัยทัศน์

มองการณ์ไกลและวางแผนอย่างรอบคอบ


- ผู้ปกครองที่ขาดวิสัยทัศน์ หรือไม่มีการวางแผนอย่างรอบคอบจะต้องเผชิญกับความยุ่งยาก

- ความหวังของประชาชนอยู่ที่ผู้ปกครองประเทศ ถ้าผู้ปกครองประเทศไม่สนใจอนาคตของชาติ หรือไม่วางแผนเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ผลกรรมที่ทำเอาไว้ก็จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

- ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อความสำเร็จ

กลยุทธ์ที่ 16 ... การสังเกต

อุทิศตนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ


- เราไม่จำเป็นต้องไปอาบน้ำถึงแม่น้ำ ตราบใดที่เราสามารถชำระล้างสิ่งสกปกครองออกจากตัวเองได้

- ม้าไม่จำเป็นต้องเป็นม้าสายพันธุ์ดี ตราบใดที่มันสามารถวิ่งได้เร็ว

- ถ้าเสนาบดี หรือ ขุนพลของเราฉลาดและมีความสามารถเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องไปเอานักปราชญ์มารับตำแหน่ง

- ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่น ผู้ที่มีความมุ่งมั่นย่อมประสบความสำเร็จ

- ผู้ปกครองประเทศ ควรนำความสามารถหลากหลายของราษฎรมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ

- แต่ละคนจะมีประสบการณ์และความสามารถแตกต่างกันไป ผู้นำที่ฉลาดต้องรู้จักใช้ความสามารถที่หลากหลายของบุคคลเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่ยากลำบาก

- ดูเหมือนว่าทุกคนมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรยอมแพ้เสียง่าย ๆ

 
**************************************

แหล่งอ้างอิง
หวังเซียนหมิง.  16 กลยุทธ์บริหารคน.  กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2550.


ที่มา  :  gotoknow.org/blog/scented-book