ผู้เขียน หัวข้อ: นิยาม ความหมาย การศึกษาทางเลือก  (อ่าน 6029 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3899
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 12:27:19 AM
หลายปีที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการการศึกษา (สกศ.) เคยแปลความหมายการศึกษาทางเลือกจาก Dictionary of Education (อังกฤษ) ในเอกสารอัดสำเนา ดังนี้

?การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เป็นการศึกษาเชิงอุดมคติ เพื่อแสดงถึงคุณลักษณะของรูปแบบการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษาแบบเดิม มักจะถือว่าเป็นโรงเรียนอิสระ (Free School) หรือ เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ไม่มีสถาบันการศึกษา (non-institutional) และยึดหลักชุมชนเป็นหลัก (Community-based) ลดบทบาทของการจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียน และหากเป็นการจัดการศึกษาในโรงเรียน ก็จะเป็นการจัดการศึกษาแบบก้าวหน้า (Progressive)


ล่าสุด จากรายงานติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (สกศ., อ้างแล้ว) ได้รวบรวมค้นหานิยามความหมายทางการศึกษาทางเลือก จากเว็บไซต์หลายแห่งจากหลายประเทศ ซึ่งสุดท้าย กล่าวโดยสรุป ในต่างประเทศ ได้ให้ความหมายการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องโดยส่วนใหญ่ว่า

?การศึกษาทางเลือก เป็นรูปแบบการศึกษาที่ไม่ใช่ หรือต่างจากรูปแบบการศึกษากระแสหลัก มีปรัชญาการศึกษาใหม่ที่มีรากฐานมาจากปรัชญาที่หลากหลายและไม่ยึดติดกับ ปรัชญาดั้งเดิม โดยมีการเรียนการสอนที่มีขอบเขตกวย้างขวางและหลากหลายรูปแบบมากกว่าการศึกษา กระแสหลัก ที่ยึดความต้องการของบุคคลและชุมชนเป็นหลัก?

สำหรับในประเทศไทย รายงานการวิจัยเรื่อง ?การศึกษาทางเลือก : ฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ โดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์และคณะ (อ้างแล้ว) ที่พยายายามให้นิยามความหมายของการศึกษาทางเลือกในบริบทสังคมไทย ในช่วงที่การศึกษาทางเลือกยังถูกมองว่า ?เถื่อน? (คำของผู้วิจัย) ในความหมายของทางราชการ คือไม่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาชาติ

ความพยายาม ในการให้นิยามความหมาย การศึกษาทางเลือกของสังคมไทยในงานวิจัยของสุชาดาฯ ได้ใช้วิธีการจัดกลุ่มระดมความคิด (Focus Group) แยกตามภูมิภาค จากโจทย์การศึกษาทางเลือก คืออะไร ได้คำตอบดังนี้

    * ภาคเหนือ การศึกษาทางเลือกคือ กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นองค์รวม อิสระ หลากหลาย สอดคล้องกับภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่น นำไปสู่ความสุขและความสำเร็จของบุคคลและชุมชน

    * ภาคกลาง การศึกษาทางเลือก คือ ทางออกจากวิกฤตการศึกษาเต็ม เป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายของธรรมชาติและชีวิตจริง เกิดจากการมีส่วนร่วม นำไปสู่การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ

    * ภาคอีสาน การศึกษาทางเลือก คือ การศึกษาที่ตอบสนองความต้องการและศักยภาพของมนุษย์ เป็นการเรียนรู้เพื่อศักยภาพของมนุษย์ และเป็นปฏิบัติการเชิงวิถีชีวิตชุมชน

    * ภาคใต้ การศึกษาทางเลือก คือ การศึกษาที่นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นจริง นำความสุขสู่ชุมชนและสังคมบนพื้นฐานวิถีไทย

    * กลุ่มคละภาค การศึกษาทางเลือก คือ การเปิดทางเลือกทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นการสร้างทักษะให้สอดคล้องกับธรรมชาติ สังคม ชุมชน ทรัพยากร และคือการศึกษาที่เกิดจากการปฏิบัติจริง นำไปสู่การดำรงชีวิตที่มีพัฒนาการ

สุชาดาฯ ได้ทำการสังเคราะห์นิยาม ความหมาย การศึกษาทางเลือก ให้เหลือเพียงนิยามเดียว โดยให้เหตุผลว่า ควรคงความแตกต่างที่สะท้อนถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและปัญหาของแต่ละภูมิภาค นี้ไว้ กับการศึกษาทางเลือกในสังคมไทย ยังไม่ได้สถาปนาเป็นระบบ หรือ ขบวนการ ที่เข้มแข็ง จึงอาจไม่จำเป็นต้องจำกัดนิยามความหมายไว้เพียงนิยามเดียว แต่สมควรให้เป็นประเด็นที่สังคมไทยจะเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม สุชาดาฯ ได้นำเสนอความแตกต่างระหว่างการศึกษาทางเลือก กับการศึกษาในระบบทางการ ซึ่งสามารถสื่อถึงนิยามความหมายของการศึกษาทางเลือก ตามมุมมองของสุชาดาฯ ได้ กล่าวคือ

การศึกษาทางเลือก
?    เป็นการศึกษาที่สัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง และสังคมของผู้ที่เรียน
?    มีกระบวนการเรียนรู้ หรือ เป็นการเรียนรู้ที่มีกระบวนการถ่ายทอด มีองค์ความรู้ และมีความต่อเนื่อง
?    มีการจัดการและกระบวนการที่เกิดการมีส่วนร่วม
?    มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือชุมชน
?    มีเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย แตกต่างกันไป
?    มีเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้แบบเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง หรือ ชุมชนเป็นตัวตั้ง (Problem base / Community base)
?    เป็นการเรียนรู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ไม่อิงกับหลักสูตรที่เป็นทางการของรัฐ
?    เป็นกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์ (interactive) ระหว่างผู้เรียน
?    มีเจตนาการเรียนรู้ หรือ เป้าหมาย วัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้านพัฒนา คุณภาพชีวิต, พัฒนาศักยภาพตัวตน, โลกทัศน์, ความรู้ และด้านสังคม ชุมชน

ในเวลาใกล้เคียงกัน งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือกในสังคมไทย ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ เรื่อง ?การศึกษาไทย ทางเลือกในอนาคต? ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนป๋วย อึ้งภากรณ์ ประจำปี 2545 โดยมูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดเด่นในการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและผลกระทบที่มีต่อกัน ระหว่างโครงสร้างทั้งหมดของประเทศ กับระบบการศึกษาของสังคม ในฐานะที่การศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการเผยแพร่ ชี้นำความคิด วิถีชีวิตประชาชน ให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของรัฐ ซึ่งโดยรวมแล้วจะมีความขัดแย้งกันอย่างมาก ระหว่างอุดมคติของการสร้างความเจริญกับความเป็นจริงของการที่ประชาชนส่วน ใหญ่ถูกลิดรอนสิทธิ์ทำร้ายชีวิต นิยามความหมายของการศึกษาทางเลือก ภายใต้บริบทของความสัมพันธ์นี้ จึงมุ่งไปในทางจะเข้ามีส่วนอย่างสำคัญในการปรับปรุง แก้ไขปัญหาในขั้นโครงสร้างได้อย่างไรด้วย

สุลักษณ์ ฯ เห็นว่า คำว่า ?การศึกษาทางเลือก? ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงความแตกตางกับคำว่าการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกโรงเรียน เป็นการศึกษาที่จัดโดยรัฐ โดยที่รัฐได้จัดทำหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอนให้มีเพียงรูปแบบเดียว อย่างมีจุดประสงค์เพื่อครอบงำผู้เรียนให้ยอมรับอุดมการณ์ของรัฐ และยอมให้รัฐเป็นผู้ชี้นำแต่เพียงผู้เดียว

ในแง่นี้ การศึกษาทางเลือก จึงมีฐานะเป็น ?วาทกรรมที่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบระบบการศึกษาเพื่อการครอบงำของรัฐ และสร้างระบบการศึกษาที่เป็นของประชาชนเอง โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง? การศึกษาทางเลือกต้องตีประเด็นเรื่องความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ รวมทั้งให้ผู้เรียนเข้าใจโลกและชีวิต มองเห็นความหลากหลายของชีวิต ไม่ดูถูกคนยากจน ให้รักและเข้าใจกันและกัน โดยมองว่าทุกสรรพสิ่งต่างก็เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น

กล่าวในทางรากฐานทางปรัชญา สุลักษณ์ฯ เห็นว่า เท่าที่ผ่านมา แม้จะไม่เคยมีการสังเคราะห์ปรัชญาการศึกษาทางเลือกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งนี้ เพราะความคิดการศึกษาทางเลือก อาจเพิ่งก่อตัวเมื่อไม่นานมานี้ โดยแต่ละที่ สำนักก็นำเสนอความคิดทางการศึกษาของตน มากกว่าที่จะสร้างปรัชญาพื้นฐานร่วมกัน แต่ก็อาจอนุมานเอาไว้ได้ โดยพิจารณาจากลักษณะโดยรวมของขบวนการการศึกษาทางเลือก ซึ่งให้ความสำคัญกับสองหลักการใหญ่ ต่อไปนี้

หนึ่ง ?ความหลากหลาย?
ประเด็นสำคัญที่ได้รับการกล่าวขานและถือเป็นหัวใจของนักการศึกษาทางเลือก ก็คือ ความหลากหลายซึ่งเป็นหัวใจของระบบธรรมชาติ ข่ายใยอันซับซ้อนที่ผสานกลมกลืนโดยสามารรถรักษาความสมดุลไว้ได้อย่างน่า มหัศจรรย์ มนุษย์เป็นหน่วยชีวิตหนึ่งของธรรมชาติ ย่อมมีภาวะที่หลากหลายเช่นเดียวกัน การจัดการศึกษาให้มนุษย์จึงต้องกระทำอย่างสอดคล้องกับภาวะที่แตกต่างกันไปใน มนุษย์แต่ละคน และการดำรงชีวิตร่วมกันในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ มนุษย์ทุกคนควารได้รับโอกาสให้สามารถเลือกระบบการศึกษาที่เหมาะกับตน ระบบการศึกษาที่ถูกต้อง ควรเป็นการสร้างทางเลือก ทางการศึกษาได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้โอกาสแก่ทุกคนในการเลือกระบบที่ดีที่สุดที่เหมาะสมกับตัวเขาได้ อย่างอิสรเสรี

ระบบการศึกษาแบบที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง จึงเป็นสิ่งที่ผิดโดยพื้นฐาน เพราะขัดต่อวิถีของธรรมชาติ

สอง ?การให้คุณค่ากับมนุษย์?
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปัญหา และหัวใจ เป็นภาพสะท้อนการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้มีชีวิอยู่เพียงเพื่อกิน นอน ดื่มและสืบพันธุ์เท่านั้น หากยังมีภาระหน้าที่สำคัญคือการค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใต้ แล้วนำมาทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง สรรพสิ่งในโลกและจักรวาล ระบบการศึกษาต้องแสดงคุณค่าของมนุษย์ในฐานะสัตภาวะระดับสูง พัฒนามนุษย์ให้มีวุฒิภาวะยิ่งขึ้นไปในฐานะชีวิตที่มีพันธสัญญาอันสูงส่ง

กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมและเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม รวมทั้งระบบการศึกษาที่รับใช้กระบวนทัศน์ดังกล่าว ซึ่งลดคุณค่ามนุษย์ลงเป็นเพียงฟันเฟือง หรือ เครื่องมือในระบบการผลิตเท่านั้น ปรักปรำว่ามนุษย์ไม่มีทางก้าวพ้นไปจากความมัวเมาในกิเลส ตัณหา ราคะได้ สำหรับนักการศึกษาทางเลือก ถือว่าเป็นทัศนะ และความผิดพลาดอย่างร้ายแรง

พร้อมกันนี้ ตอนหนึ่งของงานวิจัย ได้สรุปข้อเปรียบเทียบบางประการ ระหว่างการศึกษากระแสหลักกับการศึกษาทางเลือกแนวพุทธ ที่สามารถแสดงให้เห็นความหมายของการศึกษาทางเลือกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

การศึกษากระแสหลัก
1. เน้นการจำและเข้าใจในแง่สมอง มีลักษณะแยกส่วน ผู้เรียนไม่ได้เติบโตอย่างเป็นองค์รวม ศักยภาพหลายอย่างไม่ได้รับการพัฒนา    
การศึกษาทางเลือกแนวพุทธ
1. ให้ความสำคัญกับสมอง หัวใจ ร่างกาย ความสัมพันธ์กับตนเอง เพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้ศักยภาพที่ซ่อนเร้นต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

การศึกษากระแสหลัก
2. ครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน เน้นสอนมากกว่าเรียน ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับเสียมากกว่า ครูมีแนวโน้มอำนาจนิยม หลักสูตรและวิชาต่างๆ ถูกกำหนดจากส่วนกลาง เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับชีวิต    
การศึกษาทางเลือกแนวพุทธ
2. ครูกับผู้เรียนเรียนไปพร้อมๆ กัน เรียนจากกันและกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเสรีและไม่จำเป็นว่าครูต้องถูกเสมอไป นักเรียนร่วมกำหนดเนื้อหาและกระบวนการเรียน

การศึกษากระแสหลัก
3. เน้นปัจเจกนิยม การแข่งขัน เห็นแก่ตัว    
การศึกษาทางเลือกแนวพุทธ
3. เน้นเรียนเป็นหมู่คณะ การร่วมมือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

การศึกษากระแสหลัก
4. ก่อให้เกิดการดูถูกรากเหง้าทางวัฒนธรรมและศาสนธรรมของตนเอง และนิยมยกย่องความทันสมัย
การศึกษาทางเลือกแนวพุทธ    
4. ก่อให้เกิดความภูมิใจในรากทางวัฒนธรรมและศาสนธรรมของตนเอง มองความทันสมัยด้วยวิจารณญาณ

การศึกษากระแสหลัก
5. ทำให้ผู้เรียนเกิดปมด้อยและปมเขื่อง ลึกๆ ทำให้รู้สึกว่าตัวเราดีไม่พอ ต้องเลื่อนฐานะ ต้องก้าวหน้า และสอนให้ดูถูกคนที่เรียนไม่เท่าเราว่าโง่กว่า ด้อยกว่า ลึกๆ ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวมีตัวเป็น    
การศึกษาทางเลือกแนวพุทธ
5. ทำให้พอใจชีวิตโดยพื้นฐาน รู้สึกว่าตัวเราอย่างที่เรามี เราเป็น เป็นใช้ได้ ไม่เห็นคนอื่นด้อยกว่าหรือเหนือกว่า มั่นใจแต่ไม่ข่มคนอื่น ไม่เห็นความจำเป็นต้องเลื่อนสถานะทางสังคม ชีวิตก็มีความหมาย

การศึกษากระแสหลัก
6. เรียนเพื่อไปเป็นลูกจ้าง เสมียน นักเทคนิค ผู้ประกอบการ ความสำเร็จสำคัญที่สุดในชีวิต    
การศึกษาทางเลือกแนวพุทธ
6. เรียนเพื่อที่จะเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ความสุขสำคัญที่สุดในชีวิต

การศึกษากระแสหลัก
7. การเรียนจำกัดอยู่ที่ห้องเรียน หนังสือ สื่อสมัยใหม่เป็นหลัก ส่วนมากหยุดเรียนเมื่อออกจากสถาบันการศึกษาไปแล้ว
การศึกษาทางเลือกแนวพุทธ   
7. การศึกษาคือการตัดสินใจเลือก และศึกษาด้วยตนเองเป็นหลัก รวมทั้งจากประสบการณ์ทุกอย่างในชีวิต และศึกษาตลอดชีวิต

หากจะสรุปในเชิงนิยาม ความหมายการศึกษาทางเลือกเมื่อพิจารณาจากงานวิจัยของสุลักษณ์ฯ ดูจะสอดคล้องกันกับนิยามของ พิภพ ธงไชย (เอกสารอัดสำเนา , พฤศจิกายน 2542) ที่ได้ให้ความหมายของการศึกษาทางเลือกไว้ ดังนี้

?การศึกษาทางเลือกคือระบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ที่ยืนอยู่บนรากฐานทางศาสนธรรม รากฐานทางปรัชญา รากฐานทางจิตวิทยา เพื่อพัฒนาเด็กให้เจริญเติบโตตามศักยภาพในธรรมชาติของตัวเด็ก โดยเน้นที่ความสุขและการอยู่ร่วมกันแบบสันติ  ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของมนุษยชาติที่มีอยู่ในตัวพ่อแม่เด็กทุกชนชั้น แต่ที่ผันแปรไปเพราะการชี้นำของระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองและนักธุรกิจที่เห็นแก่ตัวและลุแก่อำนาจ ประกอบกันเป็นชนชั้นปกครองที่ร่วมกันสร้างโครงสร้างอันอยุติธรรม  การศึกษาทางเลือกจึงเป็นการแย่งชิงพื้นที่มาจากนักการเมือง นักธุรกิจเหล่านั้น มาให้เด็กๆ พ่อแม่และชุมชน ที่อยากสร้างสรรค์สังคมใหม่ สร้างสรรค์มนุษยชาติใหม่?

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่นิยามความหมายของการศึกษาทางเลือก ในปาฐกถาเรื่อง ?การศึกษาทางเลือกของภาคประชาชน? (อ้างแล้ว) ว่า

?การศึกษาทางเลือกคือกระบวนการที่ประกอบด้วยเจตนารมณ์ในการทำให้เกิดการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน?

และขยายความว่า การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันซึ่งปกติเราต้องเรียนรู้อยู่แล้ว ไม่ถือเป็นการศึกษาทางเลือก ทั้งนี้ให้ยึดที่เจตนารมณ์เป็นสำคัญ  ขณะที่ในกระบวนการบางอย่างที่มีเป้าหมายไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ โดยตรง แต่ในกระบวนการนั้นเองมันเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้น หรือต้องอาศัยการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ พร้อมกันนั้นก็มีการจัดองค์กรในระดับใดระดับหนึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างก็ตาม มารองรับการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นเรื่องของกลุ่มคนไม่ใช่การเรียนรู้ที่เป็นปัจเจกบุคคล  ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มออมทรัพย์ ดร.นิธิถือว่าลักษณะอย่างกลุ่มออมทรัพย์ที่มีคุณสมบัติครบทั้งสี่นี้เป็นการ ศึกษาทางเลือกในแง่หนึ่งด้วย

จนเมื่อการศึกษาทางเลือกมีฐานะได้รับการยอมรับอยู่ในรัฐธรรมนูญ แห่งชาติแล้ว  เราจึงได้พบนิยามความหมายของการศึกษาทางเลือกปรากฏในหนังสือของหน่วยงานทาง การศึกษา ซึ่งจะขอเรียกว่าเป็น ?นิยามความหมายของทางราชการ?  ดังนี้

    * สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ?การศึกษาทางเลือกใน สังคมไทยหมายถึง การศึกษาที่เน้นการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของผู้เรียน และพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน  เป็นทางเลือกในการจัดการศึกษาสำหรับบุคคล ครอบครัว องค์กรสังคมอื่น ที่ไม่ใช่การศึกษารูปแบบเดิม แต่เป็นการศึกษาที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ปรัชญาการเรียนรู้อย่างมีความสุข เข้าใจธรรมชาติ พัฒนาการและจิตวิทยาของเด็ก รวมทั้งความอยากรู้ของผู้เรียน ด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนกับเนื้อหาเข้าด้วยกันอย่างเป็นองค์รวม ที่มีลักษณะนำไปสู่การปฏิบัติ ที่สัมพันธ์กับปัญหา ชีวิตจริง ซึ่งมีการเรียนรู้ที่หลากหลาย?  (หนังสือรายงาน ?การติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาโดยครอบครัว? , กุมภาพันธ์ 2552)

    * สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ?การศึกษาทางเลือกหมายถึง การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียน ในระบบการศึกษาตามปกติ ซึ่งมีเหตุผลมาจากพื้นฐานของบุคคลตามปรัชญาความเชื่อทางการศึกษาและการเรียน รู้ หรือตามปรัชญาความเชื่อทางการเมือง ปรัชญาความเชื่อทางศาสนาและความศรัทธา หรือเป็นการสนองความต้องการส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะมิใช่การจัดการศึกษาที่จัด ให้กับบุคคลทั่วไป หรือแม้กระทั่งการตอบสนองของบุคคลที่จะปฏิเสธระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน และผู้เรียนในการศึกษาระบบปกติ

    * ?การศึกษาทางเลือก เป็นการจัดการศึกษาที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากการศึกษาตามแนวกระแสหลักในระบบทั่วไป การศึกษาทางเลือกจัดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์มีความแตก ต่างหลากหลาย การศึกษาทางเลือกจึงมีหลายรูปแบบแต่ทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านสติปัญญาและจิตใจ?  (หนังสือ ?คัมภีร์ กศน.? , 2551)

    * สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ?การศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาที่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ความเป็นธรรมและเท่าเทียมในเชิงโอกาสและคุณภาพแก่ผู้เรียน อันแสดงถึงจิตวิญญาณ ความรับผิดชอบและความเพียรพยายามของครูที่จะพัฒนาผู้เรียนในส่วนที่ระบบ โรงเรียนปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการนำวิธีการและรูปแบบที่หลากหลายในทุกๆ มิติ ทั้งในเรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล รวมถึงความแตกต่างหลากหลายของบุคคล มาจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนในระบบโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพและมาตรฐานตามหลักสูตร  การจัดการศึกษาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน สถานประกอบการ ฯลฯ ทั้งนี้ หน่วยงานต้นสังกัดต้องเข้าใจและให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ แนวคิดและขวัญกำลังใจ? (การประชุมสัมมนาเรื่อง ?การจัดการศึกษาทางเลือกเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน? วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2551 จ.ขอนแก่น)

สรุปความหมายการศึกษาทางเลือกในสังคมไทย


ในคุณค่าและความหมายของการศึกษาที่แท้จริง
1. คือการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
2. คือการศึกษาที่มีความหลากหลายอันเป็นภาวะตามธรรมชาติ
3. คือการศึกษาที่สร้างสรรค์ องค์ความรู้ที่สมดุลและผสมผสาน
4. คือการศึกษาที่สร้างสรรค์วิถการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับธรรมชาติในการเรียนรู้ของมนุษย์
5. คือการศึกษาที่ช่วยให้ค้นพบตนเองและนำทางให้ประสบความสำเร็จได้ตามศักยภาพของตน
6. คือการศึกษาที่เป็นชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

ในคุณค่าและความหมายทางปรัชญาการศึกษา
1.ในมิติของการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ : คือการเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์เพื่อการก้าวหน้าต่อไป
2. ในมิติของความแตกต่างหลากหลาย : คือ กศ.ที่แตกต่างจาก กศ.กระแสหลัก ทั้งในปรัชญา สาระ การเรียนรู้ การประเมินผลและการบริหารจัดการ
3. ในมิติสิทธิทาง กศ.ของประชาชน : คือเสรีภาพที่บุคคล / ครอบครัว สามารถที่จะเลือกรับ กศ.ตามปรัชญา ความเชื่อ ความจำเป็นแห่งชีวิตของตน ตราบที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคม

เมื่อเทียบกับรูปแบบการศึกษาในกฎหมายการศึกษาของชาติ
1. กศ.ทางเลือกร่วมอยู่ใน กศ.ตลอดชีวิต ครอบคลุมการเรียนรู้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ตั้งแต่เกิดจนตาย
2. กศ.ทางเลือกร่วมอยู่ใน กศ.ในระบบ ในลักษณะที่เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างจากแบบแผนเดิม
3. กศ.ทางเลือก ร่วมอยู่ใน กศ.นอกระบบ แต่ต่างจาก กศน. ตรงไม่จำกัดเฉพาะผู้พลาดหวังจาก กศ.ในระบบ
4. กศ.ทางเลือก ร่วมอยู่ใน กศ.ตามอัธยาศัย ในลักษณะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัด กศ.ที่มีความเท่าเทียมกับรูปแบบอื่นๆ

เมื่อพิจารณาจากสถานภาพทางกฎหมาย
1. สถานศึกษาทางเลือก / ที่มีแนวคิด / ปรัชญา นวัตกรรมการเรียนรู้ของคน ต่างจากแบบแผนของ กศ.ในระบบแบบเดิม
1.1 โรงเรียนทางเลือก
1.2 ศูนย์การเรียนขั้นพื้นฐาน
1.3 ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต
2. แหล่งเรียนรู้ทางเลือกที่จัดตั้งและดำเนินการโดยบุคคล สถาบันทางสังคมต่างๆ

ที่มา  :  choice2learn.net