ผู้เขียน หัวข้อ: การสวดพระอภิธรรม แบบหลวงของกษัตริย์  (อ่าน 4128 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3899

พระพิธีธรรมในการสวดพระอภิธรรมแบบหลวงของกษัตริย์จะใช้ทำนองการสวดต่างจากการสวดพระอภิธรรมทั่ว ๆ ไป  ในแต่ละพระอารามจะมีทำนองเป็นของตนเอง มีการฝึกหัดฝึกฝนฝึกซ้อมกัน เพื่อความคล่องแคล่ว พร้อมเพรียง และความไพเราะในการสวด

การสวดพระอภิธรรม แบบหลวงของกษัตริย์

ในปัจจุบันนี้ บทสวดต่าง ๆ ในพระพิธีธรรมสวด ในการสวดพระอภิธรรมแบบหลวงของกษัตริย์  สรุปแล้วมี ๔ ทำนอง คือ

๑) ทำนองกะ แยกเป็น ๒ ลักษณะ คือ กะเปิด เป็นการสวดที่เน้นการออกเสียงคำสวดชัดเจน และกะปิด เป็นการสวดที่เน้นการสวดเอื้อนเสียงยาวต่อเนื่องกันตลอดทั้งบท ไม่เน้นความชัดเจนของคำสวด วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

๒) ทำนองเลื่อนหรือทำนองเคลื่อน ได้แก่ การสวดที่ว่าคำไม่เน้นความชัดเจนของคำสวด และเอื้อนเสียงทำนองติดต่อกันไปโดยไม่ให้เสียงขาดตอน วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดระฆังโฆสิตาราม

๓) ทำนองลากซุง ได้แก่ การสวดที่ต้องออกเสียงหนักในการว่าคำสวดทุก ๆ ตัวอักษรเอื้อนเสียงทำนองจากหนักแล้วจึงแผ่วลงไปหาเบา วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

๔) ทำนองสรภัญญะ ได้แก่ การสวดที่ว่าคำสวดชัดเจนและมีการเอื้อนทำนองเสียงสูง-ต่ำไปพร้อมกับคำสวดนั้น ๆ วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร

ขอบคุณข้อมูลจาก:: กรมการศาสนา