ครูเลิศชาย ปานมุข

บทความดีดี => บทความดีดี คำคม ข้อคิดในการดำเนินชีวิต => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กุมภาพันธ์ 17, 2016, 12:28:56 AM

หัวข้อ: ความสำเร็จคือจุดเริ่มต้นแห่งความล้มเหลว
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กุมภาพันธ์ 17, 2016, 12:28:56 AM
ย้อนหลังไปเมื่อ ๒,๗๐๐ ปีก่อน โรมเป็นเพียงนครรัฐเล็กๆ บนฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ที่ปกครองโดยกษัตริย์ แต่เมื่อเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐเมื่อ ๕๐๙ ปีก่อนคริสตกาล อนาคตของโรมและโลกตะวันตกก็เปลี่ยนไปด้วย โรมกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ มีแสนยานุภาพทางทหารอันเกรียงไกรมีนวัตกรรมทางกฎหมาย ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมที่ล้ำยุค ทั้งมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อโลกตะวันตกต่อเนื่องนานนับพันปี

ความสำเร็จอันน่าทึ่งส่วนหนึ่งมาจากระบอบการเมืองที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างเข้มข้น ทำให้ชนชั้นนำยากที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อตนเองหรือพวกพ้องได้ การตัดสินใจทางการเมืองและการทหารจึงมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก หรืออย่างน้อยก็ต้องโน้มน้าวให้ผู้คนยอมรับว่าที่พวกเขาทำไปก็เพื่อสาธารณรัฐ

โรมขยายดินแดนด้วยการทำศึกสงครามหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดสำคัญเท่าการทำศึกกับอาณาจักรคาร์เทจซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลและคุมจุดยุทธศาสตร์ในทะเลเมดิเตอร์-เรเนียน คาร์เทจเป็นอริที่น่าเกรงขามที่สุดเพราะเคยสร้างความบอบช้ำแก่โรมถึงสองครั้งสองครา แม้ไม่มีฝ่ายใดชนะ เด็ดขาด จนกระทั่งเมื่อ ๑๔๖ ปีก่อนคริสตกาล สงครามครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นโดยโรมเป็นฝ่ายบุกโจมตีคาร์เทจก่อน และสามารถเอาชนะได้ในที่สุด คาร์เทจถูกทำลายจนพินาศ ไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก

เหตุผลข้อหนึ่งที่ชนชั้นนำของโรมอ้างเพื่อทำสงครามครั้งที่ ๓ กับคาร์เทจก็คือ คาร์เทจเป็นพวกชั่วร้าย ตระบัดสัตย์ คดโกง และโหดเหี้ยม บูชายัญแม้กระทั่งเด็กเล็ก กล่าวอีกนัยหนึ่งคาร์เทจเป็นพวกที่ต่ำกว่ามนุษย์ แต่เมื่อโรมชนะสงคราม ยึดเมืองคาร์เทจได้ ก็มีคำสั่งให้แม่ทัพทำลายคาร์เทจจนวายวอด กองเพลิงลุกท่วมคาร์เทจตลอด ๑๐ วัน ๑๐ คืน ตามมาด้วยการรื้อกำแพงเมืองและอาคารทั้งหลายจนไม่เหลือซาก ใช่แต่เท่านั้น ยังมีการสังหารผู้คนอย่างโหดเหี้ยมทั้งระหว่างและหลังสงคราม คาร์เทจซึ่งเคยมีประชากรถึง ๑ ล้านคน เหลือผู้รอดชีวิตเพียง ๕ หมื่นคน ทั้งหมดถูกกวาดต้อนไปเป็นทาส จุดหมายคือเพื่อทำลายเมืองนี้ให้สูญสิ้นไม่ให้เป็นก้างขวางคอโรมอีกต่อไป นับเป็นการทำลายเมืองและวัฒนธรรมอย่างถอนรากถอนโคนรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ

โรมนั้นถือตัวว่าเป็นอาณาจักรที่มีอารยธรรมและมีคุณธรรมสูงส่งกว่าคาร์เทจ การศึกครั้งนี้ถูกป่าวประกาศว่าเป็นการมากำราบอาณาจักรที่เสื่อมทรามและฉ้อฉล เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสรภาพและความยุติธรรมกับทรราช (ผ่านมากว่า ๒,๐๐๐ ปี เหตุผลนี้ก็ยังไม่ล้าสมัย) แต่สิ่งที่โรมทำกับคาร์เทจนั้นกลับบ่งบอกสิ่งตรงกันข้าม ใช่หรือไม่ว่ายิ่งเราเห็นอีกฝ่ายเลวร้ายมากเท่าไร เราก็มีแนวโน้มจะทำสิ่งเลวร้ายไม่น้อยกว่าเขา ด้วยอำนาจของความเกลียดและความหลงตัวลืมตน

หลังคาร์เทจล่มสลาย โรมได้กลายเป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และสามารถขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าการทำศึกพิชิตคาร์เทจคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่ความยิ่งใหญ่ของโรมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มองอีกแง่หนึ่ง ชัยชนะในสงครามครั้งนั้นก็ได้สร้างปัญหาให้แก่โรมในเวลาต่อมา เพราะเมื่อไม่มีคู่แข่งอย่างคาร์เทจคอยถ่วงดุล โรมจึงใช้อำนาจตามอำเภอใจมากขึ้นกับเมืองน้อยใหญ่ ละทิ้งหลักการต่างๆ ที่โรมเคยยึดถือ อันล้วนเป็นหลักการที่สร้างความรุ่งเรืองให้แก่โรม เช่นการยึดถือในเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความยุติธรรม

จะว่าไปแล้วนี้เป็นปัญหาที่ชนชั้นนำบางคนในสภาซีเนตเวลานั้นมองเห็น และเคยท้วงติงคัดค้านการทำสงครามบดขยี้คาร์เทจ ชนชั้นนำกลุ่มนี้เห็นว่าโรมจำต้องมีอาณาจักรที่เข้มแข็งอย่างคาร์เทจไว้เพื่อทัดทานไม่ให้โรมมีอำนาจมากเกินไป หาไม่แล้วอำนาจที่ล้นเหลือจะทำให้โรมเกิด ?ความละโมบ? และทำลาย ?เกียรติยศ การรักษาสัจจะ และคุณธรรมอื่นๆ? แซลลัสต์ (Sallust) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันผู้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว พูดไว้อย่างตรงจุดและชัดเจนว่า ?อำนาจและความโลภทำให้เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวาย มันแปดเปื้อนและบ่อนทำลายทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือควรค่าแก่การนับถืออีกต่อไป สุดท้าย (ชาวโรมัน) ก็ทำลายตัวเองจนถึงแก่ความหายนะ?

หลังจากพิชิตคาร์เทจได้ไม่ถึง ๑๒๐ ปี โรมซึ่งเติบใหญ่ไม่หยุดยั้งก็ประสบวิกฤต มีการแก่งแย่งอำนาจภายในไม่หยุดหย่อนจนเกิดสงครามกลางเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดระบอบสาธารณรัฐก็ถึงแก่กาลอวสานหลังดำรงคงอยู่มาถึง ๔๕๐ ปี กว่าจะกลับมามีเสถียรภาพได้ก็ต้องอาศัยผู้นำที่เด็ดขาดในระบอบจักรพรรดิ แต่ความยิ่งใหญ่ของโรมไต่ระดับขึ้นไปได้อีกไม่นาน หลังจากนั้นภาระของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ก็กดทับโรมให้ทรุดลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับความลุ่มหลงในอำนาจและความแตกแยกภายในทำให้โรมอ่อนแอลงยิ่งขึ้น จนพ่ายแพ้ต่อกองทัพของ ?อนารยชน? ในที่สุด

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ความพินาศของโรมเป็นสิ่งที่เอมิเลียนัส (Aemilianus) แม่ทัพผู้พิชิตคาร์เทจครั้งนั้นได้คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้หลายร้อยปี ขณะที่เขายืนดูเมืองคาร์เทจจมอยู่ในกองเพลิงนั้น เขาร่ำไห้พร้อมกับรำพึงบทกวีของโฮเมอร์ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงความพินาศของกรุงทรอย เมื่อทหารคนสนิทถามว่าเขาหมายความว่าอย่างไร เอมิเลียนัสตอบว่า สักวันหนึ่งโรมจะต้องประสบชะตากรรมเดียวกับกรุงทรอย

ครั้งหนึ่งทรอยและคาร์เทจเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ต้องพบจุดจบอย่างเดียวกัน และแล้วสิ่งที่โรมได้ทำกับคาร์เทจนั้นในที่สุดก็ย้อนกลับมาเกิดกับตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าความตกต่ำของโรมเกิดขึ้นเมื่อสามารถพิชิตคาร์เทจได้อย่างสิ้นเชิง ชัยชนะครั้งนั้นแม้จะทำให้โรมขยายอำนาจไปอย่างกว้างขวาง แต่ในความสำเร็จนั้นก็ซุกปัญหาเอาไว้ และทำให้โรมเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ จนถึงแก่ความพินาศ นักบุญออกัสตินซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่โรมถูกตีแตก ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากทำลายเมืองคาร์เทจได้ โรมก็ตกต่ำทางศีลธรรมเป็นลำดับ เพราะเมื่อไม่มีศัตรูให้ต้องกลัวก็ไม่จำเป็นต้องระมัดระวังตัวอีกต่อไป โรมจึงมีเสรีที่จะทำตามความเห็นแก่ตัว สามารถสนองความโลภและความมักใหญ่ใฝ่สูงได้เต็มที่ และนั่นคือที่มาแห่งความหายนะของโรม

สิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จในวันนี้มักจะหว่านเพาะปัญหาหรือเป็นที่มาของความล้มเหลวในวันหน้า เพราะไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ ความสำเร็จทุกอย่างนอกจากจะได้มาด้วยการลงทุนลงแรงแล้ว เมื่อได้มาก็เป็นภาระที่ต้องรักษา ยิ่งสำเร็จมากก็ยิ่งเป็นภาระมาก (แม้แต่ดาราซึ่งเป็นที่นิยมล้นหลามก็ยังมีเรตติ้งที่ต้องรักษาไว้ไม่ให้ตก) หากภาระนั้นหนักเกินตัวเมื่อใด ก็ล้มทรุดหรือพังครืนเมื่อนั้น

ใช่แต่เท่านั้น ความสำเร็จมักซุกกับดักเอาไว้อย่างหนึ่งซึ่งคนส่วนใหญ่มักหลงติด นั่นคือความประมาทหรือความหลงตัวลืมตน ยิ่งสำเร็จมากเท่าไรก็ง่ายที่จะชะล่าใจหรือทำตามอำเภอใจ ไม่คิดจะฟังคำของใคร ซ้ำยังลุแก่โทสะได้ง่าย ทั้งหมดนี้คือโอชะอย่างดีที่ฟูมฟักความล้มเหลวให้เติบใหญ่ ไม่ต่างจากมะเร็งร้าย

ราชวงศ์ชิงเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน มักกล่าวกันว่าการใช้อำนาจตามอำเภอใจของซูสีไทเฮาเป็นที่มาแห่งความล่มสลายของราชวงศ์นี้ แต่อันที่จริงความเสื่อมของราชวงศ์นี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และหากจะสาวย้อนไปจริงๆ ก็จะพบว่าจุดเริ่มต้นแห่งความเสื่อมเกิดขึ้นในยุคที่ถือกันว่าเป็นความรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดของราชวงศ์นี้ นั่นคือยุคจักรพรรดิเฉียนหลง (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๗๓๖-๑๗๙๕)

จักรพรรดิเฉียนหลงทรงพระปรีชาสามารถมาก ในยุคของพระองค์ จีนแผ่ขยายอาณาเขตกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน (แม้กระทั่งจีนยุคปัจจุบันก็ยังเทียบไม่ได้) คลุมไปถึงดินแดนที่เป็นรัสเซียปัจจุบันรวมทั้งมองโกเลียทั้งประเทศ ขณะเดียวกันศิลปะและวรรณกรรมก็เฟื่องฟู เพราะพระองค์ทรงเป็นทั้งกวีและผู้คงแก่เรียน

หกสิบปีที่ครองราชย์?นับว่ายาวนานที่สุดในประวัติ-ศาสตร์จีน จีนมีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในปลายรัชกาลพระองค์จึงหันมาใส่พระทัยกับศิลปะและสถาปัตยกรรมอย่างเต็มที่ มีการก่อสร้างและต่อเติมพระราชวังกันขนานใหญ่ ขณะเดียวกันขุนนางในราชสำนักก็ใช้ชีวิตกันอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยมากขึ้น เมื่อผนวกกับรายจ่ายอันมหาศาลในการทำศึกสงครามเพื่อขยายอาณาเขตเกือบตลอดรัชกาล เงินในท้องพระคลังจึงร่อยหรอ ประกอบกับมีประชากรเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากร้างราสงครามกลางเมืองมานาน จึงเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงเพราะพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด

แต่นั่นก็ยังไม่เป็นปัญหามากเท่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่แพร่ระบาดทั่วราชธานี ซึ่งเกิดจากคนใกล้ชิดของจักรพรรดิเอง ความที่ทรงมีอำนาจมากจึงใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยให้อภิสิทธิ์มากมายแก่ขุนนางผู้ใกล้ชิดบางคนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง ขุนนางเหล่านี้ยักยอกฉ้อโกงสมบัติของแผ่นดินอย่างมหาศาล (ว่ากันว่าขุนนางคนหนึ่งที่พระองค์โปรดมากที่สุดมีทรัพย์สมบัติมากกว่าที่มีอยู่ในท้องพระคลังเสียอีก) ทั้งยังรีดนาทาเร้นราษฎร และบั่นทอนแบบแผนการปกครองที่จักรพรรดิคังซี (พระอัยกาของเฉียนหลง) ราชาปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ได้วางรากฐานเอาไว้

ปัญหาอีกประการที่ทรงทิ้งเอาไว้และลุกลามในเวลาต่อมาก็คือ การใช้นโยบายแข็งกร้าวกับชาติตะวันตกซึ่งเริ่มแผ่ขยายอำนาจมายังทวีปเอเชีย ความที่ครองราชย์มายาวนานโดยได้รับความสำเร็จนานัปการ จึงเชื่อมั่นในพระองค์เองมาก ไม่ฟังคำทัดทานของใคร และไม่คิดประนีประนอมกับตะวันตก ยิ่งในปลายรัชกาล วัยชราทำให้พระองค์มีความคิดแบบอนุรักษนิยมมากขึ้น จึงปฏิเสธข้อเรียกร้องทุกอย่างของตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษที่ต้องการเปิดเมืองท่าแห่งใหม่ในจีนนอกเหนือจากกว่างโจว ใช่แต่เท่านั้น ยังทรงปฏิเสธที่จะเรียนรู้จากตะวันตกหรือผลักดันให้มีการปฏิรูปเพื่อรับมือกับตะวันตก

นโยบายดังกล่าวสืบทอดต่อมาอีกหลายทศวรรษโดยจักรพรรดิหลายพระองค์ (รวมทั้งซูสีไทเฮา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน ๓ จักรพรรดิ) จนนำไปสู่การทำสงครามกับชาติตะวันตก ตามมาด้วยการสูญเสียเมืองท่ามากมาย และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ส่วนการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาจักรก็กระตุ้นให้เกิดกบฏชาวนามากมาย โดยเฉพาะกบฏไท่ผิง ทั้งศึกนอกและศึกในได้บั่นทอนความชอบธรรมของราชวงศ์ชิงอย่างถึงรากฐานจนถึงแก่กาลวิบัติ และทำให้ระบอบจักรพรรดิของจีนซึ่งสืบเนื่องมาถึง ๔,๐๐๐ ปีถึงแก่กาลอวสานในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ (ขณะที่ญี่ปุ่นคู่อริสามารถรักษาสถาบันจักรพรรดิอันยาวนานไว้ได้ เพราะเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปการปกครองเพื่อรับมือกับตะวันตก)

คนที่เก่งและประสบความสำเร็จอย่างสูง หากได้รับความสำเร็จไปนานๆ ย่อมง่ายที่จะหลงตัวลืมตน หากไม่หลงใหลได้ปลื้มกับความสำเร็จจนชะล่าใจ ก็มักจะเชื่อมั่นในความคิดและวิธีการของตนอย่างฝังหัว จนไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเรียนรู้จากคนอื่น แม้สถานการณ์รอบตัวจะแปรเปลี่ยนก็ยังยืนกรานที่จะทำอย่างเดิม ถึงจุดหนึ่งความคิดและวิธีการดังกล่าวย่อมกลับกลายเป็นปัญหาและนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

เฮนรี ฟอร์ด เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความฉลาดปราดเปรื่อง เขาเป็นนักประดิษฐ์ผู้พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งโลก จนรถยนต์กลายเป็นสัญลักษณ์ของโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดการปฏิวัติวิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ทำให้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกทั้งหลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนยุคนี้ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากความสำเร็จของเขาในการผลิตรถยนต์ต้นทุนต่ำในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้รถยนต์ของเขามีราคาถูกมาก (๑ ใน ๓ ของราคารถยี่ห้ออื่น) รถของเขาซึ่งมีชื่อว่า Model T จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ในชั่วเวลาเพียง ๑๐ ปี ครึ่งหนึ่งของรถที่ขับในสหรัฐอเมริกาคือรถ Model T ส่วน เฮนรี ฟอร์ด ก็กลายเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก

Model T เป็นรถที่มีกลไกไม่ซับซ้อน ขับง่าย และดูแลรักษาง่าย เอกลักษณ์ของมันคือสีดำล้วน ฟอร์ดเชื่อมั่นในรถรุ่นนี้มาก เพราะไม่เพียงเป็นแม่แบบให้รถยี่ห้ออื่นๆ ลอกเลียนแบบเท่านั้น หากยังเป็นตัวสร้างความรุ่งเรืองมั่งคั่งให้บริษัทฟอร์ดที่เขาก่อตั้งขึ้น เขาจึงไม่ยอมผลิตรถรุ่นอื่นเลย ยิ่งกว่านั้นยังไม่ยอมให้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรถรุ่นนี้เลยแม้แต่น้อย กระทั่งสีรถเขาก็ยืนกรานให้ใช้สีดำสีเดียวเท่านั้น (?จะผลิตรถสีใดก็ได้ตราบใดที่มันยังมีสีดำ? คือคำตอบเมื่อวิศวกรและผู้ค้ารถขอร้องให้เขาเปลี่ยนสีรถบ้าง)

เป็นเวลานานนับสิบปีที่ฟอร์ดไม่ยอมผลิตรถรุ่นอื่นหรือปรับปรุงรถ Model T ทั้งๆ ที่กำไรและส่วนแบ่งตลาดของบริษัทฟอร์ดหดหายไปเรื่อยๆ เนื่องจากคู่แข่งผลิตรถที่มีคุณภาพดีกว่า ขณะเดียวกันรสนิยมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป หันมาใช้รถที่มีเครื่องเครามากขึ้นและสวยขึ้น แต่ฟอร์ดก็ยังใช้วิธีการเดิมในการสู้กับคู่แข่ง นั่นคือลดราคารถ Model Tให้ต่ำลงเรื่อยๆ วิธีการนี้แม้จะได้ผลในปี ๑๙๐๘ แต่เริ่มใช้ไม่ได้ผลในช่วง ๑๐ ปีหลังจากนั้น เพราะผู้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นจึงสามารถซื้อรถราคาแพงได้

ผ่านไปถึง ๑๙ ปี ฟอร์ดจึงยอมยุติการผลิตรถ Model T และหันไปผลิตรถรุ่นใหม่ แต่สถานะทางการเงินของบริษัทก็ไม่ดีขึ้นมากนักเพราะฟอร์ดยังคงยืนกรานที่จะใช้วิธีการเดิมๆ ในการบริหารงาน เช่นการปฏิบัติต่อคนงานราวเครื่องจักร (?ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นั้นใหญ่เกินกว่าที่จะมีความเป็นมนุษย์ได้?) ทำให้คนงานเก่งๆ หนีไปอยู่บริษัทอื่น นอกจากนั้นเขายังเป็นคนที่รังเกียจงานนั่งโต๊ะอย่างยิ่ง จึงเป็นปฏิปักษ์กับพนักงานบัญชี และไม่ยอมให้บริษัทมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีเลย ทั้งๆ ที่บริษัทมีทรัพย์สินหลายร้อยล้านดอลลาร์ เขาเคยบริหารบริษัทเมื่อแรกตั้งอย่างไร ก็ยังบริหารอย่างนั้นแม้สถานการณ์จะแปรเปลี่ยนไปมากแล้ว

ฟอร์ดเชื่อมั่นในตัวเองมาก แม้เมื่อโอนตำแหน่งประธานบริษัทให้แก่ลูกชาย เขาก็ยังแทรกแซงการบริหารงานของลูกไม่เลิกรา (เช่นเดียวกับจักรพรรดิเฉียนหลง ที่แม้สละราชบัลลังก์แล้วก็ยังบงการจักรพรรดิองค์ใหม่ผู้เป็นพระโอรสของพระองค์อยู่เบื้องหลัง) โดยขัดขวางการริเริ่มใหม่ๆ ทั้งในด้านการบริหารและการผลิต ผลก็คือกิจการของฟอร์ดตกต่ำเป็นเวลายาวนานถึง ๒๐ ปี หนึ่งปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต บริษัทขาดทุนเดือนละ ๑๐ ล้านเหรียญจนแทบจะอยู่ไม่ได้ การจากไปของเขามีส่วนช่วยให้บริษัทฟอร์ดพ้นจากวิกฤต เฮนรี ฟอร์ด จึงเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายบริษัทของตนเอง

ความสำเร็จกับความล้มเหลวนั้นแยกจากกันไม่ออก จะเรียกว่าความสำเร็จคือจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวก็ได้ ทั้งนี้ก็เพราะในความสำเร็จนั้นมีเชื้อแห่งความล้มเหลวซุกซ่อนอยู่ซึ่งพร้อมจะเติบใหญ่ในวันหน้า หาไม่ก็เปิดช่องให้ปัจจัยแห่งความล้มเหลวแฝงตัวเข้ามา (เช่น ความประมาท ความหลงตัวลืมตน การยึดติดกับความคิดเดิมจนไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง) หากรู้ไม่เท่าทัน มันก็จะลุกลามขยายตัวจนก่อปัญหาและกลายเป็นความล้มเหลวในที่สุด

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ความสำเร็จไม่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่เที่ยง (อนิจจัง) อีกทั้งไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะเดิมไปได้นานๆ ไม่นานก็ต้องเสื่อมสภาพไป (ทุกขัง) ความฉลาดปราดเปรื่องหรือความเก่งกล้าสามารถก็เช่นกันไม่สามารถหนีกฎอนิจจังไปได้ ยิ่งยึดติดกับวิธีการเดิมๆ โดยไม่เข้าใจถึงความแปรเปลี่ยนของเหตุปัจจัยรอบตัว วิธีการที่เคยสร้างความสำเร็จนั้นเองกลับจะกลายเป็นปัญหาและพาไปสู่ความล้มเหลวไม่ช้าก็เร็ว

ผู้ที่รู้เท่าทันธรรมดาจึงไม่หลงเพลินกับความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดถือมั่นกับความคิดและวิธีการเดิมๆ หากเปิดใจเรียนรู้อยู่เสมอ และตระหนักดีถึงข้อจำกัดของตนเอง เมื่อถึงเวลาก็รู้ว่าควรจะวางมือและเปิดทางให้ผู้อื่นได้แล้ว ไม่สำคัญผิดว่าตนเองเท่านั้นที่เก่งหรือคิดผูกขาดความสำเร็จไว้กับตัวคนเดียว หากหลงคิดเช่นนั้นก็จะต้องแพ้ภัยตนเอง และถูกความล้มเหลวทำร้ายจิตใจในที่สุด


ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับ 296 ตุลาคม 2552
ที่มา : http://www.sarakadee.com/2011/10/14/success-to-fail/