ครูเลิศชาย ปานมุข

ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา => เทคนิคการบริหารงานและการปฏิบัติงาน => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 12:57:59 AM

หัวข้อ: ผู้นำกับการเป็นผู้บริหาร
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 12:57:59 AM

การบริหาร(Management)

      คือกระบวนการคิด วางแผน จัดการ และควบคุม การใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และบรรลุ ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ประสพการณ์ในการจัดการ ผู้บริหารจึงมีความแตกต่างกัน ในความสามารถ ขึ้นกับกระบวนทัศน์ ความรู้ ความสามารถและความมุ่งมั่นของเขา

การเป็นผู้บริหาร และผู้นำ

      การบริหาร เป็น ?ศาสตร์? ส่วนภาวะผู้นำ เป็น ?ศิลป์? ผู้บริหารที่จะประสพความสำเร็จได้ต้องประกอบด้วย ความรู้ในการบริหาร และมีภาวะผู้นำ ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารจำเป็นต้องศึกษาวิชาการบริหารให้ถ่องแท้ และเข้าใจ หาไม่เช่นนั้นแล้วไม่อาจจัดการกับกระบวนการให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ ส่วนความเป็นผู้นำ แม้ว่าจะมีผู้เขียนตำรามากมายให้เราสามารถศึกษารวมทั้งเรียนรู้ได้จากตัวอย่างความเป็นผู้นำ ของบุคคลสำคัญที่ประสพความสำเร็จในอดีต แต่อย่างไรก็ตามการที่บุคคลหนึ่งจะซึมซับและมีภาวะผู้นำได้มักขึ้นมักขึ้นกับการได้รับการปลูกฝังและอบรมมาตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็ก และเกิดการสั่งสมเรียนรู้ในการเป็นผู้นำ การเรียนรู้ใดๆสำหรับเขาต่อมาเป็นเพียงการตอกย้ำ และพลิกแพลง เพิ่มเติมความสามารถให้กับเขาเท่านั้นเอง ดังนั้น ผู้บริหารในองค์กรจะมีให้เห็นมากมาย แต่ภาวะผู้นำจะหาพบได้น้อยมากใน แต่ละองค์กร ส่วนมากเป็นผู้นำโดยการแต่งตั้ง อาศัยความเป็นเครือญาติ เพื่อนฝูง คนสนิท บุญคุณต้องทดแทน หากคนเหล่านั้นไม่ปรับตัว อาจทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการบริการจัดการ ซึ่งถือเป็นต้นทุน (Operational Cost)ขององค์กรที่สูญเสียไปไม่ใช่น้อยทั้งเกิดจากความผิดพลาด(Cost Of Defect)และ สูญเสียโอกาสที่จะใด้(Opportunity Cost)

คุณสมบัติของการ เป็นผู้นำในการบริหารงาน  

มีจิตสำนึกในเป้าหมายและใฝ่หาความสำเร็จ (Sense of purpose & direction)

      ผู้นำเมื่ออาสาตนเข้ามานำผู้อื่น ย่อมต้องอยากเห็นความสำเร็จทุกๆเรื่องภายใต้การบริหารของตน สิ่งที่หวังไว้ต้องเริ่มต้นจากการมีวิสัยทัศน์แห่งตน (Personal Vision)ก่อน และได้วางเป้าหมายในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวไว้อย่างไรบ้าง และควรไปให้ถึงเมื่อได้ มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมี ?ความอยาก? เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้มนุษย์แสวงหาไม่หยุดนิ่ง หาก ?ความอยาก?นั้นเป็นไปในทางที่ดี เรียกว่ามีความใฝ่ดี(Creative Tension) ซึ่งทางพุทธเรียกว่า ?ฉันทะ? ใน ?อิทธิบาท 4 ซึ่ง เป็นธรรมมะของผู้ใฝ่ความสำเร็จ ได้แก่ ฉันทะ(คือพึงพอใจ ความอยากได้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมีในทางที่ดี มีแล้วเกิดความสุข ปิติโสมนัส) วิริยะ (คือความเพียรพยายามให้ได้มา ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค) จิตะ (คือการมุ่งมั่นจดจ่อในการกระทำก่อให้เกิดสมาธิปัญญา)วิมังสา (คือความใคร่ครวญรอบคอบ ไตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งที่กระทำ) แต่ถ้าหาก ?ความอยาก? นั้นเป็นไปในทางที่ไม่ดี คือความใฝ่ต่ำเพื่อตอบสนองอารมณ์(Structural Conflict) ซึ่งทางพุทธเรียกว่า ?ตัณหา? ซึ่งมีตัวกิเลสเป็นแกนนำ และมีตัวอุปทานคอยส่งเสริมยึดติดไม่ให้หลุดพ้น ทั้ง ?ความใฝ่ดี?และ ?ความใฝ่ต่ำ? ล้วนมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนต่อสู้กันอยู่ แล้วแต่ว่าส่วนไหนจะเอาชนะได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาพชีวิตที่เป็นอยู่จริง(Current Reality)ของคนๆนั้น หากมองในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามนุษย์ที่เกิดมาไม่มีความต้องการไดๆเลย คือไม่มีความอยาก ย่อมไม่ปรารถนา ที่จะลงมือทำอะไร มีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย คนเหล่านี้เกิดมาทำให้มารดาเสียเวลาเปล่าที่อุตส่าห์ ตั้งท้องและเจ็บปวดตอนคลอด อย่างน้อยเขาก็หลอกตัวเองว่าไม่ต้องการอะไรทั้งๆที่เขายังต้องการปัจจัย4 เช่น อยากกิน มีเครื่องนุงห่ม และบ้านอยู่อาศัยรวมถึงยารักษาโรค เหตุการณ์เช่นที่ว่ามานี้คงไม่ค่อยเป็นจริงแต่อยากชี้ให้เห็นเป็นอุทาหรณ์ว่า หากเป็นเช่นนี้แล้ว การพ้นไปจากโลกนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด  แม้แต่พระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวงแล้ว ยังต้องมีความเมตตาที่จะธุดงค์สั่งสอนให้ผู้คนรู้ถึงแก่นแท้ของความทุกข์ และมีสติ ปัญญาในการแก้ปัญหาเพื่อสู่การดับทุกข์จนวาระสุดท้ายของพระองค์ และไม่ได้เลือกที่จะอยู่นิ่งเฉยแม้ภายหลังตรัสรู้หลุดพ้นแล้ว หากผู้นำที่มาบริหารงานมีความต้องการ แต่ไม่มีเป้าหมาย
      ก็ไม่ต่างจากการเดินทางไปเพราะอยากเดิน แต่ไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่าจะมุ่งสู่ที่ได้ และหากเป้าหมายเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ ทางดี ย่อมจะมีโอกาสประสพความสำเร็จที่ยืนยาวได้  ทั้งนี้ความสำเร็จยังต้องอาศัยความเพียร มุ่งมั่น มีสติรู้เท่าทัน และมีปัญญาในการคิดใคร่ครวญแก้ปัญหารวมถึงการลงมือที่จริงจังจดจ่อซึ่ง เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ในบทที่ว่าด้วย ?อิทธิบาท 4?

รู้ความต้องการของตนเอง (Self realization)

      ผู้นำต้องรู้ว่าตนต้องการอะไร เป็นจริงได้หรือไม่อยู่ในวิสัยความสามารถของตนหรือเปล่าและจะใช้วิธีการ อย่างไรเพื่อให้ได้มาไม่ใช่ความต้องการที่เพ้อฝัน

มีความตื่นตัว (Alertness)

      วิสัยของผู้นำต้องมีความตื่นตัว หมายถึงรับความรู้สึกได้กับความเปลี่ยนแปลงรอบตัวเราก่อนที่จะเกิดปัญหา มีความตระหนัก(Realize) แต่ไม่ถึงกับตระหนก(Panic) มีความตื่นตัว(Alert)แต่ไม่ถึงกับตื่นเต้น(Excite) จนเกินเหตุ มีสติตั่งมั่น รู้จักใคร่ครวญในเหตุ ผล และคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า

มีความกระตือรือร้น (Enthusiasm)

      หมายถึงการมีจิตใจมุ่งมั่น จดจ่อ ที่จะทุ่มเทให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จในงาน แต่ไม่ใช้ถึงขั้นรนราน จนขาดสติ และไม่ใช่ร้อนรนจนทนรอไม่ได้ ความกระตือรือร้น ต้องเป็นไปอย่างมีสติ อดทนอดกลั้น ไม่บุ่มบ่าม รนรานจนเสียหาย คนที่เป็นผู้นำต้องมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องทุ่มเท ขวนขวาย จัดหา ติดตาม งานอยู่ตลอดเวลา และไม่รอให้งาน หรือ อุปสรรควิ่งเข้ามาหา

มีความซื่อสัตย์ (Integrity)

      ผู้นำที่มีความสามารถ แต่ไม่มีความซื่อสัตย์อาจจะประสบความสำเร็จได้ไม่นาน (Short term success) แต่ผู้นำที่มีความสามารถและซื่อสัตย์ เขาจะประสพความสำเร็จระยะยาว(Long term success) ความซื่อสัตย์หมายถึงการไม่คิดคด เอาเปรียบ เบียดเบียน ผิดคำ ผิดประพฤติต่อพันธสัญญาที่มีต่อผู้อื่น ในเชิงบริหารหมายถึง ซื่อสัตย์ต่อ ?ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น หัวหน้า ลูกน้อง? รวมไปถึงต่อครอบครัวและตนเองซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของความสำเร็จในงาน ในความซื่อสัตย์ ต้องมีความจริงใจเป็นองค์ประกอบด้วย

มีความรับผิดชอบ (Responsibility)

      ความรับผิดชอบเป็นพื้นฐานของผู้นำที่ต้องมีหมายถึงการสำนึกในหน้าที่หรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายและพร้อม จะทุ่มเทให้เกิดความสำเร็จ นอกจากนั้น ผู้นำควรมีสำนึกแห่งความรับผิดรับชอบต่อผลการกระทำของตนอย่างจริงใจไม่ บิดพลิ้ว(Accountability)

มีความเป็นเพื่อน (Friendliness)

      คำพูดที่ว่า ?ยิ่งสูงยิ่งโดดเดี่ยว?มีความหมายว่า ผู้นำมักจะต้องตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองและมักมีโลกส่วนตัวที่แปลกแยกยากที่ผู้อื่นจะเข้าหาได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันผู้นำก็ต้องสัมผัสผู้คนใต้บังคับและรอบข้างมากมาย ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแล้วต่างมีจุดประสงค์ของตนในการเข้าหาผู้นำจนบางครั้งไม่อาจแยกแยะความจริงใจหรือมีบางสิ่งแฝงเร้นซ่อนอยู่ในผู้คนเหล่านั้นหรือไม่ ดังนั้นสำหรับคนดีที่ไว้ใจแล้ว ผู้นำต้องคบหาอย่างมิตร และให้เกียรติและมีความเป็นเพื่อนมากกว่าความเป็นเจ้านายและลูกน้อง เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะช่วยเป็นกำลังใจ คอยช่วยเหลือสอดส่อง ปกป้อง สนับสนุนให้กับผู้นำ

มีความฉลาดรอบรู้ (Intelligence)  

      มีคำกล่าวไว้ว่า ? องค์กรไหนมีผู้นำที่ฉลาดรอบรู้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มุ่งมั่นขยันจะมีกำลังใจต่อสู้ ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ขี้เกียจไม่ได้เรื่องจะอยู่อย่างหวาดระแวง หากองค์กรไหนมีผู้นำที่โง่เขลาเบาปัญญา ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มุ่งมั่นขยัน จะอึดอัดและท้อแท้ ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ขี้เกียจไม่ได้เรื่องจะเริงร่าสบายใจ?

มีความจริงจัง (Ingenuity)

      ผู้นำมักจะเป็นแบบอย่าง (Role Model)ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ความจริงจังกับงานของผู้นำย่อมทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่อาจปล่อยตัวตามสบายได้ซึ่งมักก่อให้เกิดความเครียดให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ถ้าหากผู้นำคนไหนไม่มีความจริงจัง โลเลเรื่อยเปื่อย องค์กรนั้นย่อมปั่นป่วน คนดีจะเบื่อหน่าย คนเลวจะสบายตัวไม่ต้องกลัวเจ้านายว่า อย่างไรก็ตามความจริงจังที่แสดงออกอย่างพอเหมาะจะกระตุ้นลูกน้องได้ หากมากไปลูกน้องเครียด บางคนถึงกับถอดใจก็มี บางครั้งผู้นำต้องมี อารมณ์ขัน(Sense of Humor) บ้าง เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศที่เคร่งเครียดเกินไปในที่ประชุม แต่พบว่าบ่อยครั้งที่ลูกน้องกลับลำความรู้สึกไม่ทันขณะที่กำลังเครียดในที่ประชุม การพูดตลกของผู้นำเลยตลกอยู่คนเดียว ลูกน้องนั่งหน้าบึ้งอยู่รับมุขไม่ทัน บางทีไปนึกเอาได้ว่าเจ้านายพูดตลกหลังเลิกประชุม หรือที่บ้านเลยก็มี

มีความคิดสร้างสรรค์ (Initiative)

      การคิดสิ่งใหม่ๆ ไม่ยึดติดรูปแบบเดิมๆ กล้าเสนอความคิดที่ไม่เหมือนคนอื่น ถือเป็นคุณลักษณะที่ดีของผู้นำ ที่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร ซึ่งสังคมวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไปเลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบมาตั้งแต่เด็ก ให้การปกป้องตลอดเวลา ข้อดีคือเด็กมีความสุข อบอุ่นภายใต้โลกที่พ่อแม่สร้างให้ซึ่งบางครั้งไม่เป็นไปตามสภาพจริง ทำให้เติบใหญ่มาเป็นคนไม่กล้าคิดในสิ่งที่ต่างจากที่เคยเห็นเคยเป็น เรามักพบว่าองค์กรส่วนใหญ่มีแต่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่น่ารัก ไม่ค่อยพูดจาออกความเห็นโต้แย้งใครไม่ค่อยเป็น ยกเว้นมีความถนัดเกาะกลุ่มนินทากันนอกห้อง ชอบการรับคำสั่งที่ชัดเจน เพราะไม่ต้องรับผิดชอบกับการต้องคิดเอง ความคิดสร้างสรรค์นี้ ต้องฝึกกันมาตั้งแต่การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ฝึกก็ได้แต่ซึมซับยาก

มีความศรัทธาเชื่อมั่น (Faith)

      การที่คนเราจะทำอะไรอย่างหนึ่งด้วยความมุ่งมั่น เพียรพยายาม และทุ่มเท การกระทำนั้นต้องเกิดจากความศรัทธาเชื่อมั่นต่อสิ่งที่กระทำ ผู้นำก็เช่นกัน ความศัทธาและเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำในการทำการใดๆ ที่ตนมุ่งหวังมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความศรัทธานี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนภายในที่ไม่มีหมดและยังบันดาล ให้มีเกิดความมุมานะ ความเชื่อมั่น ความพึงพอใจแห่งตนและการทำงานอย่างมีความสุข ผู้นำที่ดี ต้องให้ความสำคัญในการสร้างความศรัทธาและเชื่อมั่นให้เกิดกับลูกน้องให้ได้ ด้วย

มีความรัก (Love)  

      ความรัก เป็นตัวสะท้อนที่ละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์ มันเป็นอารมณ์ที่ลึกซึ้งที่บุคคลแสดงต่อกันเป็นจุดก่อเกิดความผูกพัน สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ ความรักต่อตนเอง และผู้อื่นอย่างมีดุลยภาพถือเป็นความรักที่ถูกต้อง โดยรู้จักการให้และการรับ บางคนถูกเลี้ยงมาในสภาพแวดล้อมที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ในวัยเด็กด้วยเหตุไดก็ตาม ทำให้เกิดภาวะกระหายรัก(Love Hunger) เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมามักจะรักใครไม่เป็นรวมไปถึงรักตัวเองก็ไม่เป็นด้วย ความ ?กระหายรัก?มากมักทำให้ตีความหมายของ ?ความรัก? ผิดไปจากความเป็นจริง ทำให้มองเน้นไปในด้านรูปธรรม มากกว่านามธรรม เพราะสามารถเข้าใจในสิ่งที่เห็นได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องไปหาความหมายให้เสียเวลา เปรียบได้เหมือนคนที่หิวโหย เมื่อเห็นอะไรที่มองคล้ายกับอาหารก็จะรีบตะกรุมตะกรามจับเข้าปากทันทีโดยไม่มีการใคร่ครวญใดๆ ดังนั้นคนเหล่านี้จะมีความสุขพอใจในการได้รับ วัตถุ สิ่งของ กำนัล คำชม ป้อยอ โดยไม่มีการไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและด่วนสรุป เหมาเข้าข้างตัวเองทันที่ว่าเขารักและศรัทธาตน จนกลายเป็น ?ความหลง? มากกว่า บุคคลเช่นนี้มักไม่สามารถเป็นผู้นำที่ประสพความสำเร็จได้ เพราะหากได้เป็นผู้นำ คนประเภทนี้มักจะยอมสูญเสียทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งการชื่นชม สิ่งของกำนัลหน้าตาชื่อเสียง(จอมปลอม)ที่มีผู้หยิบยื่นให้ ในที่สุดจะถูกหลอกจากบุคคลรอบข้างได้โดยไม่รู้ตัวผู้นำที่ดีต้องรู้ที่จะรักตนเองและรักผู้อื่นอย่างมีดุลยภาพและใช้ความรัก บวกกับความจริงใจในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการบริหารลูกน้องอย่างเหมาะสมกับแต่ละสถาณการณ์

มีเทคนิคในการทำงาน(Technical mastery)

      การเป็นผู้บริหาร ต้องมีความรู้อยู่สองอย่าง คือความรู้ในเนื้อหางาน(Techniques) และความรู้ในวิธีบริหารจัดการ(Management) ความเป็นผู้รู้เทคนิคในการบริหารถือเป็นศาสตร์ที่สำคัญของผู้นำที่ต้องมีเพิ่มเติมจากความรู้ในวิชาชีพ บางครั้งองค์กรอาจสูญเสียผู้ทำงานที่ดีแต่ได้ผู้บริหารที่ไม่ได้เรื่องเพราะการมอบหมายงานที่ผู้นำมองผิดมุมไปเอาคนทำงานดีแต่ขาดทักษะบริหารมามาเป็นผู้บริหาร

มีทักษะในการถ่ายทอด (Teaching skill)

      ผู้นำต้องมีการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ ให้กับลูกน้องเพื่อการทำงานที่ถูกต้อง และมีประสิทธิผล ความเป็นครูของผู้นำเกิดจากการที่ผู้นำต้องอาศัยศักยภาพของลูกน้อง ในการทำงานให้ได้ผล ดังนั้น การสร้างคนให้มีความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสำเร็จ ให้กับองค์กรในระยะยาว ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจึงต้องมีบทบาทเป็นทั้งครูและผู้ชี้แนะ (Teacher & Coach)ได้

มีประสบการณ์ (Experience)

      ประสบการณ์ คือความรู้ที่ได้จากการกระทำของจริงที่ผ่านมา คนที่มีประสพการณ์มักเป็นผู้มองโลกได้อย่างลึกซึ้งและกว้างไกล เป็นปัจจัยก่อให้เกิดความสำเร็จในชีวิตของผู้คนมากมาย แม้ว่าคนเหล่านั้นไม่ได้จบการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาใดๆมาก็ตามมันเป็นการเรียนรู้จากของจริงผ่านกระบวนการลองผิดลองถูก แล้วสั่งสมเป็นความรู้ในบุคคลประสพการณ์บางครั้งอาจเรียนลัดได้จากการอ่าน ค้นคว้า สังเกต ของผู้อื่นแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับตนเอง

มีความแข็งแกร่งทั้งกายใจ (Physical & Mental energy)

      กายและใจทั้งสองส่วนก่อเกิดเป็นตัวตนของบุคคลที่สมบูรณ์แบบ ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ไม่อาจสูญเสียส่วนไดส่วนหนึ่งไปได้ การรักษากายให้เข้มแข็ง และใจให้กล้าแกร่งของผู้นำเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำพาองค์กร ลูกน้องให้เดินตาม ผู้นำกายขี้โรค ใจขี้ขลาดย่อมไม่อาจนำพาผู้ไดได้

มีความเสียสละ(Sacrifice)  

      ผู้นำที่ดี ต้องเป็นคนแรกขององค์กรที่แสดงความเสียสละ เพื่อสร้างจิตสำนึกและเป็นแบบอย่างให้กับลูกน้อง ไม่มีลูกน้องในองค์กรไหนจะยอมเสียสละเพื่อเจ้านายที่เห็นแก่ตัว ความเสียสละยังหมายถึงเมื่อไดที่เกิดความผิดพลาดขึ้นมา จะแสดงความรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของผู้นำอย่างกล้าหาญโดยไม่มุ่งเพียงกล่าวโทษแต่ลูกน้อง ขณะเดียวกัน หากเมื่อไดองค์กรประสพผลสำเร็จ การสรรเสริญยกย่องคุณงามดี ความชอบให้แก่ลูกน้องโดยไม่แย่งเอามาเป็นของตนเองแต่ผู้เดียว
   
ที่มา : http://www.hrtothai.com