ครูเลิศชาย ปานมุข

ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา => งานนิเทศและการประกันคุณภาพการศึกษา => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 12:56:25 AM

หัวข้อ: การนิเทศตามลักษณะงานและกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 12:56:25 AM
การนิเทศตามลักษณะงานและกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
โดย อัญชลี ธรรมะวิธีกุล ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ

1. การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย


พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ได้ให้ความหมาย การศึกษานอกระบบและการศึกตามอัธยาศัยในมาตรา 4 ไว้ดังนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ.2551:3-4)

การศึกษานอกระบบ หมายความว่ากิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้นและมีวิธีการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษาหรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้

การศึกษาตามอัธยาศัย หมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิติประจำวันของบุคคล ซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่าต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

2. หลักการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
หลักการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ยึดหลักดังต่อไปนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ.2551:8-9)

2.1 การศึกษานอกระบบ
2.1.1 ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางทั่วถึงเป็นธรรมและมีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพชีวิตของประชาชน
2.1.2 การกระจายอำนาจแก่สถานศึกษาและการให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเรียนรู้

2.2 การศึกษาตามอัธยาศัย
2.2.1 การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย
2.2.2 การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีความหลากหลายทั้งส่วนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่วนที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา
2.2.3 การจัดกรอบหรือแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้เรียน

3. เป้าหมายของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

เป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีดังต่อไปนี้ (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.2551:10 -11)

3.1 การศึกษานอกระบบ
3. 1.1 ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนและสังคมที่ใช้ความรู้และภูมิปัญญาเป็นฐานในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ
3.1.2 ภาคีเครือข่ายเกิดแรงจูงใจและมีความพร้อมในการมีส่วนร่วมเพื่อจัดกิจกรรมการศึกษา

3.2 การศึกษาตามอัธยาศัย
3.2.1 ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3.2.2 ผู้เรียนได้เรียนรู้สาระที่สอดคล้องกับความสนใจและความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
3.2.3 ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์และเทียบโอนผลการเรียนกับการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ

4. กิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

กิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จัดในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้(สำนักงาน กศน.2553: 10 ? 18)

4.1 กิจกรรมการศึกษานอกระบบ
4.1.1 การศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับ ประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
4.1.2 การส่งเสริมการรู้หนังสือ
4.1.3 การศึกษาต่อเนื่อง
      1) การศึกษาเพื่อพัฒนาการงานและอาชีพ
      2) การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
      3) การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน

4. 2 กิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย
4.2.1 การส่งเสริมการอ่าน
4.2.2 ห้องสมุดประชาชน
4.2.3 วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา

5. กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีดังนี้ (สำนักงาน กศน. .2553:3)

5.1 กลุ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
5.1.1 ผู้ด้อยโอกาส
5.1.2 ผู้พิการหรือทุพพลภาพ
5.1.3 ผู้สูงอายุ
5.1.4 ชนต่างวัฒนธรรม
5.1.5 ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจใฝ่เรียนรู้

5.2 กลุ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความสามารถในเชิงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
5.2.1 ผู้อยู่ในวัยแรงงานที่อยู่นอกระบบ
5.2.2 ผู้อยู่ในวัยแรงงานที่อยู่ในระบบ

6. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

 พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ในมาตรา 14 ให้มีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรียกโดยย่อว่า ?สำนักงาน กศน.? โดยมีอำนาจ หน้าที่ดัง ต่อไปนี้(สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.2551:22-25)

6.1 เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ

6.2 จัดทำข้อเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนและมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยต่อคณะกรรมการ

6.3 สนับสนุน และดำเนินการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ การวิจัย การพัฒนา หลักสูตรและนวัตกรรมทางการศึกษา บุคลากรและระบบข้อมูลข่าวสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

6.4 ส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการเทียบโอนผลการเรียน การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ และการเทียบระดับการศึกษา

6.5 ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และองค์กรอื่นรวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

6.6 จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา วิทยุชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนชุมชน และแหล่งการเรียนรู้อื่น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องของประชาชน

6.7 ดำเนินการเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

6.8 ปฏิบัติงานอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

7. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

มาตรา 17   แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้มี สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเรียกโดยย่อว่า ?สำนักงานกศน. จังหวัด?ทุกจังหวัด จำนวน76แห่งและสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า?สำนักงานกศน.กทม.? 1 แห่งเป็นหน่วยงานการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาการนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้(กระทรวงศึกษาธิการ.2551:31-37)

มาตรา 18   ให้สถานศึกษาทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน และจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยร่วมกับภาคีเครือข่าย  การดำเนินงานของสถานศึกษา อาจจัดให้มีศูนย์การเรียนชุมชนเป็นหน่วยจัดกิจกรรมและสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนก็ได้   การจัดตั้ง ยุบ เลิก รวม การกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 19  ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งมีคณะกรรมการสถานศึกษา

มาตรา 20  ให้สำนักงาน จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพภายในสำหรับสถานศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ให้สถานศึกษาดำเนินการประกันคุณภาพภายในให้สอดคล้องกับระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพภายใน โดยได้รับความร่วมมือ ส่งเสริมสนับและสนุนจากภาคีเครือข่ายและสำนักงาน ระบบหลักเกณฑ์และวิธีประกันคุณภาพภายในให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

อำนาจและหน้าที่ของสำนักงาน กศน.จังหวัด

มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภายในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณีรวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. จัดทำยุทธศาสตร์แผนพัฒนาและมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับนโยบาย มาตรฐานการศึกษา แผนการศึกษาชาติ แผนพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน
2. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
3. วิเคราะห์ จัดตั้ง จัดสรร เงินงบประมาณให้แก่สถานศึกษาและภาคีเครือข่ายที่ จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
4. ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย
5. จัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบตามที่กฎหมายกำหนด
6. ส่งเสริมสนับสนุนการเทียบโอนผลการเรียนการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์และการเทียบระดับการศึกษา
7. ส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตร สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย
8. ระดมทรัพยากรด้านต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรบุคคล เพื่อการมีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
9. ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
10. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและภาคีเครือข่าย
11. ส่งเสริมสนับสนุนติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริงานนโยบายพิเศษของรัฐบาลและงานเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ
12. กำกับดูแลนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม
อัธยาศัยของสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย
13. ปฏิบัติงานอื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย

ภายใต้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว จึงได้มีการออกแบบโครงสร้างรองรับ จากกลุ่มภารกิจภายใต้คำว่า ? กลุ่ม ? จำแนกไปสู่กลุ่มงาน และงาน ตามลำดับ โดยแต่ละงานจะแสดงภาระงานให้เห็นเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน มีโครงสร้างการบริหารงาน  7 กลุ่มงาน ดังนี้

1. กลุ่มอำนวยการ
2. กลุ่มยุทธศาสตร์และการพัฒนา
3. กลุ่มส่งเสริมการศึกษานอกระบบ
4. กลุ่มส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย
5. กลุ่มส่งเสริมภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ
6. กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
7. กลุ่มตรวจสอบภายใน

1. กลุ่มอำนวยการ  มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานธุรการ งานสารบรรณ งานการเงินบัญชีและพัสดุ งานอาคาสถานที่และยานพาหนะ งานเกี่ยวกับสวัสดิการ งานประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ให้บริการข่าวสารข้อมูล งานควบคุมภายใน งานบุคลากร งานนิติการ และงานศูนย์ราชการใสสะอาด

2. กลุ่มยุทธศาสตร์และการพัฒนา มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ จัดทำแผนงาน/โครงการ แผนปฏิบัติราชการประจำปี วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายแผนงาน/โครงการ จัดทำและเสนอขอจัดตั้ง จัดสรรงบประมาณประจำปี จัดทำระบบและฐานข้อมูลสารสนเทศและรายงาน สนับสนุนการตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการ งานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด / กรุงเทพมหานคร

3. กลุ่มส่งเสริมการศึกษานอกระบบ  มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาพื้นฐานนอกระบบ การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต และการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ การเทียบโอนการศึกษา งานเทียบระดับการศึกษา เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ (Advice Center) การส่งเสริมงานกิจการนักศึกษา ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณวุฒิการศึกษา การจัดทำข้อมูลรายบุคคลเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ และการจัดทำ GPA/PR

4. กลุ่มส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา การพัฒนาห้องสมุดประชาชน การศึกษาทางสื่อสารมวลชน ศูนย์การเรียนชุมชน และการจัดนิทรรศการและเผยแพร่

5. กลุ่มส่งเสริมภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่าย โดยระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้ทุกภาคส่วนของสังคมเป็นเครือข่ายร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สนับสนุนโครงการพิเศษต่าง ๆ เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ กิจกรรมประชาธิปไตย งานลูกเสือและยุวกาชาด งานกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา งานการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชาติ และส่งเสริมสนับสนุนนโยบายของจังหวัด / กระทรวงศึกษา

6. กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการนิเทศติดตามและประเมินผลการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งเสริมระบบประกันคุณภาพการศึกษา งานพัฒนาทรัพยากรบุคคลและเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การปฏฺบัติงาน งานส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตร สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การวัดผลและประเมินผลการศึกษา         

7. กลุ่มตรวจสอบภายใน มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบการบริหารงบประมาณ การเงิน การบัญชี การพัสดุ การสอบทาน การควบคุมภายใน และตรวจสอบการดำเนินงานของสถานศึกษาในสังกัด

8.สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีจำนวน 964 แห่ง มีดังนี้ (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ.2551:1-34)

8.1 สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร คือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขต (กศน.เขต) จำนวน 50 แห่ง

8.2 สถานศึกษาสังกัดสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด คือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ (กศน.อำเภอ) จำนวน 877 แห่ง

8.3 สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 37 แห่ง มีดังนี้

1) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)                 
2) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ                     
3) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจำนวน 7 แห่ง
4) ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี?สามสงฆ์ทรงพระคุณ?                     
5) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จำนวน 12 แห่ง
6) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (เอกมัย)
7) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต
8.) ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด
9) อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
10) ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
11) สถาบันการศึกษาทางไกล
12) สถาบันการศึกษาต่อเนื่องสิรินธร
13) สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร
14) สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค
15) สถาบันส่งเสริมและ พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้

9. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต

9.1 ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้(ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ.2551:2-37)

1) จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
2) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานภาคีเครือข่าย เพื่อการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
3) ดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐบาลและงานเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ
4) จัด ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานการจัดการศึกษาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่
5) จัด ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
6) วิจัยและพัฒนาคุณภาพหลักสูตร สื่อ กระบวนการเรียนรู้และมาตรฐานการศึกษานอกระบบ
7) ดำเนินการเทียบโอนผลการเรียน การเทียบโอนความรู้แลประสบการณ์
8.) กำกับ ดูแล ตรวจสอบ นิเทศภายใน ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
9) พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
10) ระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการจัดและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
11) ดำเนินการประกันคุณภาพภายใน ให้สอดคล้องกับระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
12) ปฏิบัติงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย

9.2 โครงสร้างการบริหารงานของ กศน.อำเภอ ประกอบด้วย 3 กลุ่มงาน ดังต่อไปนี้

กลุ่มงานอำนวยการ งานธุรการและสารบรรณ งานการเงินและบัญชี งานงบประมาณและระดมทรัพยากร งานพัสดุ งานบุคลากร งานอาคารสถานที่และยานพาหน งานแผนงานและโครงการ งานประชาสัมพันธ์ งานสวัสดิการ  งานข้อมูลสารสนเทศและการรายงาน  ศูนย์ราชการใสสะอาด งานควบคุมภายใน  งานนิเทศภายใน ติดตามประเมินผล งานเลขานุการคณะกรรมการสถานศึกษา งานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

กลุ่มงานจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย   งานส่งเสริมการรู้หนังสือ งานการศึกษาพื้นฐานนอกระบบ งานการศึกษาต่อเนื่อง งานการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ (กพอ)  งานการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ  งานการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต  งานการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน /เศรษฐกิจพอเพียง  งานการศึกษาตามอัธยาศัย งานจัดพัฒนาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น งานพัฒนา กศน.ตำบล งานห้องสมุดประชาชน  งานการศึกษาเคลื่อนที่  งานการศึกษาทางสื่อสารมวลชน/ทางไกลผ่านดาวเทียม งานพัฒนาหลักสูตร สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา งานทะเบียนและวัดผล งานศูนย์บริการให้คำปรึกษาแนะนำ งานกิจการนักศึกษา

กลุ่มงานภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ งานส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่าย  งานกิจการพิเศษ งานป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติด /โรคเอดส์  งานส่งเสริมกิจกรรมประชาธิปไตย งานสนับสนุน  ส่งเสริมนโยบายจังหวัด/อำเภอ  งานกิจการลูกเสือและยุวกาชาด งานอื่น ๆ

10. การนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

กระทรวงศึกษาธิการ  โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติของศึกษานิเทศก์ (2548) ดังนี้

หน้าที่และความรับผิดชอบ

ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาการและงานนิเทศการศึกษาเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน ให้ได้มาตรฐานการศึกษา ค้นคว้าทางวิชาการและวิเคราะห์ วิจัย ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล  เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ

1) การนิเทศการศึกษา  โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาบริหารหลักสูตรสถานศึกษา  จัดกระบวนการเรียนรู้  มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาชาติ  พัฒนาการวัดและประเมินผลการศึกษา  การพัฒนาสื่อ  นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ

2) การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ เพื่อจัดทำเป็นเอกสาร คู่มือและสื่อใช้ในการปฏิบัติงานและเผยแพร่ให้ครูได้ใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนการสอน

3) การวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา  เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการ  พัฒนามาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานและเผยแพร่แก่ผู้บริหารสถานศึกษา  ครูและผู้สนใจทั่วไป

4) การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล เพื่อเป็นข้อมูล และสารสนเทศในการวางแผนนิเทศและพัฒนางานทางวิชาการ

5) ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

คณะกรรมการคุรุสภา (2549) ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของศึกษานิเทศก์ ดังนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ต้องปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้

1) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาการนิเทศการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา

2) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมการนิเทศการศึกษา โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้รับการนิเทศ

3) มุ่งมั่น พัฒนาผู้รับการนิเทศให้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมจนเกิดผลต่อการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

4) พัฒนาแผนการนิเทศให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง

5) พัฒนาและใช้นวัตกรรมการนิเทศการศึกษาจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ

6) จัดกิจกรรมการนิเทศการศึกษาโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้รับการนิเทศ

7) รายงานผลการนิเทศการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ

8.) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

9) ร่วมพัฒนางานกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์

10) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา

11) เป็นผู้นำและสร้างผู้นำทางวิชาการ

12) สร้างโอกาสในการพัฒนางานได้ทุกสถานการณ์

11. ขอบเขตใน การนิเทศตามลักษณะงานและกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีดังนี้

1. การส่งเสริมให้สถานศึกษาบริหารหลักสูตรสถานศึกษา

2. การจัดกระบวนการเรียนรู้

3. การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

4. การวัดผลประเมินผลการศึกษา

5. การพัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
                                   
เอกสารอ้างอิง

1. กระทรวงศึกษาธิการ.(2551) พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  พ.ศ. 2551. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.

2. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง การกำหนดอำนาจและหน้าที่ของสถานศึกษา.(2551,25 มีนาคม).ราชกิจจา  นุเบกษา. เล่ม 125 ตอนพิเศษ  60 ง หน้า 2-12

3. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง บัญชีรายชื่อสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551. (2551,10  มีนาคม).ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนพิเศษ 60 ง หน้า 1-34

4. สำนักงาน กศน. (2553) นโยบายและจุดเน้นการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ:พับบลิค เอ็ดดูเคชั่น จำกัด. 


ที่มา  :  panchalee.wordpress.com