ครูเลิศชาย ปานมุข

ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา => บทความการศึกษา => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ ตุลาคม 30, 2015, 12:13:11 PM

หัวข้อ: ยูเนสโกชำแหละการศึกษาไทยล้มเหลว
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ ตุลาคม 30, 2015, 12:13:11 PM
ไม่สามารถพัฒนาคนถึงขีดความสามารถ/มีจุดอ่อนรอบด้านโดยเฉพาะหลักสูตร

สกศ.เปิดผลวิเคราะห์ยูเนสโกร่วมกับโออีซีดี ชี้ระบบการศึกษาไทยยังพัฒนาไม่ถึงขีดสร้างคนมีความสามารถ และมีทักษะของคนยุคศตวรรษที่ 21 ระบุหลักสูตรไม่เอื้อการพัฒนา ควรให้ต่างประเทศช่วยร่าง ส่วนข้อสอบกลางของประเทศก็ยังไม่ได้มาตรฐาน แนะควรพัฒนาตามแนวพิซา เตรียมเสนอ รมว.ศธ.พิจารณาต่อไป

ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า เนื่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งเริ่มวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 2557-2558 นั้น และรายงานผลมายัง สกศ.แล้ว พบว่าระบบการศึกษาของไทยยังพัฒนาไม่ถึงขีดที่จะสร้างคนไทยให้มีความสามารถ และทักษะการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยเมื่อพิจารณาด้านหลักสูตร พบว่าประเทศไทยมีหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ทางการศึกษา คือหากประเทศต้องการผลิตบุคลากรในลักษณะใด ก็ต้องให้หลักสูตรไปในทิศทางนั้น และต้องสอดคล้องมาตรฐานสากล ไม่ใช่ร่างขึ้นเอง รวมถึงต้องมีข้อเสนอแนะ วิธีการถ่ายทอดบทเรียนให้แก่ครูด้วย ไม่ใช่เขียนแผนอย่างดี แต่ครูไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้

"ยูเนสโกและโออีซีดีตั้งข้อสังเกตว่า ข้อสอบมาตรฐานระดับชาติของไทยยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์แบบ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเชิงลบต่อการศึกษาในภาพกว้าง จึงอยากให้ศึกษาการทดสอบมาตรฐานระดับสากล เช่น การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA เป็นต้น เพื่อนำมาใช้พัฒนาการประเมินผลมาตรฐานระดับชาติให้เป็นสากล แม้แต่ในส่วนของการประเมินผลนักเรียน ครูผู้สอนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการประเมินผล ยังออกข้อสอบตามใจครูอยู่ ไม่สอดคล้องกับการประเมิน และไม่สะท้อนผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงของนักเรียน" เลขาฯ สกศ.กล่าว

นายกมลกล่าวต่อว่า ในส่วนของครูและผู้บริหารโรงเรียนก็พบว่า การบริหารบุคลากรครูยังขาดประสิทธิภาพ การบรรจุครูเข้ายังมีปัญหา การเตรียมความพร้อมครูก่อนเข้าสู่วิชาชีพ และการพัฒนาศักยภาพครูยังไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นไทยควรจัดทำยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมครูก่อนเข้าสู่วิชาชีพ และส่งเสริมให้ครูปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา พบว่าแต่ละรัฐบาลพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการใช้เทคโนโลยีแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันมาก โดยไทยมักลงทุนแต่อุปกรณ์ แต่เรื่องเนื้อหา การบำรุงรักษา และการพัฒนาครูยังลงทุนน้อย อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวทำให้เราเห็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ซึ่ง สกศ.จะนำเสนอต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการศึกษาชาติต่อไป.

ที่มา : ไทยโพสต์