ครูเลิศชาย ปานมุข

ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา => ความรู้เกี่ยวกับการศึกษา => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 12:22:27 AM

หัวข้อ: วิวัฒนาการความคิดทางการศึกษา
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 12:22:27 AM

ความคิดทางการศึกษาสะท้อนออกมาในรูปแบบของการเรียนการสอน โดยที่รูปแบบที่เป็นแบบฉบับของการเรียนการสอนในอดีต (Historical Archetypes of Teaching and Learning) นั้นมีลักษณะและการพัฒนาการร่วมกับการปฏิวัติความรู้ (Knowledge Revolution) ในระยะต่างๆ ดังนี้

1. การเรียนการสอนแบบแรก (The first Archetype) เรียกว่าแบบ Mandarin  ซึ่งย้อนไปในยุคของราชวงศ์จีนโบราณซึ่งเป็นแบบแผนเดียวกับการศึกษาในประเทศตะวันตกในยุคเดียวกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชสำนักของราชวงศ์ตะวันออกใกล้ (Near East) เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิวัติความรู้ครั้งแรก (The First Knowledge Revolution) ซึ่งเป็นการเริ่มใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารไม่อาจทราบได้แน่นอนว่าเริ่มเมื่อใดคาดว่าเกิดมาพร้อมๆ กับมนุษย์ และการปฏิวัติความรู้ครั้งที่สอง (The Second Knowledge Revolution) ซึ่งเป็นการเริ่มใช้ภาษาเขียนเมื่อประมาณสี่พันปีมาแล้วกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้เน้นการถ่ายทอด (Transmission) วัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ทักษะและค่านิยม ด้วยการเลียนแบบ ท่องจำ (Rote) การอ่าน (Reading) และการคัดลายมือ (Calligraphy) ไม่ส่งเสริมให้มีความคิดวิเคราะห์ หรือคิดสร้างสรรค์ สำหรับความรู้ เนื้อหา และแนวความคิดรวมทั้งความเชื่อ มาจากการยอมรับของสังคมที่มีมาแต่เดิม ถ้ามีสิ่งใดที่แปลกออกไปจะถูกกำจัด (Discouraged) หรือจำกัด (Repressed) เพื่อให้ยังคงแนวบรรทัดฐานของสังคมไว้

2. การเรียนการสอนแบบที่สอง (The Second Archetype) เรียกว่าแบบ Academic  ความหมายของการเรียนการสอนแบบนี้ไม่ใช่ความหมายตามคำศัพท์ในพจนานุกรมหรือศัพท์ทางวิชาการในปัจจุบัน แต่เป็นการย้อนยุคไปสมัยที่ Plato ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Socrates ได้ตั้งสถาบันการศึกษาขึ้น ชื่อ Academy เมื่อปี พ.ศ. 155 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก แนวทางของการเรียนการสอนเป็นพื้นฐานของการศึกษาในปัจจุบันโดยเฉพาะการศึกษาแบบ Liberal Arts Education ซึ่งเน้นการพัฒนาตนเอง (Self-Development) พัฒนาจิตและวิญญาณ การศึกษาเป็นเครื่องประดับของชีวิต เป็นรากฐานสำคัญของความคิดทางด้านการศึกษาเรื่อง การศึกษาตลอดชีพ (Lifelong Learning) ครูหรืออาจารย์จะเป็นแบบอย่างของศิษย์ ทั้งวิถีชีวิตและแนวความคิด การคิดวิเคราะห์มีการส่งเสริมอย่างมากแต่เนื้อหาและรูปแบบยังเน้นไปสู่ประเด็นหลักคือเรื่องคุณธรรม ความดี ให้ความสำคัญกับคณิตศาสตร์แต่ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ ไม่มีเป้าหมายในการเรียนเพื่อประกอบอาชีพ เนื้อหาวิชาของ Liberal Arts Education มี 7 กระบวนวิชาได้แก่ ไวยากรณ์ ตรรกวิทยา การพูด เลข เรขาคณิต ดนตรี และดาราศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นชนชั้นสูงของสังคม แนวทางนี้เป็นแบบแผนการคิดด้านการศึกษาของยุโรปในระยะต่อมาถึงแม้ว่าจะมีการพูดถึงความเสมอภาคการศึกษา แต่เป็นการเพียงแต่พูดและสร้างคำพูดจูงใจและแสดงวิสัยทัศน์ (Egalitarian Slogans and Visions) ทางด้านการศึกษาเท่านั้นยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้

3. การเรียนการสอนแบบที่สาม (The Third Archetype) เรียกว่าแบบ Clerical  การเรียนการสอนแบบนี้เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ของตะวันตก (Quintessentially Western) ซึ่งเป็นแนวทางของการสอนในศาสนา Islam เป้าหมายของการศึกษาเพื่อการสร้างความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติตน ซึ่งจะทำให้เป็นบุคคลที่มีความเป็นพิเศษ มีคุณค่าได้รับการปกป้อง และมีชีวิตที่ดีในสังคม บางครั้งมีการเรียกแบบแผนการเรียนการสอนนี้ว่าแบบสร้างบุคลิกภาพ (Character Building) ถึงจะเป็นการศึกษาที่พัฒนาตนเอง (Self-Development) คล้ายกับแบบ Academic แต่มีความแตกต่างที่แบบ Academic นั้นมีการเปิดปลาย (Open-Ended) ขยายให้ศักยภาพของบุคคลได้พัฒนา แต่แบบ Clerical นั้นเป็นพัฒนาการของบุคคลในด้านความรู้ความเข้าใจ และความยืดมั่น (Commitment) ในบทบาทของตนในฐานะที่เป็นผลผลิตของพระเจ้าที่สร้างขึ้น (God?s Creatures) การปฏิบัติ และการฝึกทักษะ (Practical Knowledge and Skills) เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนแบบ Clerical แต่ไม่ให้ความสำคัญมากไปกว่าวิธีการเข้าสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตที่เป็นสุข จุดมุ่งหมายของหลักสูตรและการสอนแบบนี้ยังมีปรากฏให้เห็นในหลักสูตรของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในสถานศึกษาของโบสถ์และนิกายศาสนาคริสต์ (Parochial and Sectarian Schools) และอาจรวมไปถึงโรงเรียนสอนศาสนาในภาคใต้ของประเทศไทย แต่แบบแผนที่แท้จริงของ Clerical นั้นส่วนมากได้หายไปจากการเรียนการสอนในปัจจุบันแล้ว

4. การเรียนการสอนแบบที่สี่ (The Fourth Archetype) แบบนี้เรียกว่าแบบ Industrial  เป็นแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันที่พบเห็นได้ในประเทศทั่วโลก โดยมีแบบแผนจากประเทศ Germany แล้วถูกนำไปสู่สหรัฐอเมริกาโดยนักปฏิรูปการศึกษาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แบบแผนการเรียนการสอนแบบนี้ต้องการสร้างประเทศให้เข้มแข็งในรูปแบบของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งคนงานในทุกระดับต้องทำงานด้วยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทักษะการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยให้เกิดผลผลิตได้จำนวนมากเพื่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ การอยู่ดีกินดีของคนในสังคมและการขยายตัวของเศรษฐกิจ การเรียนการสอนยังคงมีแนวทางของ Clerical ซึ่งเน้นการปฏิบัติและการฝึกทักษะแต่ไม่ได้เพื่อเน้นการสร้างบุคลิกภาพอย่างแบบ Clerical แต่กลับมาใช้การเข้าสู่ความสำเร็จของการเรียนบนฐานความสามารถ การเรียนการสอนจึงใช้ Competency-Based เป็นแบบแผนของการเรียนการสอนโดยมีความคิดและผลการศึกษาของนักปรัชญาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมเป็นฐานความรู้สำหรับการอ้างอิงรวมทั้งการผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และการใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-Based Instruction) เพื่อการเรียนการสอน เป็นการแสดงถึงรูปแบบและการเรียนการสอนแบบ Industrial อย่างชัดเจนโดยทีการเรียนการสอนในแบบ ?ดิจิทัล? (Digital Learning) นี้ได้เข้าควบคุมการเรียนการสอนของประเทศที่ดำเนินนโยบายเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แบบทุนนิยม เนื่องจากการเรียนการสอนแบบดิจิทัลนั้นมีแนวความคิดแบบ ?Client-Centered? และ ?Learner-Driven? ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับระบบทุนนิยม ซึ่งให้เสรีภาพ ความเสมอภาคและสิทธิแก่บุคคลในการเรียนการสอนมากขึ้น มีการเรียนบนเครือข่ายสื่อสารที่รวดเร็วด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล บางที่เรียกว่า ?Hyperlearning? ซึ่งใช้รากฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญ

5. การเรียนการสอนแบบที่ห้า (The Fifth Archetype) แบบนี้เรียกว่าแบบ Transactional  การเรียนการสอนแบบนี้ เป็นระยะของการปฏิวัติความรู้ครั้งที่สาม (The Third Knowledge Revolution) ซึ่งมีลักษณะเป็นการสร้างหรือผลิตความรู้ (The Production of Knowledge) ซึ่งแตกต่างไปจากแบบ Industrial ที่มุ่งเน้นผลผลิตเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับประเทศ การเรียนการสอนแบบ Transactional มีความหมายมากกว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในรูปของ Informational Archetype หรือ Cyber Archetype อันเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้มีการลดระดับของความรู้ (Knowledge)ไปเป็นสารสนเทศ (Information) การเรียนรู้ (Learning)ไปเป็นทักษะการเข้าถึงสารสนเทศ (Skills of Information Access) และลดความสัมพันธ์และความสำคัญของผู้สอนกับผู้เรียน เนื้อหาและหลักสูตรออกแบบให้ใช้กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

แต่การเรียนการสอนแบบ Transactional ไม่ยึดติดกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ ในอนาคตคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่เราใช้อยู่ในบ้าน แต่รูปแบบของการเรียนการสอนจะยังคงอยู่ เนื่องจากในการเรียนการสอนแบบนี้ ?การเรียน? และ ?การสอน? รวมทั้งขีดความสามารถของมนุษย์ ไม่เป็นกิจกรรมที่แยกจากกันในการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้น การเรียนรู้ไม่เป็นเพียงแบบสองด้าน (Bi-Directional) คือมี ?การเรียน? และ ?การสอน? เท่านั้น แต่เป็นแบบตรงข้ามที่รวมทุกอย่างด้วยกัน (Multi-Polar) เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมการแสวงหาความรู้ (Center of Investigating Activities) รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ?ผู้เรียน? (The Learner) คำที่ใช้สำหรับเรียกกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้คือ ?Transactivity? หรือ ?Transactive Learning? โดยเชื่อว่าการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบนี้จะเกิดขึ้นและเข้ามาแทนกระบวนการเรียนแบบอื่น ๆ ด้วยตัวของมันเองเมื่อเทคโนโลยีมีมากเพียงพอและผู้คนมีความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างดีแล้ว

ทุกวันนี้เราเรียนรู้ ?ตัวสื่อซึ่งเป็นสาร? (Medium as Message) สำหรับการเรียนไปด้วย ทิศทางและแนวโน้มแบบนี้ทำให้เกิดการให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากขึ้นหรือให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ( Learner-Centered) ของการเรียนการสอน ซึ่งแนวคิดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้นได้มีการนำเสนอและเป็นที่รู้จักในแวดวงของนักวิชาการด้านเทคโนโลยีการศึกษามานานแล้ว ปัจจุบันได้มีการกล่าวถึงการจัดการศึกษาโดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดไว้ใน มาตรา 22 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ถึงแม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างแต่หลักการสำคัญยังเหมือนกับแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

ความเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตามยังมี ความเข้าใจผิด บางประการสำหรับความหมายของการเรียนการสอนแบบ ?ผู้เรียนเป็นสำคัญ? ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้าใจและได้รับอิทธิพลจากการเรียนการสอนแบบ Industrial ที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้มากและมีระบบธุรกิจทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้ความคิดเชิงธุรกิจ แบบ Client-Centered (เป็นศัพท์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ) และแบบ Learner-Driven มาใช้กับผู้เรียนและเปลี่ยนสภาพผู้เรียนเป็น ?ลูกค้า? (Customer) ที่มีสิทธิที่จะเรียกร้องสิ่งที่ต้องการตามที่ราคาได้กำหนดไว้ ทำให้เกิดความสับสนในบทบาทของทั้งผู้เรียนและผู้สอน

ยิ่งกว่านั้นยังมี ความเข้าใจผิด ต่อไปอีกว่าในอนาคตเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นและทุกคนใช้เทคโนโลยีเป็นแล้ว และเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อการเรียนการสอนแทนผู้สอน จะเป็นการสิ้นสุดการสอน (The End of Teaching) หมายถึง ไม่ต้องมีผู้สอนหรือครูอีกต่อไป เพราะมีแต่การเรียนและผู้เรียนเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วครู/ผู้สอนมีความจำเป็นและยิ่งจำเป็นมากขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่บทบาทเปลี่ยนไปและมีบทบาทเพิ่มขึ้น ครู/ผู้สอนต้องใช้ความรู้ความสามารถมากขึ้นในการที่สามารถออกแบบกระบวนการเรียนให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shifts) ของการศึกษาและทางการเรียนการสอนนั้นไม่เป็นการเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แนวทางเดิมยังนำมาใช้เป็นฐานในแนวทางใหม่ และแนวทางใหม่ก็รวมเอาของเก่ามาด้วยเสมอ ตัวอย่างเช่น การเลียนแบบและท่องจำ ซึ่งมีมาตั้งแต่เริ่มมีการถ่ายทอดความรู้ ยังคงใช้เป็นแบบแผนของการเรียนการสอนอยู่ตลอดมาและจะคงอยู่ตลอดไป


รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
 
อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ