ครูเลิศชาย ปานมุข

เกร็ดความรู้ => เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 21, 2015, 09:23:03 PM

หัวข้อ: ทำงานกลางคืน สมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ!
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ กรกฎาคม 21, 2015, 09:23:03 PM
"วีแซท" ทีมนักวิจัยสภาวะการทำงานจากประเทศฝรั่งเศส ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนมายาวนาน เผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นใหม่ในวารสาร ออคคิวเพชั่นแอนด์เอ็นไวรอนเมนทัล เมดิซีน เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ผู้ที่ทำงานกะกลางคืนหรือในชั่วโมงการทำงานที่ผิดปกติ ซึ่งป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นเข้านอนก่อนเวลาเที่ยงคืนหรือบังคับให้ต้องตื่นก่อน 05.00 น. จะมีภาวะความรู้ความเข้าใจ (ค็อกนิทีฟ) ของสมองเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ

สำหรับบุคคลที่ใช้เวลาในการทำงานกะกลางคืนหรือมีชั่วโมงทำงานผิดปกติต่อเนื่องกันนานเป็นสิบปีผลกระทบต่อสมองจะเทียบเท่ากับการเสื่อมสภาพของสมองในส่วนค็อกนิทีฟในระยะเวลา 6.5 ปี แม้แต่คนที่ทำงานในชั่วโมงการทำงานผิดปกติอย่างน้อยที่สุด 50 วันใน 1 ปี ก็จะส่งผลเสียหายต่อสมองไม่น้อย การทดสอบพบว่า พนักงานดังกล่าวนี้ โดยเฉลี่ยแล้วจะสูญเสียความสามารถในด้านค็อกนิทีฟไปเทียบเท่ากับการเสื่อมของสมองในระยะเวลา 4.3 ปี แม้ว่าการทำงานในเวลาผิดปกติดังกล่าวจะมีขึ้นเมื่อหลายปีก่อนหน้าการทดสอบแล้วก็ตาม

การทดลองดังกล่าวนี้ทำกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานหลากหลายสาขาอาชีพจำนวน3,232 คน โดยที่ 46 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,484 คน ในจำนวนดังกล่าวระบุว่าเป็นคนที่มีชั่วโมงการทำงานผิดปกติ ทั้งในปัจจุบันและก่อนหน้าการทดสอบ

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของวีแซท พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสมองของคนเราสามารถฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้หลังจากชั่วโมงการทำงานถูกปรับเปลี่ยนไปสู่สภาวะปกติโดยคนที่ไม่เคยทำงานในชั่งโมงทำงานผิดปกติมาก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี สามารถทำคะแนนในการทดสอบค็อกนิทีฟได้ในระดับใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไปซึ่งมีช่วงเวลาการทำงานปกติ

อย่างไรก็ตามจากการทดสอบบุคคลซึ่งมีชั่วโมงการทำงานผิดปกติอยู่ในขณะที่ทดสอบ ทำคะแนนได้แย่กว่า เทียบเท่ากับการเสื่อมของสมองในระยะเวลา 5.8 ปี กลุ่มที่ทำคะแนนได้แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือกลุ่มที่เพิ่งเลิกการทำงานในชั่วโมงทำงานผิดปกติไปในช่วง 5 ปีก่อนหน้าการทดสอบ เพราะทำคะแนนทดสอบค็อกนิทีฟได้เทียบเท่ากับระยะเวลาการเสื่อมลงของสมองถึง 6.9 ปี

ในงานวิจัยก่อนหน้านี้หลายชิ้น ชี้ให้เห็นว่า การทำงานในชั่วโมงการทำงานที่ผิดปกติไม่สอดคล้องกับจังหวะเวลาชีวิตในรอบวันของคนเรา ที่เรียกว่า "เซอร์คาเดียน ริธึ่ม" และส่งผลร้ายต่อการทำหน้างานของความคิดจิตใจ ตัวอย่างเช่น พนักงานการบินที่ทำงานบนเครื่องบิน และพบกับภาวะเจ็ตเเล็กบ่อยครั้ง ทั้งยังไม่มีเวลาฟื้่นตัวสู่ภาวะปกติมากพอ จะทำคะแนนทดสอบด้านค็อกนิทีฟได้แย่ เช่นเดียวกับพนักงานในภาคอุตสาหกรรมกะกลางคืน ซึ่งทำคะแนนทดสอบความจำได้แย่กว่าคนที่ทำงานกะกลางวัน แม้กระทั่งพยาบาลที่ทำงานกะกลางคืนก็ทำคะแนนได้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติเช่นเดียวกัน

ทีมวิจัยระบุเอาไว้ในรายงานวิจัยครั้งใหม่ว่าผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นหลักฐานเพิ่มมากขึ้นกว่า การไปรบกวนเซอร์คาเดียน ริธึ่ม ของคนเรานั้น นอกจากจะสร้างความเครียดให้กับร่างกายแล้ว

ยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสมองในส่วนเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจและสุขภาวะทางจิตโดยรวมอีกด้วย


ที่มา : http://campus.sanook.com/1374981