ครูเลิศชาย ปานมุข

บทความ บทกวี และบันทึกความทรงจำดีดี => บทความในความคิด => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ มกราคม 08, 2017, 08:30:36 AM

หัวข้อ: ราชวงศ์พระร่วง สู่ ราชวงศ์จักรี
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ มกราคม 08, 2017, 08:30:36 AM
ราชวงศ์พระร่วง สู่ ราชวงศ์จักรี

**********************

ผมนั่งอ่านประวัติศาสตร์พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับราชวงศ์ของอาณาจักรสยามที่สืบเนื่องต่อๆกันมา ซึ่งถ้าผู้ที่ชอบประวัติศาสตร์ก็พอจะได้ทราบหรือทราบมาบ้าง แต่ถ้าผู้ที่ไม่ชอบหรือไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์ก็จะไม่เข้าใจและขี้เกียจอ่านในเรื่องราวที่ผมเขียนครับ

เรื่องที่ขียนต่อไปนี้ คือ สายสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องของสองราชวงศ์ หนึ่งคือราชวงศ์ที่รุ่งเรืองในอดีตสมัยสุโขทัย คือ ราชวงศ์พระร่วง และราชวงศ์ที่รุ่งเรืองในปัจจุบัน คือราชวงศ์จักรี ซึ่งจากที่ได้ศึกษาและอ่านข้อมูลจากหลายแหล่งพอสรุปได้ดังนี้ครับ

ราชวงศ์พระร่วง ถูกสถาปนาขึ้นโดยพ่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้มีเชื้อสายราชวงศ์ชัยปราการตะวันออก (ราชวงศ์เวียงชัยบุรี) ทรงก่อตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในปี พ.ศ. 1781 และปกครองสุโขทัยเพียงราชวงศ์เดียว โดยราชวงศ์พระร่วงมีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น จำนวน 9 พระองค์ โดยนับการเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับเมืองใดจำนวน 5 พระองค์ และภายหลังที่ตกเป็นหัวเมืองประเทศราชของราชอาณาจักรอยุธยามีเจ้าผู้ครองนครราชวงศ์พระร่วงต่อมาอีก 4 พระองค์ ก่อนจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา

ราชวงศ์ของกษัตริย์อาณาจักรอยุธยา นั้นประกอบไปด้วย 5 ราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งแต่ละราชวงศ์ก็มีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและหละหลวมในบางช่วง จนถูกปรับเปลี่ยนและขาดการสืบทอดเชื้อสายราชวงศ์ไปในหน้าประวัติศาสตร์ รวมแล้วอาณาจักรอยุธยามีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 33 พระองค์

คราวนี้มาลองดูครับว่าสายราชวงศ์พระร่วง กับ ราชวงศ์จักรี สืบเนื่องกันมาอย่างไร ขอเอาช่วงสำคัญที่พอจะลำดับเรื่องราวและเข้าใจได้นะครับ

ในรัชกาลสมเด็จพระอินทรราชาธิราช ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ซึ่งเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งอาณาจักรอยุธยา) ได้ตรัสขอพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 4 เจ้าผู้ครองเมืองสุโขทัย พระองค์สุดท้าย เป็นลำดับที่ 9 ของราชวงศ์พระร่วง ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยา พระราชบุตร ซึ่งในครั้งนั้นทรงครองอยู่เมืองชัยนาท

ซึ่งต่อมาเจ้าสามพระยา ได้ปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งอาณาจักรอยุธยา) มีพระราชโอรสที่เกิดกับพระราชธิดาของพระบรมราชาธิราชที่ 4 คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (กษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งอาณาจักรอยุธยา) ซึ่งนับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอยุธยาที่มีเชื้อสาย ราชวงศ์พระร่วงและราชวงศ์สุพรรณภูมิรวมกัน แต่กระนั้นก็ยังมีกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ปกครองเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2112 ซึ่งเป็นคราวที่อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 ในสมัยพระมหินทราธิราช (กษัตริย์ลำดับที่ 16 ของอาณาจักรอยุธยา) และเป็นองค์สุดท้ายที่ครองราชย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2112 นั้น พระเจ้าบุเรงนองหรือบาเยงนองกษัตริย์พม่า ได้ทรงราชาภิเษกให้ขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วง และทรงปกครองเมืองพระพิษณุโลกมาก่อน ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (กษัตริย์ลำดับที่ 17 ของอาณาจักรอยุธยา) ทำให้ราชวงศ์พระร่วงกลับเข้ามาปกครองสยามประเทศอีกครั้ง ในนามราชวงศ์สุโขทัย

ราชวงศ์สุโขทัยปกครองอาณาจักรอยุธยาต่อเนื่องมา 7 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จ พระศรีเสาวภาคย์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเชษฐาธิราช และพระอาทิตยวงศ์ (กษัตริย์ลำดับที่ 18 ? 23 ของอาณาจักรอยุธยา) ก็สิ้นราชวงศ์สุโขทัย อันเนื่องมาจากสมเด็จ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ชิงราชสมบัติสมบัติ แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (กษัตริย์ลำดับที่ 24 ของอาณาจักรอยุธยา)

สำหรับราชวงศ์ปราสาททองนี้ ได้แยกมาจากราชวงศ์พระร่วง เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งราชวงศ์สุโขทัย

สมเด็จพระเอกาทศรถ สมัยเป็นอุปราช ได้เสด็จประพาสทางชลมารค จากอยุธยาล่องลงมา เมื่อมาถึง เกาะบ้านเลน ได้ถูกพายุฝนจนเรือล่มที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขึ้นฝั่งและประทับแรมที่เกาะนี้ พระองค์ได้พบหญิงชาวบ้านชื่อ อิน อันเป็นที่มาของชื่อ ?บางปะอิน? เป็นที่ทราบกับว่าบุตรที่เกิดกับอิน สมเด็จพระเอกาทศรถ จะรับเป็นพระโอรสก็ละอายพระทัย จึงทรงให้เป็นบุตรบุญธรรมของ พระยาศรีธรรมาธิราช และถูกนำไปเลี้ยงในกรุงศรีอยุธยา โดยคนทั่วไปจะเรียกเด็กชายผู้นี้ว่าเจ้าไลย หรือ พระองค์ไลย และต่อมาก็คือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง นั่นเอง

สมเด็จพระเอกาทศรถ มีพระธิดาพระองค์หนึ่งได้สมรสกับ พระยาราม ขุนนางเชื้อสายมอญ แล้วมีธิดาชื่อ บัว ซึ่งต่อมาได้โปรดเกล้าเป็น พระองค์เจ้า กรมพระเทพามาตย์ พระนมของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (กษัตริย์ลำดับที่ 27 ของอาณาจักรอยุธยา) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาหม่อมบัว ได้สมรสกับ หม่อมเจ้าเจิดอำไพ แห่งราชวงศ์พระร่วง มีบุตรธิดา คือ

1.เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
2.เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตไป ฝรั่งเศส
3.ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมของสมเด็จพระนารายณ์

ต่อมาเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) มีบุตร ชื่อ ขุนทอง รับราชการใน สมเด็จพระสรรเพชรที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ (กษัตริย์ลำดับที่ 29 ของอาณาจักรอยุธยา) เป็น เจ้าพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีคลัง มีบุตรชื่อทองคำ เป็น จมื่นมหาสนิท ต่อมาได้เป็น หลวงพินิจอักษร และพระอักษรสุนทรศาสตร์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (กษัตริย์ลำดับที่ 30 ของอาณาจักรอยุธยา)

นายทองคำ หรือ พระอักษรสุนทรศาสตร์ ได้ไปสู่ขอหญิงสาวชื่อ ดาวเรือง (บางแห่งระบุชื่อหยก) เป็นหลานสาวของพระยาอภัยราชาสมุหนายก โดยมีบุตรหญิงชายตามลำดับ ดังนี้

1.สา (หญิง)
2.ราม (ชาย)
3.แก้ว (หญิง)
4.ทองด้วง (ชาย)
5.บุญมา (ชาย)

ซึ่งนาย ?ทองด้วง? บุตรพระอักษรสุนทรศาสตร์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเป็นกษัตริย์ใน ราชวงศ์สุโขทัย และทรงมีความเกี่ยวพันกับราชวงศ์ ปราสาททอง และ ราชวงศ์จักรี

มาดูพระราชประวัติโดยสังเขปของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกันครับ

ทองด้วง หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (กษัตริย์ลำดับที่ 32 ของอาณาจักรอยุธยา) กษัตริย์ ครั้นพระชนมายุครบ 21 พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย 1 พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์ (กษัตริย์ลำดับที่ 33 ของอาณาจักรอยุธยา) และได้สมรสกับคุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาที่ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม

เมื่ออาณาจักรอยุธยา เสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ในสมัยของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกูเอกราชและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ (ราชวงศ์กรุงธนบุรี มีเพียงพระองค์เดียว) และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ 32 พรรษาและได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระองค์เป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมรและลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และทรงได้รับพระราชทานให้ทรงเสลี่ยงงากลั้นกลดและมีเครื่องยศเสมอยศเจ้าต่างกรม

และในปี พ.ศ.2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือ ทองด้วง ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ต้นปฐมแห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 และมีเชื่อสายพระราชวงศ์จักรีสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ (ซึ่งรายละเอียดในการปราบดาภิเษกนั้นมีข้อมูลอยู่หลายแง่มุมผมไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับ)

ประเทศไทย ได้มีพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์พระร่วง สืบเนื่องต่อกันมาไม่ขาดสายนับตั้งแต่แรกสถาปนาพระราชอาณาจักรสยาม (อาณาจักรสุโขทัย) ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อ พ.ศ. 1781 และพระราชวงศ์นั้นยังดำรงสถิตสถาพรมาอยู่ทุกวันนี้ ครับ

เลิศชาย  ปานมุข
8 มกราคม 2560