ครูเลิศชาย ปานมุข

บทความดีดี => บทความ และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านและแหล่งเรียนรู้ => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ สิงหาคม 16, 2016, 09:29:00 PM

หัวข้อ: ตามรอยศูนย์การเรียนรู้ 'ไอซีที' ผ่านเกณฑ์คาบเส้น-ชุมชนเข้มแข็งถึงรอด
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ สิงหาคม 16, 2016, 09:29:00 PM
ตามรอยศูนย์การเรียนรู้ 'ไอซีที' ผ่านเกณฑ์คาบเส้น-ชุมชนเข้มแข็งถึงรอด

          เริ่มกดปุ่มเดินหน้าแล้วสำหรับโครงการพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชน 1 ในโครงการนำร่องนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้งบประมาณ 717 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมาย จะอัพเกรดศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน 600 แห่งภายในปี 2559

          ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับ 2 ศูนย์ไอซีทีชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์และร้อยเอ็ด ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการอัพเกรดเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อย้อนไปดูเส้นทางกว่าจะมาถึงวันนี้ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต

          "วัด" คีย์หลักความสำเร็จ

          เริ่มที่ ศูนย์ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดโพธิการาม ซึ่งถือเป็นศูนย์ไอซีทีชุมชนกลุ่มแรก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้น โดยตั้งในปี 2551 และก็เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการอัพเกรดให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยตั้งอยู่ในวัดโพธิการาม ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด

          แต่ถึงแม้ศูนย์แห่งนี้จะก่อตั้งมากว่า 8 ปี และหมดระยะการได้รับงบฯสนับสนุนจากกระทรวงไอซีทีกว่า 7 ปีแล้ว แต่สภาพของศูนย์ไอซีทีชุมชนยังได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งในส่วนของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ มีการซ่อมแซมและหาทดแทนใหม่ ทำให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

          และด้วยวิถีของชาวบ้านและความพร้อมของวัดที่เป็นทั้งที่ตั้งศูนย์ กศน. ศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์อนามัย รวมถึงมีการจัดตลาดนัดชุมชน ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางชุมชนอย่างแท้จริง

          พระครูโพธิวีรคุณ เจ้าคณะอำเภอปทุมรัตต์ ประธานศูนย์และผู้ริเริ่มก่อตั้ง เปิดเผยว่า ที่อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็ด้วยแรงสนับสนุนของทั้งชุมชนในอำเภอปทุมรัตต์ โดยที่ผ่านมาได้ใช้พื้นที่ในการจัดอบรมให้ความรู้ด้าน ไอซีทีให้คนทุกกลุ่มในชุมชน อาทิ จัดอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเบื้องต้นให้นักศึกษา กศน. ตำบลโพนสูง, อบรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์สำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุ รวมแล้วมี ผู้ผ่านการอบรมจากศูนย์แห่งนี้กว่าหมื่นคน

          "งบประมาณที่เอามาสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟค่าอินเทอร์เน็ตก็มาจากวัด อาตมาจ่ายเองทั้งหมดหลังจากหมด 1 ปีแรก แล้วก็มีส่วนหนึ่งจากค่าใช้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ชั่วโมงละ 5-10 บาทจ่าย ตามอายุคนใช้"

          ส่วนการอัพเกรดเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่ได้เปิดตัวไปแล้ว ได้มีการเปิดพื้นที่เพิ่มในส่วนของ "โพธิการามคาเฟ่" ร้านกาแฟที่จะมีพื้นที่ให้ชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันในการสร้างเครือข่าย โดยจะมีอินเทอร์เน็ตไร้สายให้ได้ใช้งานฟรี เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้าถึงไอซีทีของชาวบ้านในชุมชนได้สร้างอาชีพ และเปิดตลาดให้กับสินค้าในชุมชน อาทิ ตุ๊กตาไหมพรมที่ถักขายส่งไปที่ญี่ปุ่นเป็นหลัก รวมถึงน้ำผึ้งและข้าวสารทุ่งกุลาร้องไห้

          จิตอาสาดิ้นรนพยุงศูนย์

          ขณะที่ศูนย์ชุมชนตำบลโกรกแก้ว อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ มีเส้นทางที่ต่างออกไป ด้วยเป็นชุมชนขนาดเล็กและห่างไกลจากตัวจังหวัดราว 50 กิโลเมตร

          ผู้จัดการศูนย์ "แสวง สัตย์รัมย์" ซึ่งเป็นผู้พิการและเป็นผู้ริเริ่มขอก่อตั้งศูนย์ในปี 2553 กล่าวว่า เวลานั้นต้องการให้ลูกหลานคนในชุมชนได้มีคอมพิวเตอร์ใช้ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จึงยื่นเรื่องขอตั้งศูนย์ไปที่กระทรวงไอซีที โดยต้องพยายามหางบประมาณมาปรับปรุงอาคารเก่าที่ใช้เป็นศาลาประชาคมเดิมที่ทรุดโทรมให้เป็นที่ตั้งศูนย์ ซึ่งได้รับงบฯจากเทศบาลราว 5 หมื่นบาท มาปรับปรุงหลังคาและโครงสร้างให้แข็งแรงพอ โดยส่วนใหญ่ก็ลงมือทำเอง จนได้ตั้งศูนย์ไอซีทีชุมชนในปี 2554

          "จากนั้นก็ได้สมจิตร จงจอหอ ที่บ้านเดิม คุณพ่ออยู่ที่นี่ ช่วยจัดกองผ้าป่า มาปรับปรุงสถานที่ให้มั่นคงแข็งแรงพอ รวม ๆ กับที่ครูอาจารย์หลายโรงเรียนช่วยกันก็ได้มาราว 8 หมื่นบาท พอสิ้นสุด 1 ปีแรกที่ได้รับการสนับสนุนงบฯจากกระทรวงไอซีที ก็ต้องจัดการค่าใช้จ่ายเอง ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต 631 บาท ค่าไฟราว 1,200 บาท ซึ่งรายได้ จากศูนย์ก็เป็นค่าใช้บริการชั่วโมงละ 10 บาท แต่เด็ก ๆ ให้จ่ายเป็นการทำความดีแทน อย่างเก็บขยะหรือปลูกผักทำให้บางเดือนไม่มีเงินพอจ่ายค่าเน็ตค่าไฟ ก็ต้องเอาเบี้ยคนพิการ 800 บาทของตนเองมาจ่ายแทน ก่อนที่จะได้อัพเกรดเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนก็ไม่มีจ่ายอยู่หลายเดือน"

          สำหรับคอมพิวเตอร์ 15 เครื่องที่ได้มาตั้งแต่ก่อตั้ง ปัจจุบันก็ยังใช้งานอยู่โดยไม่ได้มีการอัพเกรดสเป็กเพิ่ม หรือเปลี่ยนเครื่องใหม่

          "สเป็กเครื่องเดิมที่ได้มาถือว่าล้ำสมัยในช่วงนั้น ตอนนี้ก็ยังพอใช้งานได้ เครื่องไหนถ้าเสียก็ซ่อมกันเอง ตอนนี้ที่ขาดแคลนมากคือจิตอาสาที่จะมาช่วยดูแลศูนย์และช่วยสอนการใช้งานมากกว่า เพราะตอนนี้มีอยู่ 3-4 คนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นพวกเด็ก ๆ ส่วนการใช้งานในศูนย์ส่วนใหญ่จะเป็น เด็ก ๆ ที่ต้องมาหาข้อมูลทำรายงานทำการบ้าน ไม่ต้องเข้าไปใช้คอมฯในตัวเมือง แล้วก็ใช้อบรมคอมพิวเตอร์ให้คนพิการ ใช้เป็นที่ตั้งศูนย์เรียนรู้โนนสุวรรณ สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน ระดับปริญญาตรี สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน"

          หลังจากได้รับการอัพเกรดเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนแล้ว สิ่งที่จะมีเพิ่มขึ้นสำหรับศูนย์แห่งนี้คือ อินเทอร์เน็ต WiFi แท็บเลต 2 เครื่อง และชุดรับสัญญาณโทรทัศน์ dEtv Channel พร้อมจอ สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน ส่วนแนวทางในการสร้างรายได้ให้กับศูนย์ จะให้เป็นจุดตั้งร้านค้าอุปกรณ์ไอที จุดรับตรวจเช็กซ่อมแซมแก้ปัญหาไอทีให้กับคนในชุมชน เป็นจุดรับ ชำระเงิน (บิลเพย์เมนต์) และเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนำสินค้าชุมชนอย่างเห็ดโคนญี่ปุ่น เสื้อยกลาย ตะกร้า สินค้าเกษตรแปรรูปให้ค้าขายออนไลน์ได้

          เดินหน้าเองไม่รอภาครัฐ

          ฟากชาวบ้านในหมู่บ้านดอนหวาย ตำบลสะเดา อำเภอนางรอง บุรีรัมย์ ไม่รอ ให้ภาครัฐมาตั้งศูนย์ แต่ "มานิต หอมโลก" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้ต่อยอดความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมอบรมกับศูนย์ไอซีทีชุมชนอื่น ตั้งแต่ปี 2552 และถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในชุมชนในรูปแบบเดียวกับไอซีที ชุมชนมานานแล้ว จนปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลผลผลิตของแต่ละครัวเรือนโดยใช้ระบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยใช้แท็บเลตของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นข้อมูลสำคัญ ในการทำตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงใช้บ้านของตัวเองเป็นศูนย์รวมคนในชุมชนเพื่อถ่ายทอดความรู้ โดยใช้อุปกรณ์เท่าที่มี ก่อนที่จะยื่นเรื่องขอตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม

          ผ่านเกณฑ์ระดับA แค่ 14.3-%

          สำหรับศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน ถือเป็นผลงานสำคัญของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ปัจจุบันมีราว 2,200 ศูนย์ ไม่ใช่ทุกศูนย์ที่อยู่รอดและประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี เหตุเพราะตามโครงการกระทรวงไอซีทีจะสนับสนุนในการตั้งศูนย์ด้วยการจัดซื้อ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ระบบ การอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์ และค่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตลอด 1 ปีแรกเท่านั้น จากนั้นแต่ละศูนย์ต้องบริหารจัดการเอง นอกจาก 300 ศูนย์ที่เพิ่งได้รับอนุมัติการก่อตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่เหลือล้วนแต่ต้องพึ่งพา ตนเอง

          จากการประเมินผลงานของศูนย์ไอซีทีชุมชนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า มีที่เกณฑ์ระดับดีมากหรือระดับ A มีร้อยละ 14.3 ระดับ B มีร้อยละ 40.8 ระดับ C ที่ 34.4 ระดับ D ที่ 0.1 และยังมีที่ประเมินผลไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง แต่ระดับ C และ D ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ อีกทั้งพบปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์เสีย ไม่มีอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่มีคนมาใช้บริการ ซึ่งกระทรวงไอซีทีกำลังเร่งแก้ไขภายใน ก.ย.นี้

          การลดช่องว่างดิจิทัลด้วยการสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชน สิ่งที่สำคัญคือการหาโมเดลที่จะสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง พอ ๆ กับพลังของ "ชุมชน" ที่จะทำให้ศูนย์อยู่ได้ยั่งยืนมากกว่าการระดมฮาร์ดแวร์ลงไปในพื้นที่


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 ส.ค. 2559