(http://files.unigang.com/pic/1/9638.jpg)
"ความคิดสร้างสรรค์" หรือ "ครีเอทีฟ" นั้น บางทีก็ต้องเริ่มต้นจากการ "คิดนอกกรอบ"
คำถามแรกของการคิดนอกกรอบก็คือ ทำไมต้องเหมือนกับสิ่งที่เป็นมาและที่ดีกว่าเป็นอย่างไร
เรื่องที่ 1
เป็นเรื่องครูในโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งให้นักเรียนชั้น ป.3 แต่งเรียงความเป็นการบ้าน
ครูกำหนดตัวละคร 5 คนและตั้งชื่อ นักเรียนแค่นำตัวละครเหล่านี้ไปแต่งเรื่องมาเท่านั้น อะไรก็ได้
เด็กคนหนึ่งยกมือค้านบอกว่าไม่ชอบชื่อตัวละคร และขอเปลี่ยนชื่อใหม่ โดยเสนอชื่อตามสมัยนิยมมา 5 ชื่อ
ครูแกล้งไม่ยอม ยืนยันให้ใช้ชื่อเดิม เธออยากรู้ว่าเด็กน้อยจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
เด็กหน้ามุ่ยแสดงชัดว่า ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้โต้เถียงอะไร
วันรุ่งขึ้นเด็กคนนั้นก็ส่งการบ้านเหมือนกับเพื่อน ๆ แต่ใบหน้าของเขายิ้มแย้มแบบมีเลศนัย
รู้ไหมครับว่าเรื่องที่เขาแต่งมาเป็นอย่างไร
ติ๊กต่อก...ติ๊กต่อก...ติ๊กต่อก
เฉลยครับ...นักเรียนคนนี้ทำตามกติกาของคุณครู คือให้ตัวละครทั้ง 5 คนใช้ชื่อตามที่ครูกำหนด
แต่พอเริ่มเรื่องปั๊บ ตัวละครทั้งหมดก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง เดินขึ้นอำเภอทันที
ขึ้นไปขอเปลี่ยนชื่อใหม่
ก็ชื่อที่เด็กน้อยคนนี้เสนอในห้องเรียนนั่นแหละครับ
ภารกิจการเปลี่ยนชื่อเสร็จสิ้น จึงค่อยเดินเรื่องต่อไปตามจินตนาการของตนเอง
ครูอ่านจบก็ยิ้มและหัวเราะ ไม่ได้ว่าอะไร แถมมาเล่าต่อด้วยความเอ็นดู
เด็กน้อยคนนี้มีกระบวนการยืนยันเจตนารมณ์ของตนเองที่ฉลาดมาก
สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนเองต้องการโดยไม่ขัดแย้งกับกติกาที่ผู้ใหญ่กำหนด
เรื่องที่ 2
อาจารย์คนหนึ่งสั่งให้นักศึกษาทุกคนยืนชิดติดผนังห้อง แล้วส่งกระดาษให้คนละแผ่น ก่อนตั้งโจทย์แบบฝึกหัดง่าย ๆ
"ให้ทุกคนพับเครื่องบินกระดาษ และปาจากที่ยืนอยู่ไปให้ถึงผนังฝั่งตรงข้าม"
ผนังนั้นห่างจากผนังอีกฝั่งหนึ่งที่นักศึกษายืนอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร
ทุกคนพยายามพับกระดาษเป็นรูปเครื่องบินต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบตามที่คิดว่า จะทำให้พุ่งได้ไกลที่สุด
ทุกคนปาเครื่องบินกระดาษของเขาอย่างแรงที่สุดแต่ไม่มีลำไหนพุ่งถึงผนังฝั่งตรงข้ามเลย
อาจารย์คนนั้นก็เดินเข้ามาแล้วบอกว่า ให้ทุกคนดูฝีมือการพับกระดาษระดับแชมป์เปี้ยนโลก
เขาใช้เวลาพับเครื่องบินไม่ถึง ๕ วินาที
"เครื่องบิน" ของเขาไม่มีปีก
"เครื่องบิน" ของเขาเป็นรูปทรงกลม
ครับ เขาขยำกระดาษให้เป็นก้อนกลม ขยำให้แน่นที่สุดแล้วปาไปที่ผนังฝั่งตรงข้ามสุดแรง
"เครื่องบินกระดาษ" ของเขาไปถึง "เป้าหมาย" แม้จะไม่มีปีก
เหตุผลง่าย ๆ สำหรับเรื่องนี้ก็คือ นักศึกษาทุกคนติด "กรอบ" เดิม ๆ ว่า
เครื่องบินกระดาษต้องมีหน้าตาแบบเครื่องบินกระดาษ ทุกลำต้องมีปีก
ทุกคนคิดถึง "กรอบ" ของรูปแบบมากกว่า "เป้าหมาย"
แต่เพราะอาจารย์คนนี้เริ่มต้นคิดที่ "เป้าหมาย" แล้วค่อยคิดรูปแบบการพับเครื่องบินกระดาษ
เขาไม่ติดกรอบรูปลักษณ์แบบเดิม ๆ
เพราะคำถามง่าย ๆ ว่า "ทำไมต้องเหมือนกับที่เป็นมา"
เครื่องบินกระดาษของเขา จึงไม่เหมือนเครื่องบินของใคร
แต่ถึง "เป้าหมาย" ที่ต้องการ
ที่มา หนังสือ แพ้ได้ แต่ไม่ยอม และ หนังสือ มองโลกง่ายง่าย สบายดี ของหนุ่มเมืองจันท์
และ http://www.unigang.com/Article/12151