ครูเลิศชาย ปานมุข

บทความ บทกวี และบันทึกความทรงจำดีดี => บทความในความคิด => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ มกราคม 11, 2017, 07:33:59 PM

หัวข้อ: ว่าด้วย ครูอาชีพ กับ อาชีพครู สิ่งที่เป็นไปในแวดวงการศึกษา
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ มกราคม 11, 2017, 07:33:59 PM
ว่าด้วย ครูอาชีพ กับ อาชีพครู สิ่งที่เป็นไปในแวดวงการศึกษา และบทกวีเพื่อครู

**************************

ใกล้ถึงวันครู เลยเขียนบทความเกี่ยวกับครูสักนิด กับคำว่า ครูอาชีพ กับ อาชีพครู หลายคนคงเคยได้ยินสำนวนนี้กันมาบ้างพอสมควร ไว้ใช้เปรียบเปรยผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 2 ประเภท คือ

คำว่า ?ครูอาชีพ? หมายถึง ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก เอาใจใส่และดูแลศิษย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู

และคำว่า ?อาชีพครู? หมายถึง ครูที่ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมา เป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เป็นครูด้วยใจรัก หรือสมัครใจ ครูประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาชีพครู แค่ทำหน้าที่สอนไปวันๆเต็มที่บ้างไม่เต็มที่บ้าง โดยไม่สนใจว่าศิษย์จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ตาม ขอให้มีเงินเดือนก็พอ

ซึ่งมันก็มีความแปลกแต่จริงไม่ใช่น้อย ที่ในปัจจุบัน คนที่มุ่งมั่นเพื่อจะเป็นครู และเลือกเรียนในระดับปริญญาตรี ประเภทครู 4 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง ตั้งใจที่จบแล้วได้ประกอบวิชาชีพครู จึงเรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับความเป็นครู บ่มเพาะอุดมการณ์และจิตวิญญาณของความเป็นครูหลายปี กลับไม่ได้เป็น เพราะหลายคนสอบไม่ได้ แต่อีกส่วนหนึ่ง ที่ไม่ได้เรียนวิชาชีพครู แต่กลับได้เป็น อาจด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง ทั้งเงื่อนไขในการรับสมัครสอบที่เปิดกว้างตามภารกิจ และปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย เมื่อไม่ได้ตั้งใจมาเป็นตั้งแต่เริ่มต้น จึงไม่อาจเข้าใจ เข้าถึงความรับผิดชอบ และเข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นครูได้ดีเท่าที่ควร

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม บางคน ที่ไม่เคยเรียนเพื่อมาเป็นครูเลย แต่ชะตาชีวิตผกผันให้ได้มาประกอบวิชาชีพครู เมื่อเขาได้เป็นครูแล้ว ก็มุ่งมั่นและตั้งใจ พยายามพัฒนาตนเอง ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เข้ารับการอบรมด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู เรียนต่อในคุณวุฒิเกี่ยวกับครูที่สูงขึ้น อบรมในสายการสอน เพื่อยกระดับความคิดและจิตวิญญาณ สู่การเป็นครูอย่างสมบูรณ์ จุดหมายก็เพื่อนำไปพัฒนาศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ พัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นด้วยการศึกษา และเป็นคนดีของสังคม

ในสังคมของเราก็เหมือนเหรียญ มีสองด้าน คนที่เรียนวิชาชีพครูมา ซึ่งเมื่อได้เป็นครูแล้ว ก็ยังเป็นได้ทั้งครูอาชีพ และ อาชีพครู ฉันใดก็ฉันนั้น

ท้ายที่สุด มันขึ้นอยู่กับว่า บุคคลที่ได้ก้าวเข้ามามีโอกาสเป็นครูนั้น จะสามารถยกระดับความคิดของตนเอง ให้เข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นครูได้หรือไม่ มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนา และจัดการศึกษามากน้อยเพียงใด เพราะการร่ำเรียนวิชาเพื่อประกอบสัมมาอาชีพ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น การเข้าถึงซึ่งอุดมการณ์ในวิชาชีพสำคัญยิ่งกว่า อย่าให้โอกาสที่ได้มาเป็นครู ที่มีมากกว่าคนอื่นๆหลายหมื่นหลายแสนคน เป็นเพียงสิ่งไร้ค่าครับ

เลิศชาย ปานมุข
11 มกราคม 2560