ครูเลิศชาย ปานมุข

ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา => บทความการศึกษา => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ ธันวาคม 08, 2016, 07:43:37 AM

หัวข้อ: การศึกษาเวียดนาม: ทำไมนักเรียนจึงมีผลการประเมินสูง
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ ธันวาคม 08, 2016, 07:43:37 AM
โรงเรียนเวียดนาม มีอำนาจอิสระในการตัดสินใจน้อย เพราะมีการบริหารแบบอำนาจมาจากส่วนกลางเต็มรูปแบบ ภาระหน้าที่ของครู คือ สอน ดูแลควบคุมนักเรียน และระบบโรงเรียนเวียดนามมีการเน้นความสำคัญของผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเข้มงวดกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 ทุกประเทศ

เวียดนามเพิ่งเข้าร่วมการประเมินผล PISA 2012 เป็นครั้งแรก แต่ผลปรากฏว่าเวียดนามได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของระบบโรงเรียน (PISA นิยามระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ คือ มีผลการประเมินเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD) ใน PISA 2012 มีประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ต่ำ (มี GDP ต่ำกว่า 10,000 USD, PPPs ข้อมูลของปี ค.ศ.2010) เข้าร่วมโครงการเพียงไม่กี่ประเทศ และแม้ว่าแนวโน้มโดยทั่วไปพบว่า ผลการเรียนรู้มีความสัมพันธ์กับค่า GDP และค่าใช้จ่ายทางการศึกษา แต่สำหรับเวียดนามไม่เป็นไปตามแนวโน้มนั้น (จุดดาวในรูป 1) เพราะปรากฏว่านักเรียนเวียดนามมีผลการประเมินคณิตศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำที่อยู่ในโครงการอีก 7 ประเทศ หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า กลุ่ม Dev7 (ได้แก่ แอลเบเนีย โคลอมเบีย อินโดนีเซีย จอร์แดน เปรู ตูนิเซีย และไทย) ถึง 128 คะแนน

ซึ่งเป็นช่องว่างของคะแนนประมาณนี้ ตามเกณฑ์ของ OECD เทียบว่าเท่ากับการศึกษาเล่าเรียนที่ต่างกันเกือบสามปี และไม่เพียงแต่คะแนนสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเท่านั้น เวียดนามยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และสูงกว่าอีกหลายประเทศที่มีทั้งค่า GDP และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมสูงกว่าอีกด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เรียกกันว่า Vietnam effect (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)

อะไรทำให้ระบบโรงเรียนของเวียดนามประสบความสำเร็จ

การวิจัยของธนาคารโลกซึ่งใช้ฐานข้อมูลของ PISA 2012 เพื่อหาคำตอบว่าอะไรทำให้นักเรียนเวียดนามเรียนรู้ได้ดีกว่านักเรียนจากประเทศที่มั่งคั่งกว่า พบว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการลงทุนทางการศึกษา คือส่วนหนึ่งของคำอธิบายในความสำเร็จของระบบการศึกษาเวียดนาม (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)

ความแตกต่างทางวัฒนธรรม คือ ปัจจัยที่กำหนดลักษณะของโรงเรียนและนักเรียนของเวียดนาม ซึ่งมีวัฒนธรรมสามส่วนประกอบกันที่สามารถอธิบายถึงความสำเร็จทางการศึกษาเวียดนาม ได้แก่ ความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูก (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)

ครูเวียดนาม ทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมทางระเบียบวินัยของความเป็นครูที่เคร่งครัด ครูทำงานหนัก รับผิดชอบงานสอนเป็นสำคัญ และมีระบบการนิเทศใกล้ชิดจากครูใหญ่และองค์กรอื่น ผลรวมของความขยันของนักเรียนและครูจึงลงตัว รายงานจาก the Young Lives research project บอกว่า ครูมีความสามารถ ทำงานอย่างมืออาชีพ และมีวินัยสูงมาก และไม่ปรากฏเรื่องครูขาดสอนเลย (Bodewig C., 2013)

โรงเรียนเวียดนาม มีอำนาจอิสระในการตัดสินใจน้อย เพราะมีการบริหารแบบอำนาจมาจากส่วนกลางเต็มรูปแบบ ภาระหน้าที่ของครู คือ สอน ดูแลควบคุมนักเรียน และระบบโรงเรียนเวียดนามมีการเน้นความสำคัญของผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเข้มงวดกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 ทุกประเทศ

นักเรียนเวียดนาม วัฒนธรรมความขยันเป็นพื้นฐานของคนเวียดนาม ซึ่งส่งผลมาถึงการศึกษาของเวียดนามที่เป็นกรอบให้นักเรียนขยันเรียน ทุ่มเทกับการเรียนอย่างจริงจัง และเห็นว่าความสำเร็จทางการศึกษาของแต่ละคนคือสิ่งสำคัญมากในชีวิต นักเรียนเรียนหนังสือหนักมากภายใต้วัฒนธรรมที่มีความขยัน เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม Dev7 อื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย นักเรียนเวียดนามมีวินัยสูงกว่า (ค่าดัชนีระเบียบวินัยเวียดนาม 0.36 ไทย 0.07) นักเรียนมาโรงเรียนสาย ขาดเรียน หรือหนีเรียนบางชั่วโมงของเวียดนามมีน้อยกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 มาก (เวียดนามมีนักเรียนเคยหนีเรียน 9% เทียบกับนักเรียนไทย 18% ที่เคยหนีเรียน) ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนเวียดนาม คือ แม้นักเรียนส่วนน้อยเท่านั้นที่ระเบียบวินัยไม่ดี

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบวินัยกับคะแนนกลับมีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับที่อื่น ๆ กล่าวคือ นักเรียนที่ระเบียบวินัยต่ำกลับมีคะแนนสูง (OECD, 2013b) ซึ่งชี้นัยว่าแม้นักเรียนเวียดนามจะมีปัญหาทางระเบียบวินัยอยู่บ้าง แต่ความเอาใจใส่ทางการเรียนก็ยังมีสูงเหมือนนักเรียนทั่วไป ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมเวียดนามที่ให้คุณค่าแก่การศึกษามีสูงนั่นเอง นักเรียนใช้เวลาเรียนปกติในโรงเรียนไม่ต่างจากนักเรียนที่อื่น ๆ แต่ใช้เวลาเรียนพิเศษนอกเวลามากกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนที่อื่น ๆ ประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์

ในด้านความรู้สึกต่อวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนเวียดนามไม่มีความวิตกกังวลหรือไม่กลัวจะทำคณิตศาสตร์ไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูและนักการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจ ไม่เครียดและไม่กลัววิชาคณิตศาสตร์ และมีความมั่นใจสูงว่าจะใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตได้อย่างไร เพราะความเครียด ความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์ส่งผลเชิงลบกับคะแนนคณิตศาสตร์ (OECD, 2013a) เมื่อเทียบกับนักเรียนไทย พบว่า นักเรียนไทยกลัววิชาคณิตศาสตร์มากกว่า มีความวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถเรียนได้ดีสูงกว่า (OECD, 2103a) นอกจากนี้ในหลักสูตรของเวียดนามยังให้สัดส่วนเวลาเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูง ในเวลาเรียนปกตินักเรียนเวียดนามมีเวลาเรียนต่อสัปดาห์ 31 ชั่วโมง ในขณะที่นักเรียนไทยมี 36 ชั่วโมง แต่นักเรียนเวียดนามเรียนคณิตศาสตร์ 227 นาที นักเรียนไทยเรียนคณิตศาสตร์ 206 นาที เมื่อรวมสามวิชาหลัก ปรากฏว่านักเรียนเวียดนามเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาแม่ และวิทยาศาสตร์รวมกัน 658 นาที แต่นักเรียนไทยเรียนเพียง 607 นาทีเท่านั้น

พ่อแม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความแตกต่าง แม้ว่าพ่อแม่ของนักเรียนเวียดนามจะมีการศึกษาไม่สูงมากนัก แต่พ่อแม่กลับมีความคาดหวังสูงในด้านการศึกษาของลูกหลาน และมีส่วนร่วมในชีวิตทางการศึกษาของลูกหลาน คือทั้งมีความคาดหวังสูง ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครู และมีส่วนช่วยงานของโรงเรียน เช่น ช่วยในการระดมทุนเพื่อให้โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้โรงเรียน (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)

การลงทุนทางการศึกษา ภายใต้วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา ทำให้เวียดนามแม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า GDP ที่ต่ำกว่าทุกประเทศในกลุ่ม แต่เวียดนามมีการลงทุนทางการศึกษาในอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่า GDP แม้ว่าเม็ดเงินจะไม่สูงมาก (ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมของเวียดนามมี 6,969 USD, PPPs ประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 13,964 USD, PPPs ของไทย) แต่ถ้าดูในสัดส่วนก็จะสูงกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 ทั้ง ๆ ที่เมื่อเทียบกับค่า GDP ที่ต่ำกว่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่ามาก แม้กระนั้นการศึกษาเวียดนามก็ประสบความสำเร็จสูงกว่า เวียดนามมีโรงเรียนในชนบทหรือเมืองเล็กไม่มากนักน้อยกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 แต่ก็เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตาม Fundamental School Quality Level (World Bank, 2016) ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรการเรียน เวียดนามมีคอมพิวเตอร์ไม่มากเมื่อเทียบกับไทย แต่คอมพิวเตอร์ก็เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกือบครบ

ปัจจัยที่ให้คำอธิบายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ยังมีแง่มุมอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มคำอธิบายส่วนที่เหลือของผลการประเมินที่แตกต่างของนักเรียนเวียดนาม ประการแรก คือ ข้อสังเกตที่เวียดนามมีนักเรียนจำนวนมากที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนที่ยากจน หรือนักเรียนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ สถิติอัตราการเรียนต่อของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีเพียง 60% เท่านั้น (ไทย 98%) และส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ได้เปรียบกว่าทางวิชาการและทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนนักเรียนยากจนมีอัตราการเรียนต่อที่ต่ำ เพราะมีเพียง 20% เท่านั้นที่เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (M.I., 2013) จึงชี้ว่านักเรียนที่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบซึ่งผลการวิจัยชี้ว่า ตัวแปรนี้ส่งผลกระทบทางบวกต่อผลการเรียนรู้ และเนื่องจากนักเรียนอายุ 15 ปี ของเวียดนามศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 10 มีถึง 88% (OECD, 2013b) จึงเป็นที่แน่นอนว่ากลุ่มตัวอย่าง PISA ของเวียดนามถือว่าคัดเลือกมาแล้วโดยอัตโนมัติจากระบบฯ กล่าวคือคัดเลือกมาจากกลุ่มที่มีพื้นฐานที่ได้เปรียบกว่าอยู่แล้วโดยตัวเอง

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตในทางการศึกษาที่อาจจะอธิบายความแตกต่างนี้ (PISA ไม่ได้รวมเรื่องนี้ในการสำรวจ) การสำรวจของ Global Education Network Transparency ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Transparency International ในเยอรมนีชี้ว่าในการศึกษาของเวียดนามมีการทุจริต ซึ่งจากการสำรวจได้ข้อมูลว่า ชาวเวียดนามถึง 49% เห็นว่าในภาคการศึกษาของเวียดนามมีการทุจริตมากถึงมากที่สุด

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือ สิ่งที่เขานับว่าเป็นเรื่องทุจริตทางการศึกษา ได้แก่ การที่โรงเรียนดังรับเงินจากนักเรียนเพื่อให้ที่เรียนในโรงเรียน การที่ครูสอนพิเศษเก็บเงินจากนักเรียน ซึ่งทำให้ครูมีรายได้สูงมากจากส่วนนี้ และการที่พ่อแม่จ่ายเงินเป็นค่าเรียนกวดวิชาสำหรับลูกหลาน เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา (M.I. , 2013)

โปรดอย่าลืมว่า ทั้งสามประเด็นของสิ่งที่สากลถือว่าเป็นการทุจริตนี้ มีอยู่และเป็นอยู่อย่างปกติในระบบการศึกษาของไทย จึงอาจมีบางวันที่จะมีรายงานการทุจริตแบบนี้สำหรับประเทศไทยบ้าง ประเทศไทยซึ่งกำลังเอาจริงกับการปราบทุจริต จะก้าวมาดูแลส่วนนี้ด้วยหรือไม่

การชี้นัยสำหรับโรงเรียนไทย

ข้อมูลจากเวียดนามก็สามารถให้บทเรียนสำหรับโรงเรียนไทยได้บางอย่าง เพราะสาธารณชนมักจะพยายามเปรียบเทียบไทยกับเวียดนามเสมอมา ข้อมูลข้างต้นสามารถให้คำตอบได้บ้าง ที่ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามประสบความสำเร็จได้ดีกว่า และความสำเร็จนั้นส่วนใหญ่มาจากวัฒนธรรมความขยันและการทำงานหนัก ความมีวินัย และการให้คุณค่าแก่การศึกษา ทั้งครู นักเรียน และประชาชนของเวียดนาม เวียดนามทำการศึกษาให้สอดรับกับนโยบายชาติ ประเทศเวียดนามกำหนด education and training, together with science and technology ไว้เป็น Top National Policy ชัดเจน นโยบายจึงมีจุดเริ่มต้นในโรงเรียน โดยการให้คุณค่าแก่วิชาหลักในหลักสูตรทั้งให้น้ำหนักและให้เวลาเรียนกับวิชาหลักมากขึ้น

พ่อแม่ของนักเรียนเวียดนามก็มีวัฒนธรรมแบบเดียวกับวัฒนธรรมแบบขงจื๊อ เช่น จีน และเกาหลี ที่รับรู้ว่าพ่อแม่มีหน้าที่ให้การศึกษาลูก จึงไม่คิดว่าการให้การศึกษาเป็นเรื่องความรับผิดชอบของรัฐบาล หรือของโรงเรียน แม้จะไม่ร่ำรวยมากแต่พ่อแม่ก็ทุ่มเทใหักับการศึกษาลูก ทั้งด้านทรัพยากร การดูแลเอาใจใส่การเรียน และช่วยหาทุนให้โรงเรียนตามกำลังความสามารถ ระบบโรงเรียนไทย จะสร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นมาได้หรือไม่ หรือว่าจะให้รอแต่การศึกษาฟรีที่พ่อแม่ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ

เวียดนามกำหนดเป้าหมายที่จะทำประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานภูมิภาคและมาตรฐานสากล (World Bank, 2016) จึงเริ่มต้นโดยการทำโรงเรียนให้เข้าสู่มาตรฐาน แม้โรงเรียนในชนบทก็ได้รับการดูแลให้ถึงมาตรฐาน ไทยเราเองก็ควรกลับมาดูแลมาตรฐานโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชนบทที่ยากจนบ้าง มิฉะนั้นก็จะล้าหลังเวียดนามต่อไป และท้ายสุด คือ การทุจริตในวงการศึกษาที่กล่าวข้างต้น ถ้าไม่สามารถกำจัดได้ การกำจัดทุจริตเรื่องใหญ่อื่น ๆ จะไปได้หรือ

จุดยุติ

ระบบโรงเรียนไทยไม่สามารถแข่งขันกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ประเทศที่เคยล้าหลังไทยก็กลับแซงไปข้างหน้า แล้วประเทศไทยจะแข่งขันได้อย่างไร แม้ในอาเซียนด้วยกัน ถ้าไทยยังไม่รีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการยกระดับนั้นมีข้อมูลที่ชี้บอกถึงจุดอ่อนของระบบของชาติ และจุดแข็งของระบบอื่น ๆ ที่พอจะใช้ประโยชน์ได้ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ข้อมูลและสาระดี ๆ เหล่านั้นไม่เคยถูกใช้ เพราะระบบไทยมักตัดสินอยู่บนฐานความคิดเห็นและความพอใจมากกว่าบนฐานของข้อมูล

ขอบคุณข่าวจาก : www.pisathailand.ipst.ac.th/issue-2016-11