ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้ => เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ ธันวาคม 05, 2016, 10:23:03 PM
-
สงครามครั้งนี้ เป็นสงครามเพื่อปราบปรามการก่อกบฏเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราชเวียงจันทน์ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2369-2371 ตรงกับช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นับแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อาณาจักรลาวหรือล้านช้างได้แตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเวียงจันทน์และฝ่ายหลวงพระบาง ครั้นต่อมายังได้แยกออกมาเป็นฝ่ายจำปาศักดิ์อีกฝ่ายหนึ่ง จนกระทั่งมาในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินทรงโปรดให้แต่งทัพไปตีจำปาศักดิ์ และเวียงจันทน์ได้สำเร็จ อีกทั้งหลวงพระบางก็มาอ่อนน้อมขอเป็นประเทศราชของสยาม โดยในเวลานั้น ทั้งหลวงพระบางและเวียงจันทน์ก็ได้ส่งองค์ประกันเข้ามายังราชสำนักสยามด้วย ซึ่งเจ้าอนุวงศ์ก็ทรงเป็นหนึ่งในองค์ประกันที่เวียงจันทน์ส่งมา
ต่อมาในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าประเทศราชที่ปกครองนครเวียงจันทน์ ได้ถึงแก่พิราลัย จึงทรงโปรดฯให้เจ้าอนุวงศ์ไปปกครองนครเวียงจันทน์สืบต่อ ซึ่งในยามนั้น เจ้าอนุวงศ์ก็ได้สร้างความดีความชอบในการสงครามกับพม่าเป็นหลายครั้ง จนได้รับความไว้วางใจและความสนิทสนมกับราชสำนักสยามเป็นอันมาก โดยเฉพาะกับสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือรัชกาลที่สองตั้งแต่ครั้งที่ยังมิได้ทรงขึ้นครองราชย์ จนกระทั่งเมื่อพระองค์ทรงครองราชย์แล้ว เจ้าอนุวงศ์ก็ยังเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอยู่เช่นเดิม
ช่วงปลายรัชกาลที่สอง ได้เกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้งตั้งตนเป็นผู้มีบุญเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ เจ้าอนุวงศ์ได้ให้เจ้าราชบุตรยกทัพไปปราบได้สำเร็จ ครั้งนั้นจึงทรงโปรดปูนบำเหน็จให้เจ้าราชบุตรขึ้นปกครองนครจำปาศักดิ์ ทำให้อำนาจของเจ้าอนุวงศ์ได้แผ่เข้าครอบคลุมลาวใต้
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จสวรรคต ยามนั้นหลังเจ้าอนุวงศ์ได้มาถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ได้ทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขอแบ่งชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนลงมาสยามครั้งสงครามสมัยกรุงธนบุรีกลับคืน ทว่าพระองค์ทรงมีดำริว่าไม่เหมาะ จึงไม่พระราชทานให้ เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศ เมื่อกลับไปยังเมืองแล้วจึงคิดแผนกบฏแยกตัวเพื่อเป็นอิสรภาพจากสยาม
เจ้าอนุวงศ์ทรงพิจารณาเห็นว่า สยามเกรงศึกสองด้าน คือ พม่าและญวน เจ้าอนุวงศ์จึงหันไปฝักใฝ่ญวน ด้วยเห็นว่าหากตั้งตนเป็นอิสระแล้ว สยามคงไม่กล้ายกทัพมาปราบปรามแน่
พ.ศ. 2369 มีข่าวลือว่าอังกฤษจะนำเรือรบมายึดกรุงเทพมหานคร เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพมายึดหัวเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม โดยทัพที่จัดมามีสามทัพ ได้แก่ ทัพเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ของเจ้าราชบุตร ยกเข้ามาทางอุบลราชธานี ทัพของพระอุปราช ยกเข้ามาทางร้อยเอ็ด และทัพหลวงของเจ้าอนุวงศ์ยกมาทางนครราชสีมา ไพร่พลรวมทั้งสิ้นราวสี่หมื่นเศษ
เจ้าอนุวงศ์ออกอุบายว่า อังกฤษกำลังเตรียมนำทัพเรือมายึดกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดฯให้เจ้าอนุวงศ์เกณฑ์กองทัพเวียงจันทน์มาช่วยทำศึก เจ้าเมืองตามรายทาง เช่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สุรินทร์ ขุขันธ์ หลงเชื่อและให้การสนับสนุน ยอมให้เดินทัพผ่านโดยสะดวกและมอบเสบียงอาหารให้ ส่วนเมืองใดที่ระแวงสงสัยไม่เชื่อฟัง ก็ถูกกองทัพลาวยกเข้าตี จนกระทั่งทัพเวียงจันทน์มาถึงนครราชสีมา ขณะนั้นพระยานครราชสีมาและพระยาปลัดไม่อยู่ เจ้าอนุวงศ์จึงเข้ายึดนครราชสีมาและส่งกองทัพไปกวาดต้อนผู้คนถึงสระบุรี
ทางกรุง เมื่อทราบข่าว ก็ได้แต่งทัพออกไปช่วย โดยให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกกองทัพไปยังสระบุรี ครั้นทัพหน้าเวียงจันทน์ทราบข่าวก็ถอยกลับไปยังนครราชสีมา
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมืองและยึดทรัพย์สินจากนครราชสีมา คุณหญิงโม ภริยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนไปด้วย ก็ออกอุบายขอให้ไปช้าๆ เพื่อรอบรรดาชาวเมืองไปให้ทันกัน ครั้นถึงทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมก็เลี้ยงสุราแก่ทหารลาว เมื่อเห็นได้โอกาส ชาวเมืองทั้งหลายต่างก็ใช้อาวุธฆ่าฟันทหารลาวที่คุมเชลยตายเป็นจำนวนมาก เหลือรอดไปเพียงเล็กน้อย ส่วนชาวเมืองทั้งหลายก็ตั้งค่ายที่ทุ่งสัมฤทธิ์ โดยมีชาวเมืองที่หลบหนีมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก
เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทรงทราบ ก็ส่งกองทัพมาตีค่ายทุ่งสัมฤทธิ์ ทว่าก็ถูกตีพ่ายกลับไป ครั้นเมื่อทรงทราบข่าวทัพกรุงรัตนโกสินทร์ยกมาช่วยนครราชสีมา เจ้าอนุวงศ์ก็นำทัพกลับยังเวียงจันทน์ โดยจัดทัพส่วนหนึ่งตั้งสกัดตามด่านเพื่อเตรียมการต่อสู้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้พระยาราชสุภาวดี (ภายหลังได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) คุมทัพที่สองไปปราบกบฏทางอุบลราชธานีและร้อยเอ็ด แล้วไปบรรจบกับทัพแรกที่เวียงจันทน์ และทรงให้เจ้าพระยาอภัยภูธรคุมทัพที่สามไปปราบเมืองหล่มและหัวเมืองขึ้น แล้วไปบรรจบกันที่เวียงจันทน์
กองทัพของพระยาราชสุภาวดีตีพวกกบฏตั้งแต่พิมาย ยโสธร ไปจนถึงจำปาศักดิ์ จับได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิ์และบุตรหลานของเจ้าอนุวงศ์ เสร็จแล้วก็ผ่านนครพนมไปสมทบกันที่เวียงจันทน์
อีกด้านหนึ่ง ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ตีด่านหนองบัวลำภู ค่ายทุ่งส้มป่อย ใกล้กับช่องเขาข้ามไปยังเวียงจันทน์ ทหารลาวส่งกองทัพมาล้อม สู้รบกันอย่างดุเดือดเป็นเวลา 7 วัน กองทัพลาวก็ถูกตีพ่ายกลับไป ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่เห็นว่ากองทัพลาวที่ด่านหนองบัวลำภูแพ้แล้วก็ไม่คิดต่อสู้อีก รีบพาครอบครัวอพยพไปญวน จากนั้นทัพสยามก็ยกเข้าถึงเวียงจันทน์อย่างง่ายดาย
ครั้นยึดเมืองได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้รื้อนครเวียงจันทน์ให้หมดสิ้น ทว่ายังมิทันกระทำการสำเร็จ กรมพระราชวังบวรฯก็นำทัพกลับมายังกรุงเทพมหานครเสียก่อน
ต่อมา สมเด็จพระนั่งเกล้าจึงทรงให้ เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพกลับไปนครเวียงจันทน์อีกครั้ง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2371 ทว่าทัพสยามยังไม่ทันไปถึงเวียงจันทน์ก็ทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์ได้นำผู้คนกลับมาแล้วโดยมีข้าหลวงญวนมาด้วย เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงนำกำลังส่วนหนึ่งยกล่วงหน้าไปเพื่อดูเชิง ในยามนั้น ข้าหลวงญวนได้ส่งหนังสือมาเจรจากับเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า ?พระเจ้ากรุงเวียดนามให้พาเจ้าอนุวงศ์มาอ่อนน้อมสารภาพผิด? และว่า ?อนุทำผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ? โดยจะให้นำตัวเจ้าอนุวงศ์พาตัวไปลุแก่โทษที่กรุงเทพมหานคร
เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้พระยาพิไชยสงครามนำไพร่พลห้าร้อยข้ามฟากไปรับการเจรจากับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเมื่อเห็นว่าฝ่ายเจ้าอนุวงศ์มาเจรจาด้วยดีทั้งมีข้าหลวงญวนมาให้การรับรอง พระยาพิไชยสงครามจึงตายใจ ปล่อยให้ไพร่พลพักผ่อนเต็มที่ ทว่าพอตกกลางคืน เจ้าอนุวงศ์ได้นำทหารเข้าจู่โจมทหารสยามและสังหารจนเกือบหมดรวมทั้งพระยาพิไชยสงครามด้วย จากนั้นจึงให้เจ้าราชวงศ์คุมทัพข้ามมาตีทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี กองทัพทั้งสองปะทะกันที่บ้านบกหวาน กองทัพลาวเป็นฝ่ายแพ้ และถูกตามตีไปจนถึงเวียงจันทน์
หลังพ่ายศึก เจ้าอนุวงศ์นำครอบครัวหนีไปยังเมืองพวนเพื่อหวังพึ่งเจ้าน้อยเมืองพวนซึ่งเป็นราชบุตรเขยของพระองค์ ทว่าเจ้าเมืองพวนได้จับเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวส่งให้กับทัพสยาม เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้รื้อทำลายสถานที่สำคัญในเวียงจันทน์จนหมด และกวาดต้อนผู้คนมายังหัวเมืองชั้นใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกขุนนางที่จงรักภักดีไปปกครองหัวเมืองที่ขึ้นกับเวียงจันทน์ โดยให้มาขึ้นกับหลวงพระบางแทน ตั้งแต่นั้น ลาวก็ขึ้นกับสยามเรื่อยมา จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวที่ถูกจับเป็นเชลยนั้น ได้ถูกนำมากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ทำกรงขังเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวเป็นการประจาน โดยมีประชาชนไปดูและสาปแช่งทุกวัน เจ้าอนุวงศ์ถูกขังได้ 7-8 วันก็อาเจียนเป็นเลือดป่วยตาย ส่วนการลงทัณฑ์ครอบครัวของเจ้าอนุวงศ์นั้นก็เงียบหายไป ไม่ปรากฏอีก
ที่มา : http://www.komkid.com/