ครูเลิศชาย ปานมุข

เกร็ดความรู้ => ประวัติ ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน => ข้อความที่เริ่มโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ ตุลาคม 16, 2016, 01:53:06 AM

หัวข้อ: "พญาศรีสุทโธนาคราช" พญานาคผู้ถวายดวงแก้วเป็นพุทธบูชา ตำนานบั้งไฟพญานาค
เริ่มหัวข้อโดย: เลิศชาย ปานมุข ที่ ตุลาคม 16, 2016, 01:53:06 AM
(http://www.lertchaimaster.com/imageforum/1474944897.jpg)

พญานาคถวายดวงแก้วบูชาพระพุทธเจ้า

           ในพุทธประวัตินั้นได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาจุติ (ตาย) จากโลกมนุษย์ ก็เสด็จสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลุถึงเดือนแปด จนตลอดวาระแห่งพรรษาทั้งไตรมาส พระพุทธเจ้าทรงเสด็จโปรดพระพุทธมารดา และเหล่าเทพยดา ณ ดาวดึงส์แห่งนั้น

           แม้องค์ท้าวสักกะเทวราช ก็ปวารณา ถวายช้างทรงเอราวัณเป็นพุทธบูชา จวบสิ้นไตรมาส จึงเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ ถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ วันเสาร์ พญาศรีสุทโธนาคราช และบริวารแสนโกฐิ

           พร้อมใจต้อนรับพระพุทธองค์เสด็จจากดาวดึงส์ พญาศรีสุทโธนาคราชได้ตั้งสัจจะ ขอถวายอัญมณี ดวงไฟแห่งนาคราช สมบัติล้ำค่าแห่งเมืองบาดาล เป็นพุทธบูชา

           เมื่อถึงเพลาแห่งรัตติกาล พญานาคถวายอัญมณี พวยพุ่งขึ้นเหนือน่านน้ำโขง ประกายแดงอมชมพู อย่างสวยงาม

           ความเชื่อในทางพระพุทธศาสนานั้นจะเห็นได้ว่า ในระยะ ๓ เดือนซึ่งเป็นช่วงเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นเสด็จลงมาในวันออกพรรษา ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่ในตำนานกล่าวไว้เป็นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันออกพรรษาซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่คาบเกี่ยวกัน เพราะหลังเที่ยงคืนของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็เป็นวันแรม ๑ ค่ำแล้ว หรือที่ชาวโลกเรียกวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ นั้นว่า เทโวโรหนะ

           ในคืน ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ พระอินทร์ทรงนิมิตบันได ๓ อย่างถวาย คือ บันไดทอง บันไดแก้วมณี บันไดเงิน หัวบันไดพาดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสะนคร เวลาเสด็จลงทรงใช้บันไดแก้วมณี เหล่าเทวดาลงทางบันไดทอง เหล่ามหาพรหมลงทางบันไดเงิน เรียกการเสด็จครั้งนั้นว่า เทโวโรหนะ

           เทโวโรหนะ ทำให้เกิดประเพณีทำบุญตักบาตรที่เรียกวา ตักบาตรเทโว เป็นการใส่บาตรพระพุทธเจ้าซึ่งมีอานิสงส์มาก

           จึงจะเห็นได้ว่า บั้งไฟพญานาคจะปรากฏอยู่ในวันคืนวันออกพรรษา ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ซึ่งลูกไฟจะขึ้นจากน้ำตั้งแต่หัวค่ำ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงดึก หรืออาจจะเลยช่วงเวลาเที่ยงคืนออกไป ซึ่งเป็นวันแรม ๑ ค่ำ

          การเกิดบั้งไฟพญานาคตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนานั้น เชื่อว่า พญานาคทั้งหลายถวายมณี คือดวงแก้วของพญานาค เป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธองค์ในคืนออกพรรษา บ้างก็จะเรียกว่า พญานาคพ่นไฟ บูชาไฟ เป็นพุทธบูชา โดยดวงแก้ว หรือดวงไฟที่ว่านั้น พวยพุ่งออกจากปากของพญานาค ขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเป็นพุทธบูชาและรับเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยความปีติยิ่ง

          ซึ่งไม่ใช่เฉพาะลำน้ำโขงเท่านั้น หากแต่คืนดังกล่าว ในแม่น้ำ คุ้งน้ำ หรือตามป่าเขาที่มีลำธารไหลผ่าน ที่เชื่อกันว่ามีพญานาคอาศัยอยู่ใต้บาดาล ณ บริเวณนั้นก็จะปรากฏดวงไฟประหลาดพวยพุ่งสู่ท้องฟ้า ลักษณะเช่นเดียวกับที่เกิดบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง

          กล่าวกันว่า พญานาคนั้นจะร้อนในปากตลอดเวลาเพราะมีไฟอยู่นั่นเอง ทำให้ไม่สามารถหุบปากได้ ไฟในปากพญานาคจะคายออกมาเป็นแก้วก็ได้ หรือจะทำให้เกิดไฟอันร้อนรุ่มก็ได้ สุดแล้วแต่ปรารถนา ดังนั้นความปรารถนาด้วยปีติอันซาบซึ้งที่มีต่อพระจอมไตร จึงปรากฏเป็นดวงไฟสวยงามทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้านภากาศ สรรเสริญพุทธคุณอย่างยิ่งใหญ่

           บ้างก็เชื่อว่า ลูกไฟที่ปรากฏนั้น อาจจะเป็นการจำแลงกาย หรือดวงจิตของพญานาค ที่ขึ้นไปรับเสด็จพระพุทธเจ้าขณะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะก่อนหน้าวันออกพรรษาไม่กี่วัน ก็มักจะเห็นรอยพญานาคปรากฏบนบก เสมือนแสดงให้เห็นว่า พญานาคบางส่วนอาจจำแลงกายเป็นลักษณะของงู เพื่อมารอรับเสด็จพระพุทธเจ้า

 

ขอขอบคุณที่มา : http://board.palungjit.org/